กงเต๊ก

"กงเต๊ก" เป็นคำสองคำที่ประกอบขึ้นเป็นคำใหม่ คือ "กง" แปลว่าทำแทน กับ "เต๊ก" แปลว่าทำให้ รวมเป็น กงเต๊ก หมายถึงการที่ลูกหลานทำบุญกุศล ทั้งทำแทนตัวผู้ตาย และทำให้ผู้ตายด้วย เพื่อให้ผู้ตายได้กุศลผลบุญมากพอที่จะไปขึ้นสวรรค์ พิธีกงเต๊กมี 3 แบบ ได้แก่ 1.แบบพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งต่างคณะสงฆ์ก็มีรายละเอียดต่างกัน อีกทั้งพระสงฆ์จีนกับพระสงฆ์ญวนก็รูปแบบแตกต่างกัน 2.แบบคนธรรมดาประกอบพิธี ผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว 3.แบบกง เต๊กจีนแคะ นางชีทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัว หากเป็นชีซึ่งเป็นสาวแต่งหน้าทำผมสวยงาม บ้างเรียกนางชีพวกนี้ว่าเจอี๊ ทั้งนี้ การเตรียมงานกงเต๊ก หากไม่มีความรู้ ติดต่อวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ได้ทุกวัด

 


เมื่อญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตลง สิ่งที่ลูกหลานจะต้องเตรียมมี ผ้าคลุมศพ หรือทอลอนีป๋วย ใบเบิกทาง หรืออวงแซจิ้ ภาพของผู้ตายใส่กรอบสำหรับตั้งหน้าโลงศพ ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้าเย็บปิดปากกระเป๋าทุกใบแบบไม่มีปม (เลือกชุดที่ผู้ตายชอบ) รองเท้า ไม้เท้า แว่นตา ฟันปลอม ดอกบัว 3 ดอก ยอดทับทิม เอกสารประจำตัวผู้ตาย เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อออกใบมรณบัตร เงินสด (ค่าใช้จ่ายกรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล) ซองอั้งเปาหรือซองแดง (เป็นเงินตอบแทนให้กับพยาบาลที่ช่วยอาบน้ำและแต่งตัวให้ศพ) เตี๊ยบ (มีเฉพาะของผู้หญิง เป็นเสมือนใบประวัติของผู้ตาย) เย็บกระเป๋าทุกใบ เพราะกระเป๋าถือเป็นแหล่งทรัพย์สมบัติ ความเจริญรุ่งเรืองที่จะทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลาน


ลูกชายของผู้ตาย และรวมหลานชายคนแรกที่เกิดจากลูกชายคนโตซึ่งถือว่าเป็นลูกคนสุดท้ายของผู้ตาย ใส่ชุดผ้าดิบด้านใน และสวมชุดกระสอบ ประกอบด้วย เสื้อ หมวกทรงสูง ลูกชายที่แต่งงานแล้วมีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาวติดที่หมวก ที่ยังไม่แต่งงานติดผ้าสีแดง เชือกคาดเอวมีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ และไม้ไผ่เสียบเอวแทนคบเพลิงส่องทางและป้องกันอันตรายขณะเดินทางไปฝังศพ

ลูกสาวที่แต่งงานแล้วและลูกสะใภ้ ใส่ชุดผ้าดิบและสวมชุดกระสอบ เสื้อ กระโปรง หมวกสามเหลี่ยม มีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีขาวติดที่หมวก เชือกคาดเอวมีถุงผ้าเล็กๆ ห้อยไว้ ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน ใส่ชุดผ้าดิบและสวมชุดกระสอบ เสื้อ หมวกสามเหลี่ยม มีผ้าสี่เหลี่ยมเล็กสีแดงติดที่หมวก เชือกคาดเอวที่มีถุงผ้าห้อย ลูกเขย ใส่ชุดเสื้อผ้าสีขาว ผ้าผืนยาวสีขาวพันรอบเอวและเหน็บชายทั้งสองข้างไว้ข้างเอว หมวกเหมือนลูกชายแต่เป็นสีขาว หลาน สวมเสื้อผ้าสีขาว หมวกผ้าสามเหลี่ยม หลานใน (ลูกของลูกชาย) หมวกเป็นสีขาว หลานนอก (ลูกของลูกสาว) หมวกเป็นสีฟ้า หลานคนใดยังไม่แต่งงานจะมีผ้าสี่เหลี่ยมสีแดงเล็กๆ ติดอยู่ ที่แต่งงานแล้วเป็นผ้าสีขาว


ขนาดพิธีกงเต๊กขึ้นอยู่กับจำนวนพระที่นิมนต์มาสวด ถ้าเป็นกงเต๊กใหญ่นิมนต์พระ 5 รูปขึ้นไป โดยหากนิมนต์พระ 5 หรือ 7 รูป เรียก "จับอ๊วง" หรือ "จับอ๊วงฉ่ำ" หมายถึงการสวดมนต์ขอขมากรรมต่อพระยายมราชทั้ง 10 ซึ่งเป็นนินมานรกายของพระพุทธและพระโพธิสัตว์ 9 รูป เรียก "โชยฮุดฉ่ำ" หมายถึงการสวดมนต์ขอขมาต่อพระพุทธเจ้าพันพระองค์ 11 รูป เรียก "เทียงโค่วฉ่ำ" หมายถึงการสวดมนต์ขอขมาต่อบรรดาพระพุทธและพระโพธิสัตว์ทั่วทุกสารทิศ กรณีนิมนต์พระมาสวดรูปเดียว เรียก "คุยหมั่งโหล่ว" สวดเวลานำศพใส่โลง 3 รูป เรียก "จุยฉ่ำ" หมายถึงการสวดมนต์ขอขมาระลึกถึงพระบารมีของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวร

สำหรับการประกอบพิธีกงเต๊ก

 

 

 ก่อนเริ่มพิธีร้านทำของกงเต๊กจะเอาของมาส่งให้ ลูกหลานตรวจนับรับของให้เรียบร้อย แล้วเอากระดาษทองที่เตรียมไว้ใส่ในบรรดาของกงเต๊กต่างๆ ให้มากที่สุด โดยกระดาษเงินกระดาษทองมี 3 แบบ คือ 1.แบบตั่วกิม หรือค้อซี เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นใหญ่ ลูกหลานเอามาพับเป็นแบบยาวๆ แหลมๆ 2.แบบกิมจั้ว เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแบบแผ่นเล็ก ลูกหลานเอามาม้วนกลมๆ แล้วปิดหัวท้ายให้แหลมๆ 3.แบบกิมเตี๊ยว หรือทองแท่ง

ช่วงเตรียมของกงเต๊กนี้ พระจะเขียนใบส่งของให้เหมือน เป็นการจ่าหน้าซองจดหมาย เพื่อให้รู้ว่าผู้รับของคือใคร ผู้ส่งคือใคร ใบกระดาษบอกชื่อผู้ส่งผู้รับนี้ต้องปิดบนของกงเต๊กทุกชิ้น เช่นเดียวกับที่ลูกหลานต้องเอาเสื้อของผู้ตาย เลือกตัวที่ผู้ตายชอบมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ตายจะจำลายผ้าได้ เนื่องจากเสื้อผ้าจะต้องถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อแปะติดไปกับของทุกชิ้น เพื่อที่ผู้ตายจะได้รู้ว่ากองของกงเต๊กที่เผาไปนี้เป็นของท่าน จากนั้นพระจะประจำที่เพื่อเริ่มพิธีสวดมนต์ ลูกหลานสวมชุดกระสอบชุดใหญ่ นั่งประจำที่หน้าพระพุทธ ลูกชายนั่งหน้าสุด ลูกสะใภ้ลูกสาวนั่งแถวสอง ชั้นเขยและชั้นหลานนั่งแถวหลังตามมา ที่เบื้องหน้าลูกชายมีม้ากงเต๊ก

 


พิธีเริ่มด้วยการเปิดกลอง 3 ตูม ปี่พาทย์มโหรีบรรเลงรับพระสวด เรียก พิธีสวดเปิดมณฑลสถาน อัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมาเป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล ระหว่างพิธีสวด หลังจากพระอ่านเอกสาร เรียกว่าฎีกา (ส่อบุ่ง) ระบุชื่อผู้ตาย ที่อยู่ที่เมืองจีนและเมืองไทย เวลาเกิด เวลาตาย ชื่อลูกหลาน และระบุว่าในขณะนี้กำลังประกอบพิธีใด ที่ไหน เวลาอะไร แล้วนำเอาฎีกานั้นใส่ม้ากงเต๊ก พระจะใช้ธูป 3 ดอก เทียนเล่มหนึ่งเขียนยันต์ที่หัวม้า พร้อมสวดคาถาและพรมน้ำมนต์ด้วยนิ้ว แล้วใช้ใบทับทิมพรมตามอีกที จากนั้นให้ลูกชายคนโตยกม้ากงเต๊กขึ้นจบเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปเผา

เสร็จแล้วพระสงฆ์จะพาลูกหลานมายังหน้าโต๊ะไหว้ผู้ตาย (เลงไจ้ ที่สถิตของวิญญาณ) เพื่อทำพิธีสวดเชิญวิญญาณของผู้ตายให้มาร่วมพิธี ในระหว่างที่สวด พระสงฆ์จะทำการเปิดรัศมี (ไคกวง) โคมวิญญาณซึ่งมีชื่อผู้ตายและเสื้อผ้าของผู้ตายสวมอยู่ กระถางธูปหรือป้ายวิญญาณ รูปถ่าย ของผู้ตาย เพื่อให้เป็นที่สถิตแห่งวิญญาณของ ผู้ตาย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำบรรดาของไหว้ คือ ข้าว 1 ชาม เหล้า 1 แก้ว น้ำชา 1 แก้ว กับข้าว 3 อย่าง ซาแซ 1 ชุด (หมู ไก่ เป็ด ปลา ตับ) ผลไม้ 5 อย่าง ชกก๊วย 1 อัน สีขาว และให้ลูกหลานจบถวาย เมื่อพระสวดเสร็จ ลูกหลานกราบพระ 3 ครั้ง

ต่อมาคือการเชิญวิญญาณผู้ตายมาร่วมพิธีชำระดวงวิญญาณ (มก-ยก) ในห้องน้ำกงเต๊ก ชำระอกุศลกรรมของผู้ตายที่อาจกระทำไว้โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ บัดนี้ลูกหลานอาศัยความกตัญญูขอขมากรรมเหล่านั้นแทนท่าน เสร็จพิธี ลูกสะใภ้จะยกอ่างน้ำในห้องน้ำไปเททิ้งตามธรรมเนียมที่สะใภ้ต้องปรนนิบัติพ่อแม่สามี ถ้าไม่มีสะใภ้ก็เป็นหน้าที่ลูกสาว

การข้ามสะพานกงเต๊ก คือการที่พระพาดวงวิญญาณ(ในโคม)มาส่งยังเขตแดนสวรรค์ โดยมีลูกหลานกตัญญูตามมาส่งด้วย ส่งเสร็จก็ข้ามกลับมาโลกมนุษย์ โดยทุกครั้งที่ข้ามสะพานลูกหลานทุกคนต้องโยนสตางค์ลงในอ่างน้ำ ซื้อทางให้แก่ผู้ตายและตนเอง ขบวนเริ่มจากพระทั้งหมด ลูกชาย ลูกสะใภ้ ลูกสาว ลูกเขย แล้วชั้นหลาน และเมื่อข้ามกลับมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำหีบเสื้อผ้าของผู้ตายมาวางโดยมีโคมวิญญาณวางซ้อนบนหีบเสื้อผ้า ลูกหลานนั่งฟังพระสวดต่อจนจบ กราบหน้าศพ 4 ครั้ง แล้วเหี่ยมหีบเสื้อผ้ากับโคมวิญญาณไปเผาเช่นเดียวกับบรรดาของกงเต๊กอื่นๆ ลูกหลานเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหลาย และต้องเหี่ยมทุกชิ้นไม่ขาดตกสิ่งใด ทั้งนี้ กราบ 4 ครั้งหมายถึง พ่อ-แม่ พ่อ-แม่ เชื่อว่าถ้ากราบ 4 ครั้งแล้วลูกหลานจะโชคดีทุกเวลา

 

 

 

 

Credit: ข่าวสด
18 ก.ค. 53 เวลา 09:58 6,093 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...