ผ้าไหมพุมเรียง" ผลิตภัณฑ์ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เป็นงานศิลปหัตถ กรรมที่เริ่มจากพื้นบ้าน คือทำใช้กันเองในครัวเรือนชาวไทยมุสลิม โดยรับสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ที่สุดจากทอใช้เองในครอบครัว เติบโตเป็นสินค้าจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่โด่งดังระดับประเทศ
ประวัติเล่าว่า ชาวไทยมุสลิมบ้านพุมเรียงส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากทางเมืองสงขลา เป็นมลายูอพยพจากหมู่เกาะของอินโดนีเซีย บางส่วนมีเชื้อสายปัตตานีและไทรบุรีที่เข้ามาอยู่พุมเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแม้จะมีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับไทยท้องถิ่น แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าไหมยกดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือยกไหม อันเป็นเอกลักษณ์ต่างไปจากผ้าทอคนไทยในสมัยนั้น โดยเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์คือ หูก และศิลปะการทอหูกก็ได้รับถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหญิงสาวมุสลิมที่จะออกเรือนต้องเตรียมผ้าที่จำเป็นสำหรับทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ฝีมือในการทอผ้าจึงแสดงถึงความเป็นกุลสตรีด้วย
และด้วยเหตุนี้จึงทำให้รักษาศิลปะการทอผ้าอันโดดเด่นไว้ได้ โดยเฉพาะความโดดเด่นของลวดลายอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสวยงาม ผ้าทอยกดอกที่มีชื่อเสียงได้แก่ ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และ ผ้ายกดอกลายเชิง รวมถึง ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายนพเก้า โดยเฉพาะลายยกเบ็ดทุกวันนี้หาดูได้ยากแล้ว เพราะคนเฒ่าคนแก่ที่ทอได้โดยใช้เครื่องทอมือมีอยู่น้อยมาก และส่วนใหญ่เลิกทำไปแล้ว ลวดลายที่นิยมทอกันเดี๋ยวนี้ ได้แก่ ลายราชวัตร ลายดอกดาวกระจาย ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ ลายดอกลอย ลายแมลงวัน 4 ตัว ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายมงกุฎดาว ลายหางนกยูง ลายดอกโคม ลายดอกจันทร์ ลายกระดุมทอง ลายดอกมะลิ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผ้าลายดอก หรือที่เรียกว่าผ้ายกดอก เป็นงานที่ทอด้วยมือแบบดั้งเดิมคือ ใช้วิธีโยกลูกกระสวยสลับไปมาซ้าย-ขวา นับเป็นงานฝีมือล้วนๆ ที่ต้องใช้ความประณีตและประสบการณ์ในการทอ ทั้งใช้เวลานานกว่าจะได้ผืนผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ผ้าไหมยกดอกจึงมีราคาแพงกว่าผ้าสีพื้น
วัฒนธรรมการทอผ้าไหมพุมเรียงแตกต่างจากการทอผ้าไหมของชาวอีสาน คือภาคอีสานปลูกหม่อนเพื่อนำใบไปเลี้ยงตัวไหม แล้วจึงนำรังไหมมาสาวเป็นเส้นไหม แต่ที่พุมเรียงไม่มีการเลี้ยงไหม ต้องสั่งซื้อเส้นไหมแล้วนำมาฟอกย้อมและทอเป็นผืนผ้า
เล่ากันว่าเมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น พ่อค้าชาวพุมเรียงนำผ้าที่ชาวไทยมุสลิมทอใช้ในครอบครัวไปขายที่ตลาดพาหุรัด กรุงเทพฯ ต่อมามีเส้นไหมดิบนำเข้าจากจีนมาฟอกย้อมกันที่พุมเรียง จากผ้าฝ้ายจึงเปลี่ยนเป็นทอผ้าไหมส่งขายกรุงเทพฯ ได้รับการต้อนรับด้วยดีจากกลุ่มสุภาพสตรี ซึ่งได้แนะนำให้ทอผ้าไหมในรูปแบบ สีสัน ลวดลายที่ทันสมัยขึ้น ได้รับความนิยมมากและได้วางขายในโรงแรมใหญ่ๆ ทำให้ผ้าไหมพุมเรียงมีชื่อเสียงยิ่งขึ้น
การผลิตผ้าไหมพุมเรียง ในอดีตใช้เส้นไหมซึ่งนำเข้าจากเมืองจีนและไหมญี่ปุ่นที่สั่งซื้อจากกรุงเทพฯ เพราะทอง่าย ราคาเยาและพื้นผ้าเรียบไม่เป็นปุ่มปม นอกจากนั้นแหล่งซื้อเส้นไหมยังมีจาก จ.สุพรรณ บุรี กาญจนบุรี ระนอง และเพชรบูรณ์ เส้นไหมที่ใช้ทอผ้าไหมพุมเรียงแบ่งได้ 3 ชนิด คือ ไหมน้อย ไหมกลาง และไหมใหญ่ ไหมน้อยเป็นไหมชนิดดีที่สุด เส้นเล็กเรียบ ละเอียด มีความเงางามและราคาแพง ไหมกลาง เป็นไหมที่มีคุณภาพรองลงมา เส้นค่อนข้างละเอียด ราคาต่ำกว่าชนิดแรก ส่วนไหมใหญ่ เป็นไหมคุณภาพต่ำสุด เส้นใหญ่ มีปมอยู่ทั่วไป ราคาย่อมเยากว่าสองชนิดแรก