เปิดหนังสือ คู่มือตั้งชื่อลูก พจนานุกรมชื่อเด็ก ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก อธิบายถึงการตั้งชื่อของคนไทย อ่านเอาเรื่องสรุปความได้ว่า คนไทยสมัยก่อนไม่พิถีพิถันในการตั้งชื่อบุตรหลานนัก ไม่คำนึงว่าเกิดวันไหนชื่อต้องขึ้นต้นด้วยอักษรอะไร ส่วนมากก็ตั้งตามพ่อแม่ เช่น พ่อชื่อแสง ตั้งชื่อว่า สี เสริม สุข สม เป็นต้น และมักนิยมคำไทยแท้ มีพยางค์เดียว ไม่ยาวเฟื้อย เรียกยากเขียนยากเหมือนสมัยนี้ จะมีก็เฉพาะในแวดวงขุนน้ำขุนนางเท่าน้ำที่นิยมชื่อยาวๆ โดยเฉพาะพระนามของเจ้านายในราชสกุล ต้องมีนักปราชญ์ผู้ชำนาญเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นคนคิดถวาย มีเพียงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงคิดพระนามพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอด้วยพระองค์เอง
เล่ากันว่า เวลาเจ้าจอมประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดา จะทรงคิดพระนามให้พร้อมพระราชนิพนธ์คาถาบาลีอวยพร อย่างเช่นคราวประสูติสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชนิพนธ์ว่า "ขอให้กุมารชื่อ "ดิศวรกุมาร" (อ่านว่า ดิด-วอ-ระ-กุมาน) นี้ จงมีความสุขทุกเมื่อ ขอจงมีอายุยืน มีวรรณะผ่องใส มีความและกำลัง มีปัญญาเฉียบแหลม มีปฏิภาณ มียศ มีความสุข มีฤทธิ์มาก ดำรงอยู่ด้วยดีตลอดกาลนาน อาจหาญในที่ทุกสถาน และขอจงรักษาสกุลวงศ์และจรรยาอันดีงาม ไดัชัยชนะเหนือศัตรูทั้งปวง ขอให้บุตรเจ้าจอมมารดาชุ่มผู้มีชื่อว่า "ดิศวรกุมาร" นี้ จงมีความสุข มีอายุยืน มีฤทธิ์ตลอดไป ขอพระรัตนตรัย จงเป็นสรณะของเธอ และจงพิทักษ์รักษาเธอทุกเมื่อ เทอญ"
ที่น่าสังเกตคือคำว่า "ติสสะ หรือ ดิศ" เป็นชื่อที่เป็นมงคลในพุทธศาสนา พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าก็มีชื่อลงท้ายว่าติสสะ พระเถระที่เป็นประธานในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สามก็ชื่อนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงนำเอามาตั้งพระนามพระราชโอรสเพื่อเป็นสิริมงคล เวลาที่ทรงคิดชื่อไม่เพียงแต่ทรงตรวจสอบตามหลักโหราศาสตร์เท่านั้น ยังทรงนำเอาเรื่องราวทางศาสนามาประกอบด้วย
สำหรับการตั้งชื่อบุคคลทั่วไป ถ้าเป็นชายใช้อักษรวรรคเดชนำหน้าชื่อ หญิงใช้อักษรวรรคศรีนำหน้าชื่อ ดังนี้ 1.วันอาทิตย์ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ 2.วันจันทร์ ก ข ค ฆ ง 3.วันอังคาร จ ฉ ช ซ ฌ ญ 4.วันพุธกลางวัน ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ 5.วันพฤหัสบดี บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม 6.วันศุกร์ ศ ส ษ ห ฬ ฮ 7.วันเสาร์ ด ต ถ ท ธ น 8.วันราหู หรือวันพุธกลางคืน ย ร ล ว
เพื่อให้ง่ายในการใช้งานจึงสรุปได้เป็นดังนี้ อาทิตย์-บริวาร1 อายุ2 เดช3 ศรี4 มูละ7 อุตสาหะ5 มนตรี8 กาลกิณี6, จันทร์-บริวาร2 อายุ3 เดช4 ศรี7 มูละ5 อุตสาหะ8 มนตรี6 กาลกิณี1, อังคาร-บริวาร3 อายุ4 เดช7 ศรี5 มูละ8 อุตสาหะ6 มนตรี1 กาลกิณี2, พุธ-บริวาร4 อายุ7 เดช5 ศรี8 มูละ6 อุตสาหะ1 มนตรี2 กาลกิณี3, พฤหัสบดี-บริวาร5 อายุ8 เดช6 ศรี1 มูละ2 อุตสาหะ3 มนตรี4 กาลกิณี7, ศุกร์-บริวาร6 อายุ1 เดช2 ศรี3 มูละ4 อุตสาหะ7 มนตรี5 กาลกิณี8, เสาร์-บริวาร7 อายุ5 เดช8 ศรี6 มูละ1 อุตสาหะ2 มนตรี3 กาลกิณี4, พุธกลางคืน-บริวาร8 อายุ6 เดช1 ศรี2 มูละ3 อุตสาหะ4 มนตรี7 กาลกิณี5 อักษรที่ห้ามใช้คืออักษรกาลกิณี
วิธีการตั้งชื่อของ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จะต้องดูวันเดือนปีเกิดของเจ้าของชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงตัวกาลกิณี ส่วนจะตั้งชื่อด้วยภาษาไทย หรือบาลี สันสกฤตนั้น แล้วแต่เจ้าของชื่อจะใช้ ท่านว่า ชื่อส่วนมากจะใช้ภาษาบาลีหรือสันสกฤต เพราะตั้งชื่อไทยเพราะๆ แล้วบางคนไม่เอาเลย คำว่าเพราะของเขาต้องเป็นภาษาต่างชาติ แปลไม่ออก หรือบางชื่อต้องถามว่าอ่านอย่างไร