ในพีระมิดของอียิปต์มักจะมีแมวปรากฏในภาพวาดเสมอ เพราะแมวเป็นที่นับถือตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณว่าเป็นเทพองค์หนึ่ง เรื่องนี้
คุณสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เล่าไว้ในหนังสือแมวไทย ว่าชาวอียิปต์เป็นชาติแรกที่ฝึกแมวซึ่งเดิมเป็นสัตว์ป่าให้เชื่องและเลี้ยงไว้ในบ้าน เพื่อให้ช่วยจับหนู โดยแมวพื้นเมืองดั้งเดิมของอียิปต์นั้นสืบสายพันธุ์มาจากแมวอะบิสซิเนียน (Abyssinians)
ผู้รู้เกี่ยวกับแมวอะบิสซิเนียนอธิบายว่า เป็นแมวขนาดกลางที่มีสีสันสวยงาม มีสีขนสลับกันในเส้นเดียวมองเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะสง่าผ่าเผย แข็งแรงดูมีกล้ามเนื้อ มีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งรอบตัว แต่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลภายใน แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางกายภาพและทางอารมณ์ที่กลมกลืนกัน อุปนิสัยรักเจ้าของ ฉลาดปราดเปรียว และขี้เล่นตามประสาแมว
สำหรับความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับเทพมีอยู่ว่า ตามตำนานของอียิปต์โบราณ ว่ากันว่า "พาชต์" (Pasht) หรือ จันทราเทพี ซึ่งคนพื้นเมืองเรียกว่าแมว เป็นมเหสีของรา (Ra) สุริยเทพผู้คุ้มครองเวลากลางวัน ส่วนพาชต์มักจะแปลงกายเป็นแมวเพื่อช่วยเหลือราดูแลความสงบสุขของโลก
เทพเจ้าพาชต์มีสรีระเป็นผู้หญิงแต่มีศีรษะเป็นแมว เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิชาวอียิปต์จะจัดงานฉลองเทพเจ้าแมวหรือพาชต์ ซึ่งมีรูปปั้นหินขนาดมหึมาของเทพเจ้าแมวประดิษฐานอยู่บนแท่น เครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เนื้อสัตว์ น้ำผึ้ง และผลไม้ อีกทั้งมีสาวงามประดับศีรษะด้วยดอกไม้ออกมาร้องเพลงร่ายรำถวายเทพเจ้าเป็น การสนุกสนาน ว่ากันว่ามีชาวเมืองไปร่วมเทศกาลใหญ่กว่า 7 แสนคน
ในสมัยโบราณ อียิปต์ถึงกับออกกฎหมายห้ามนำแมวออกนอกประเทศ และถ้าใครพบแมวในต่างประเทศจะต้องนำกลับมาบ้านด้วย นอกจากนี้ ยังมีกฎเหล็กว่าห้ามฆ่าแมว หากแมวตาย คนในครอบครัวจะต้องไว้ทุกข์โกนคิ้วและเอาซากศพแมวไปทำมัมมี่เพื่อเก็บรักษาไว้ ครอบครัวที่มีฐานะจะทำมัมมี่แมวห่อด้วยผ้าลินินสองสี มัดทำลวดลายสวยงามพร้อมกับใส่หีบมัมมี่ที่ทำด้วยบรอนซ์ประดับเพชร พลอย นำไปฝังไว้ในสุสานใกล้โบสถ์ของพาชต์ที่เมืองบูบาสติส
ในปัจจุบันมัมมี่แมวบางตัวยังคงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ