สะพานมัฆวานรังสรรค์

 

 

 

สะพานมัฆวานรังสรรค์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม สร้างขึ้นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้นกลางพระนคร จากบริเวณสนามหลวงไปจนถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นถนนแบบฝรั่งที่เรียกว่า อเวนิว-Avenue ในยุโรป การนั้นจำเป็นต้องสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงที่ถนนตัดผ่านไป พร้อมกัน

โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างถนนกับสะพานในปี พ.ศ.2443 ใช้เวลาก่อ สร้าง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดถนนและสะพานในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2446 พระราชทานนามถนนว่า "ราชดำเนิน" คือเส้นทางเสด็จฯ ของพระราชา และพระราชทานามสะพานว่า "มัฆวานรังสรรค์" คือพระอินทร์เป็นผู้สร้าง โดยเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนิน นอกกับถนนราชดำเนินกลาง


ทั้งนี้ สะพานที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม มีชื่อเรียกคล้องจองกัน ดังนี้ สะพานเทเวศรนฤมิตร สะพานวิศสุกรรมนฤมาณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ สะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์ ซึ่งทั้งหมดแปลว่าสะพานที่สร้างโดยเทวดา

สะพานมัฆวานรังสรรค์ออกแบบโดย มาริโอ ตามาญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี วิศวกรคุมงานคือ นายคาร์โล อัลเลกรี ลักษณะสถาปัตยกรรมสะพานเป็นแบบอิตาลีผสมสเปน เป็นสะพานโครงเหล็ก พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนประดับคือราวสะพานที่เป็นเหล็กหล่อทำลวดลายสวยงาม ที่กลางราวสะพานด้านนอกประดับดวงตรารูปเศียรช้างเอราวัณ พาหนะของพระอินทร์ หัวมุมสะพานทั้ง 4 มุม มีเสาไฟหินอ่อนรองรับโคมไฟสำริด ส่วนบนเป็นโลหะสลักลวดลาย ผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อน นับเป็นสะพานที่สวยงามและโอ่อ่าที่สุดของกรุงเทพมหานครในยุคนั้น



มาริโอ ตามานโญ ยี่สิบห้าปี แห่งการเป็น สถาปนิก ในราชสำนักสยาม (๒๔๔๓-๒๔๖๘)


ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครซ่อมแซมสะพานมัฆวานรังสรรค์และสร้างสะพานคู่ขนานสะพานเดิมขึ้นอีก 2 สะพาน เพื่อความสวยงามและความคล่องตัวของการจราจร โดยสะพานใหม่มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีความกว้างสะพานละ 15.00 เมตร ผิวจราจร 10.00 เมตร ขนาด 3 ช่องทางจราจร มีความยาวสะพานละ 22.00 เมตร การก่อสร้างเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 และเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน รวมงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 40 ล้านบาท และใช้งบประมาณตกแต่งศิลปกรรมอีกจำนวน 3.6 ล้านบาท

สำหรับ มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) เกิดที่เมืองตูริน อิตาลี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2420 เข้ารับราชการในกระทรวงโยธาธิการแห่งประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ.2443 โดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นเวลา 25 ปี เขายังมีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต วังปารุสกวัน วังบางขุนพรหม ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ สถานีรถไฟหัวลำโพง บ้านพิษณุโลก (ชื่อเดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์) พระตำหนักเมขลารุจี ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล (ชื่อเดิมคือ ตึกไกรสร) ห้องสมุดนีลเซนเฮส์ เป็นต้น 

เขาเดินทางกลับตูรินหลังหมดสัญญาจ้าง ยังคงเป็นสถาปนิก กระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เดือนมกราคม พ.ศ.2484

 

Credit: http://www.khaosod.co.th
18 ก.ค. 53 เวลา 00:31 7,765 1 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...