http://www.catdumb.com/orange-peel-save-the-day-044/
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ผืนป่าในประเทศคอสตาริก้านั้น อยู่ในระดับที่วิกฤตมากๆ ด้วยเหตุนี้เหล่านักนิเวศวิทยาก็ต่างพยายามต่อสู้เพื่อฟื้นฟูผืนป่าแห่งนี้ ด้วยการหาหนทางต่างๆ มากมายเพื่อป่ากลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1997 Daniel Janzen และ Winnie Hallwachs สองสามีภรรยานักนิเวศวิทยาได้ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติ Área de Conservación Guanacaste เพื่อฟื้นฟูผืนป่ากลับขึ้นมาอีกครั้ง โดยในตอนนั้นพวกเขาได้ปิ๊งไอเดียบางอย่างขึ้น จึงได้เดินทางไปตกลงกับบริษัท Del Oro ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำผลไม้เจ้าใหญ่ของประเทศ
ทั้งคู่ได้เสนอบริษัทว่า ถ้าบริษัทมอบพื้นที่ป่าของบริษัทให้อุทยานแห่งชาติ พวกเขายินดีที่ให้บริษัทเอาขยะที่เป็นเปลือกส้มและเปลือผลไม้อื่นๆ มาทิ้งได้ที่อุทยาน ทางบริษัทเมื่อได้รับข้อเสนอดังกล่าวก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก เพราะปกติแล้วพวกเขาต้องจ้างบริษัททำลายขยะกำจัดเปลือกส้มเหล่านี้ด้วยวิธีการกลบฝังหรือเผาทำลายเท่านั้น แต่หากสามารถนำไปทิ้งได้ที่อุทยาน พวกเขาแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย
ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงนำเปลือกส้มจำนวนกว่า 12,000 ตันมาทิ้งทับถมกันไว้ที่อุทยานดังกล่าว กินพื้นที่ไปกว่า 3 เอเคอร์ เรียกว่าทั้งพื้นที่เต็มไปด้วยเปลือกส้ม
แต่สัญญาดังกล่าวกลับมีอายุได้เพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น เพราะปีต่อมาบริษัท Tico Fruit คู่แข่งสำคัญของบริษัท Del Oro ได้ฟ้องร้องต่อศาลว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายป่าในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในท้ายที่สุดศาลตัดศาลสินให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ เวลาผ่านไป 15 ปี เปลือกส้มดังกล่าวยังคงถูกทิ้งไว้ที่เดิมโดยไม่มีใครเข้าไปใยดี แม้จะมีนักวิจัยหลายคนเข้าไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่มีการประเมินถึงความเสียหายจากการทิ้งเปลืองส้มในครั้งนั้นอย่างจริงจัง
จนกระทั่งปี 2013 ได้มี Timothy Treuer นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ได้จัดทีมวิจัยและเข้าไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อดูว่าตอนนี้มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่สิ่งที่เขาได้เห็น กลับทำให้เขาตกตะลึงเลยทีเดียว
พวกเขาพบว่าพื้นที่อุทยานที่เคยแห้งแล้งไม่มีอะไรเลย ตอนนี้มันเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีมากเต็มไปหมด ราวกับถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอนว่าตอนแรกพวกเขายังไม่แน่ใจนักว่าความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้เกิดจากเปลือกส้มจริงหรือเปล่า
พวกเขาจึงเก็บตัวอย่างดินไปทำการวิเคราะห์และพบว่าดินบริเวนที่เคยมีการทิ้งเปลือกส้ม มีความอุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณอื่นอย่างชัดเจน
งานนี้พวกเขาเลยบอกว่า การทิ้งเปลือกส้มเหล่านั้นไม่ได้เป็นเรื่องวิน-วินของบริษัทน้ำผลไม้กับอุทยานเท่านั้น แต่มันหมายถึงชัยชนะต่อความแห้งแล้งของทุกๆ คนต่างหาก
David Wilcox นักวิจัยอีกท่านจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันกล่าวว่า “หลายครั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เกิดจากการผลิตของเหล่าโรงงานอุตสาหกรรม”
“แต่บางครั้งปัญหาเหล่านั้นอาจกลายเป็นดีได้ หากมีการร่วมมือพัฒนาอย่างจริงจัง และผมเชื่อว่า เรายังสามารถใช้ ‘ของเหลือ’ ของโรงงานอาหารเหล่านั้น เพื่อฟื้นฟูผืนป่าอีกหลายแห่งบนโลกได้ ดังที่เกิดขึ้นที่คอสตาริก้า”
ที่มา http://www.odditycentral.com/news/how-discarded-orange-peels-brought-a-costa-rica-forest-back-to-life.html