ครบรอบ 200 ปี แฟรงเกนสไตน์ ซากศพคืนชีพผู้เป็นอมตะตลอดกาล

https://variety.thaiza.com/horror/388665/ 

"แฟรงเกนสไตน์" อสุรกายผู้โด่งดังซึ่งกำเนิดจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของซากศพที่นักวิทยาศาสตร์เพี้ยนปลุกให้มีชีวิตขึ้น มีอายุครบ 200 ปีแล้ว ในวันที่ 1 มกราคม 2018 ที่ผ่านมา หลังจากโลดแล่นบนหน้าจอภาพยนตร์และเวทีความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ สร้างความตื่นเต้นสยองขวัญและซาบซึ้งประทับใจให้กับคนทั่วโลกมาตลอด เมื่อวันขึ้นปีใหม่ในปี 1818 นักเขียนวัยรุ่นหญิงชาวอังกฤษ "แมรี เชลลีย์" ได้สร้างสรรค์ตัวละครผีดิบร่างยักษ์ในนิยายสยองขวัญเรื่องใหม่ล่าสุดของเธอ ตามคำท้าของลอร์ดไบรอน กวีโรแมนติกผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าอสุรกายตนนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมความบันเทิงสมัยใหม่ทั่วโลกในเวลาต่อมา นิยายเรื่อง "แฟรงเกนสไตน์ หรือโพรมีธีอัสยุคใหม่" (Frankenstein or The Modern Prometheus) ของเชลลีย์ ถูกดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1910 และนับแต่นั้นมามีการดัดแปลงนิยายดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทั้งการ์ตูน ละครเวที และละครโทรทัศน์ มากมายถึงกว่า 150 ครั้ง 

 

นายกิลเลอร์โม เดล โทโร ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกันบอกว่า เหตุที่นิยายแฟรงเกนสไตน์ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมในวงการบันเทิงกว่าร้อยปีนั้น เพราะเป็นเรื่องราว "ตามแบบฉบับของวัยรุ่น" ที่สื่อออกมาในรูปแบบการเล่าเรื่องสยองขวัญได้เป็นอย่างดี "คุณรู้สึกแปลกแยกในโลกที่ผู้คนไม่สนใจคุณ ถูกจับเหวี่ยงให้ต้องมาใช้ชีวิตในโลกแห่งความสับสน เจ็บปวด และทุกข์ทรมาน นี่มันเรื่องที่โดนใจวัยรุ่นชัด ๆ" ส่วนศาสตราจารย์แพทริเซีย แม็กคอร์แม็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกินในสหราชอาณาจักรบอกว่า "เรื่องราวของแฟรงเกนสไตน์ตั้งคำถามพื้นฐานแบบเดียวกับปรัชญากรีก เหมือนกับที่มนุษย์ทั่วไปเฝ้าถามตัวเองถึงความหมายของชีวิต คนเราก็เหมือนกับผีดิบตนนี้ ไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาเองแต่ก็ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมา ทำให้เฝ้าตั้งคำถามกับผู้สร้างว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร ? เราทำอะไรได้บ้าง ? และจะเป็นคนดีได้อย่างไร ?" 

เรื่องราวของแฟรงเกนสไตน์ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและความตายที่ทุกคนสนใจ การเล่าเรื่องมีความแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นระทึกใจ จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะถูกเล่าขานเพื่อความบันเทิงซ้ำแล้วซ้ำอีก จนยืนยงเป็นอมตะมานานถึง 200 ปี แม้เรื่องราวของแฟรงเกนสไตน์จะถูกดัดแปลงให้ท้องเรื่องและบุคลิกลักษณะของอสุรกายยักษ์แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่หลังทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา มักยึดถือตามแบบฉบับของบุคลิกและการแต่งกายที่ปรากฏในภาพยนตร์ "แฟรงเกนสไตน์" ซึ่งยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์สร้างเมื่อปี 1931 โดยมีนายบอริส คาร์ลอฟฟ์ นักแสดงผู้รับบทผีดิบร่างยักษ์เป็นต้นแบบของแฟรงเกนสไตน์ที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน 

 

ส่วนบทภาพยนตร์ที่คุ้นหูซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้ให้กำเนิดอสุรกายจากซากศพจะต้องร้องตะโกนว่า "มันมีชีวิต ! มันมีชีวิต !" (It's alive! It's alive!) ในภาพยนตร์แฟรงเกนสไตน์ทุกเวอร์ชัน ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน แต่ภาพยนตร์แฟรงเกนสไตน์ทุกเรื่องก็ไม่ได้มุ่งเน้นความเป็นอสุรกายกระหายเลือดที่ไล่ฆ่าคนอย่างไร้สมองเสมอไป ภาพยนตร์ "เจ้าสาวของแฟรงเกนสไตน์" (The Bride of Frankenstein) ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1935 มีความใกล้เคียงกับนิยายต้นฉบับของแมรี เชลลีย์ อย่างมาก โดยฉายภาพของอสุรกายที่มีความเป็นมนุษย์ มีความคิดที่ลุ่มลึกและซับซ้อน บางครั้งก็มีปมเกลียดตนเอง หรือมีจิตใจที่บริสุทธิ์ใสซื่อเหมือนเด็กด้วย 

ดร.ซอร์ชา นี เฟล์นน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิตันบอกว่า ในวงการภาพยนตร์สมัยใหม่ มีการนำแกนเรื่องและบุคลิกแบบแฟรงเกนสไตน์มาสวมให้กับตัวเอกในภาพยนตร์ยอดนิยมที่เราคาดไม่ถึงหลายเรื่อง เช่นในภาพยนตร์ Bladerunner, Terminator, Edward Scissorhands, AI, และ Prometheus ซึ่งล้วนแต่ได้รับความนิยมเพราะเป็นการเล่าเรื่องของแฟรงเกนสไตน์ในรูปแบบใหม่นั่นเอง คนในวงการบางส่วนมองว่า ถึงเวลาแล้วที่อาจมีการปรับให้ตัวละครแฟรงเกนสไตน์มีความทันสมัยมากขึ้น เหมือนกับในภาพยนตร์ Twilight ที่แม้แต่ผีดิบดูดเลือดยังได้รับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นหนุ่มหล่อที่มีความโรแมนติกและเป็นมนุษย์สมัยใหม่จนได้รับความนิยมอย่างสูง บ้างคาดว่าแฟรงเกนสไตน์ที่คงรูปลักษณ์และบุคลิกเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมาถึง 200 ปี อาจได้รับการปรับรูปโฉมแบบเดียวกันในภาพยนตร์เรื่องใหม่เร็ว ๆ นี้  

ที่มา ข้อมูลจาก BBC Thai

 

 

Credit: ข้อมูลจาก BBC Thai
24 ก.พ. 61 เวลา 02:25 2,049 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...