มาทาดอร์ (matadors)
การหลอกล่อและฆ่าวัว (bullfighting) หรือที่ เรียกกันว่ากีฬาสู้วัวซึ่งว่ากันว่า เป็นกีฬาเก่าแก่ของสเปน ที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะอันสูงส่ง (วัวที่ถูกฆ่า ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน) กำลังได้รับความนิยมน้อยลง ตามกลไกการทำงานของเศรษฐกิจอันเกิดจากพลังด้านดีมานด์ ที่เป็นผลจากรสนิยมในการฆ่าทารุณสัตว์ ของผู้คนลดถอยลงเป็นลำดับ
"กีฬา" ประเภทนี้ซึ่งเชื่อว่ามีที่มาจากยุคโรมันที่นิยมเห็นการต่อสู้ฆ่ากันระหว่าง คนกับคน และคนกับสัตว์เป็นที่นิยมในสเปนมาเป็นเวลานับร้อยปีและแพร่กระจายไปทั่ว ในปัจจุบันมีอยู่ในโปรตุเกส เม็กซิโก เปรู โคลัมเปีย เวเนซุเอลลา เอกวาดอร์ ทางใต้ของฝรั่งเศส บราซิล โมร็อกโก ตุรกี บางเขตใน United Arab Emirates หรือแม้แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (ไม่มีการฆ่าวัว)
สไตล์การต่อสู้แตกต่างกันออกไป บ้างก็นั่งบนหลังม้าแล้วใช้หอกแทง บ้างก็หลอกล่อวัวโดยไม่มีผ้า (cape) หรือ ดาบ บ้างก็ใช้ดาบสู้แบบ 2 คนกับวัว 6 ตัว บ้างก็ปล่อยให้วัววิ่งไปในถนนแล้ววิ่งแซงหน้าวัว ฯลฯ แต่สไตล์ของสเปนเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากที่สุด
สไตล์สเปนในปัจจุบันซึ่งเป็นการหลอกล่อ และผู้ฆ่ายืนอยู่บนพื้นดินเหมือนกับวัว เริ่มใน ค.ศ.1726 สไตล์ สเปนซึ่งปัจจุบันลอกเลียนกันไปทั่วและรู้จักกันทั่วโลกมีนักล่อและฆ่าวัวที่ ยิ่งใหญ่ที่สุดของสเปนคือ Juan Belmonte เป็นผู้ริ่ เริ่ม
ในสไตล์สมัย ใหม่นี้ มาสเตอร์ของนักล่อและฆ่าวัวที่เรียกกันว่า มาทาดอร์ (matadors) มิได้สู้กับวัวคนเดียว หากมีผู้ช่วยถึง 6 คน ในจำนวนนี้มี 2 คน ที่อยู่บนหลังม้า อีก 4 คนมีหน้าที่ต่างกันไป จุดประสงค์ในขั้นสุดท้ายก็คือเมื่อหลอกล่อจนวัวเหนื่อยอ่อน เหนื่อยหน่ายและเหนื่อยล้าแล้ว มาทาดอร์ก็จะเป็นผู้ใช้ดาบแทงและต้องแทงหนเดียวให้ตายที่ไหล่เพื่อให้ทะลุ ถึงหัวใจ
มาดท่วงท่า การใช้ผ้าหลอกล่ออย่างสวยงาม อย่างหวาดเสียว และกล้าหาญไม่กลัวตายในเฉพาะในช่วงก่อนแทงวัวให้ตายนั้นสำคัญมาก เพราะต้องกล้ายืนอยู่หน้าวัวอย่างใกล้ชิด ถ้ามันเกิดพยศขวิดขึ้นมาก็ตายลูกเดียวเพราะถอยหนีไม่ทัน
มีเรื่องเล่าว่าใกล้ๆ กับ Las Ventas ในกรุงแมดริคซึ่งเป็นสนามสู้วัวที่ดังสุดในโลก มีร้านอาหารเล็กๆ ที่นำส่วนต่างๆ ของวัวที่ถูกฆ่าในสนามมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ จานเด็ดที่คนแย่งกันมากก็คืออัณฑะวัวที่ถูกฆ่าอบ เพราะเชื่อว่าเป็นยาโป๊วที่ยอดเยี่ยมกว่าพระโดดกำแพง (โดดข้ามหรือโดดเข้าชนไม่แน่ใจ) เพราะเป็นวัวที่กล้าหาญและแข็งแรง
นักท่องเที่ยวคนหนึ่งแวะไปที่ร้านนี้และอยากทานเมนู จานเด็ดนี้มาก คนขายก็ดูท่าที่ลังเล ในที่สุดก็ยกมาให้เป็นอัณฑะอบราดด้วยน้ำเกรวี่ นักท่องเที่ยวกินไปสักพักก็ถามว่าทำไมมันรสชาติแปลกๆ และดูเล็กนัก เจ้าของร้านตอบว่าวันนี้วัวมันไม่ตาย แต่มาทาดอร์ถูกขวิดตาย...พอไปไหวไหมซินญอร์? (เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง จริง)
ในแต่ละ corrida (การแข่งขัน) ลูกน้อง 5 คน จะล่อหลอกทั้งใช้ผ้าและม้าเข้าล่อให้วิ่งชนจนเหนื่อยและหาโอกาสแทงด้วยหอก หลายหนเพื่อให้เลือดออกจนอ่อนแรง แถมแทงด้วยเหล็กแหลมสั้นติดธงซึ่งทำให้เจ็บและเป็นการยั่วยุ และในที่สุดมาทาดอร์ก็จะหลอกล่อครั้งสุดท้ายและแทง ให้ตายภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที อย่างห้าวหาญ
บางครั้งถ้าวัวสู้สุดใจจนเหล่าคนดูชื่นชมก็จะควักผ้าเช็ดหน้าออกมาโบก ประธานจัดการแข่งขันก็อาจหยุดเพื่อไว้ชีวิตวัว มาทาดอร์ก็จะใช้แค่เหล็กแหลมแทงเสมือนว่าเป็นดาบ วัวตัวนี้จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์ต่อไป จะไม่เอามาสู้อีกเพราะมันจะอันตรายมากเนื่องจากรู้ไต๋แล้ว ต่อไปจะไม่ขวิดผ้า แต่จะขวิดคนถือผ้าแทน
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กีฬาสู้วัวในสเปนได้รับความสนใจน้อยลงเป็นลำดับ จากการสำรวจความเห็นในปี 1970 มีผู้ไม่สนใจเลยร้อยละ 40 ปัจจุบัน ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 70 (คนอายุต่ำกว่า 24 ปี ในปัจจุบันมีความสนใจอยูบ้างเพียงร้อยละ 17)
เหตุผลสำคัญก็คือการไม่นิยมการทรมานสัตว์ การมีแหล่งบันเทิงอื่น เช่น โทรทัศน์ DVD ฯลฯ กีฬาอื่นๆ พ่อแม่ไม่พาลูกไปดู
คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ากีฬานี้คือตัวแทนของความโบร่ำ โบราณ และเป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดความเผด็จการของยุคนายพลฟรังโกในอดีต ที่ให้การสู้วัวเป็นกีฬาประจำชาติ ฯลฯ
ในแต่ละการ แข่งขันมีคนดูไม่เกินร้อยละ 25 ถึง 30 ของ จำนวนที่นั่ง อายุคนดูเฉลี่ย 50 ปี แต่ละเวทีอยู่รอดกันได้ยากเพราะต้นทุนก็สูงมาก สำหรับสนามชั้นดีการแข่งขันแต่ละครั้งต้องลงทุนประมาณ 240,000 ยูโร (12 ล้านบาท) ในจำนวนนี้ประมาณ 200,000 ยูโรเป็นค่าใช้จ่าย 2 อย่าง คือ ค่าซื้อวัว (7,000 ถึง 30,000 ยูโร หรือ 350,000 ถึง 1.5 ล้านบาทต่อตัว) และที่เหลืออีกประมาณ 10 ล้าน บาทเศษๆ เป็นค่าจ้างมาทาดอร์กับทีมงาน
อย่างน้อยต้องมีคนดูไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ตั๋ว ค่าดูระหว่าง 4 ถึง 115 ยู โร (200-600 บาท) จึงจะคุ้มทุน ในบาง corrida ที่มาทาดอร์มีชื่อเสียงมาลงแข่ง ต้นทุนอาจสูงถึง 340,000 ยูโร (17 ล้านบาท) ดังนั้น ผู้จัดการแข่งขันจึงต้องดิ้นรนให้มีอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น
(ก) มีดนตรีและนักร้องประกอบ
(ข) มีคนมาโดดโลดโผนหลอกล่อวัวอย่างหวาดเสียว
(ค) ขายของที่ระลึก
(ง) มีการบันเทิงอื่นประกอบ
(จ) มีค็อกเทลบาร์ในห้องติดแอร์ดูการสู้วัว
(ฉ) ออกนิตยสารสร้างความนิยมในกีฬา
(ช) พยายามย้ายวันแข่งจากอาทิตย์บ่ายมาเป็นพฤหัสฯแทน
(ซ) หาบริษัทซื้อตั๋วเหมาแบบซูโม่ในญี่ปุ่น ฯลฯ
เพื่อความอยู่รอดของ 600 สนามสู้วัวในสเปน ซึ่งรวมกันมีคนดูประมาณ 6-10 ล้านคนต่อปี (ส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยว)
จะมีก็แต่เทศกาลประจำปีของแมดริด เช่น San Isidro เท่านั้นที่สามารถขายตั๋วได้หมดเกลี้ยงซึ่งที่ทำให้สนามใหญ่ยิ่ง เช่น Las Ventas อยู่รอดได้
อุตสาหกรรมที่ขอเรียกว่า "หลอกล่อและฆ่าวัว" มีฟาร์มเลี้ยงวัวขนาดใหญ่มีชื่อหลายแห่งเป็นผู้ส่งขาย (มาทา ดอร์ที่เกษียณอายุเป็นเจ้าของ) โดยคัดสรรจากพันธุ์ดุใจถึง ตัวใหญ่ขนาด 500 กิโลกรัม ร่างกายแข็งแรงบึกบึน ในด้านมาทาดอร์ก็มีถึง 11 โรงเรียนของรัฐที่ผลิตมาทาดอร์นับร้อยคนสู่ตลาดทุกปี
สถานการณ์ที่คนดูสเปนสนใจน้อยลง (จะมีก็เฉพาะนักท่องเที่ยวที่สนใจมาก) มีสนามจำนวนมาก ต้นทุนการจัดสูงขึ้นทุกปี พร้อมกับมีฟาร์มซัพพลายวัวเป็นจำนวนมาก มีมาทาดอร์ใหม่เข้าสู่ตลาดทุกปี ฯลฯ ทำให้พยากรณ์ได้ว่าในที่สุด ก็จะเหลือสนามสู้วัวใหญ่ๆ และฟาร์มใหญ่อยู่ไม่กี่แห่ง และเหลือเฉพาะมาทาดอร์ดังๆ และดาวรุ่งพุ่งแรงเท่านั้นที่มีงานทำ
ยกเว้นแต่ผู้จัดประสบความสำเร็จพอควรในการปรับปรุงรูป แบบให้เป็นการบันเทิงที่หลากหลายยิ่งขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็มิใช่เรื่องง่ายเพราะมนุษย์ในโลกมีจิตใจที่อ่อนโยนมากขึ้นใน เรื่องการรักสัตว์
(การ เลี้ยงสุนัข 3,500 ตัวของมหาจำลอง จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ไม่ใช่เรื่องที่น่าดูแคลนแต่อย่างใด)
ประเทศสเปนในปัจจุบันกำลังมาแรงในด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กระทำมานาน ตลอดจนความก้าวหน้า ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทำให้เกิดการก้าวกระโดดในการพัฒนาขึ้นชนิดที่คนอิตาลี "ลูก พี่ลูกน้องที่รวยกว่า" มานานอึดอัดถูกหายใจรดต้นคอ ไม่พอใจอย่างยิ่งหากจะมีใครไปบอกว่า สเปนกำลังไล่กวดมาอย่างกระชั้นชิด
Bullfighting ทำให้คนดูตื่นเต้น ผู้มีธุรกิจเกี่ยวพันมีรายได้ แต่คนที่ไม่สนุกเลยก็คือบรรดาวัวทั้งหลาย
(ข้อมูล จาก IHT, March 2006 และ Wikipedia.com)