ที่คั่นหนังสือ...มีที่มา

ที่คั่นหนังสือ...มีที่มา

เวลาเราอ่านหนังสือแล้วอยากพักสายตา ดิฉันเชื่อว่า หลายคนคงต้องมองหาที่คั่นหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษแผ่นเล็กเรื่อยไปกระทั่งที่คั่นหนังสือแสนสวยที่หลายคนชอบเก็บสะสม...

เคยมีคนสันนิษฐานว่า ที่คั่นหนังสือนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับกำเนิดหนังสือเลยทีเดียว แต่เอาเข้าจริงแล้วคงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากหนังสือในยุดแรกๆนั้นไม่ใช่หนังสือเป็นเล่ม หากแต่เป็นแผ่นดินเหนียวในยุคบาบิโลนหนังสือในยุคนั้นคือแผ่นดินเหนียวที่วางเทินกันไว้เป็นกอง หรือแม้กระทั่งหนังสือของจีนยุคเริ่มแรกก็ยังม้วนจากกระดาษแผ่นเดียวอยู่


เมื่อการพิมพ์เฟื่องฟูขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 หนังสือเริ่มมีราคาถูกลงและแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง คนทั่วไปสามารถซื้อหาหนังสือมาเป็นสมบัติส่วนตัวได้ ในยุคนี้นี่เองที่เริ่มมี ที่คั่นหนังสือออกวางจำหน่าย โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษหลังจากอุตสาหกรรมทอผ้าไหมของที่นั่นล้มเหลว ที่คั่นหนังสือทำจากผ้าไหมก็วางขายเกลื่อนตลาด

Steven graphs คือชื่อที่ใช้เรียกที่คั่นหนังสือที่ทอด้วยเส้นไหมเป็นลวดลายงดงาม ผลิตโดยโทมัส สตีเวนส์ ชาวเมืองโคเวนทรี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมผ้าไหมอังกฤษในยุคนั้น

สตีเวนส์ผลิตที่คั่นหนังสือจากผ้าไหม นำออกจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อปี 1962 หลังจากกิจการโรงงานทอผ้าไหมของเขาซบเซา เมื่อที่คั่นหนังสือผ้าไหม ออกวางจำหน่ายก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่นิยมกว้างไกลไปจนถึงสหรัฐอเมริกา แต่น่าเสียดายที่ธุรกิจนี้ต้องหยุดชะงักเมื่อโรงงานถูกระเบิดครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นการปิดฉากที่คั่นหนังสือผ้าไหมลงอย่างน่าเสียดาย

ที่คั่นหนังสือของไทยเราเองนั่น ที่ค้นพบที่คั่นหนังสือที่เก่าที่สุด คือ ที่คั่นหนังสือที่ทำด้วยกระดาษที่แถมมากับหนังสือ จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาศทวีปยุโรป ครั้งที่ 2 รัตนโกสินทรศก 125 – 126 เรียบเรียงโดยนายพันเอก หม่อมนเรนทรราชา พิมพ์โดยกระแสพระบรมราชโองการ พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ จำนวน 1,000 ฉบับ

ที่คั่นหนังสือดูจะเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุดในบรรดาสิ่งพิมพ์ จะมีก็แต่ประเทศจีนที่ทำที่คั่นหนังสือขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 มีการผลิตทีคั่นหนังสือออกมามากมายด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อการโฆษณาหนังสือ หรือเป็นของที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เป็นสินค้า และเป็นของสะสม แหล่งหาซื้อหรือที่มาของที่คั่นหนังสือจึงมีหลายที่มา


บางข้อมูลกล่าวไว้ว่า ในวิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้จัดที่คั่นหนังสืออยู่ในกลุ่มสิ่งพิมพ์ระยะสั้น Ephemera และว่าสิ่งพิมพ์ประเภทนี้ไม่ค่อยปรากฏรายละเอียดอยู่ในหนังสือ บรรณานุกรมหรือดัชนี เพราะเป็นสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากในครั้งหนึ่งๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชักจูงใจ เพื่อผนึกกำลังทางการเมือง หรือบางทีก็เพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดในชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็เลิกใช้ เหมือนฝูงแมลงเม่า ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง จำนวนนับไม่ถ้วนแต่มีอายุเพียงวันเดียว...

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยมีคนสนใจสะสม ที่คั่นหนังสือมากมายนัก สำหรับไทยเราเองนั้น เริ่มมีคนให้ความสำคัญกับที่คั่นหนังสือมากขึ้น เพื่อขายแจกในร้านหนังสือ หรือบางทีก็แถมมากับหนังสือเล่ม แจกในงานมงคลสมรสหรือแม้กระทั่งแจกในงานศพ

ที่คั่นหนังสือที่ถูกแจกในงานศพของไทยครั้งแรกๆ คือ งานพระราชทานเพลิงศพพระยาอนุมานราชธน เมื่อปี 1969 นอกจากนี้ก็มีการทำที่คั่นหนังสือในโอกาสต่างๆ

ปัจจุบัน ที่คั่นหนังสือ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและกลายมาเป็นสินค้าสำหรับนักเดินทางท่องเที่ยวเพื่อซื้อเป็นของที่ระลึก...

บางครั้งกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เรามองข้ามคุณค่าของมัน อาจจะมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่คิดก็เป็นได้.


   

Credit: นพวรรณ สิริเวชกุล
16 ก.ค. 53 เวลา 20:19 8,076 3 46
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...