12 สิ่งที่ถูกทำนายผ่านนิยายวิทยาศาสตร์เมื่อ 100 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้

read:http://petmaya.com/12-astounding-book-predictions

หลายคนที่ชื่นชอบในการอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ คงเคยเห็นจินตนาการของผู้เขียนที่บอกเล่าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้จะเป็นเพียงความเพ้อฝันที่เกิดขึ้นของนักเขียนในอดีตที่ผ่านมา แต่ไม่น่าเชื่อว่าความเพ้อฝันเหล่านั้นกลับกลายเป็นจริงแล้วในตอนนี้ และหลายๆ สิ่งก็กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต วันนี้เพชรมายาจึงขอพาทุกท่านมาชมจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์เมื่อร้อยปีก่อน มาดูว่าจะมีอะไรที่เป็นจริงและกำลังจะเป็นจริงบ้าง 

1. ไครโอนิกส์ (Cryonics) 

ไครโอนิกส์ คือการแช่แข็งมนุษย์เพื่อรอวันคืนชีพอีกครั้ง ทฤษฎีนี้ถูกพบในเรื่องสั้นที่ชื่อ The Jameson Satellite ของ นีล อาร์. โจนส์ ในปี 1931 โดยตัวละครหลักของเรื่องคือ ศาสตราจารย์เจมสันได้ขอให้นำศพของเขาขึ้นสู่วงโคจรของโลก เพื่อหวังว่าสภาพศพของเขาจะยังคงอยู่ที่อุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์ หรือ -273.15 องศาเซลเซียส (เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนยังไม่เข้าใจเรื่องอวกาศเท่าไหร่ในยุคนั้น)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการแช่แข็งมนุษย์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 1947 โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่มีฉายาว่า “บิดาแห่งไครโอนิกส์” และในปีนั้นเอง ไอน์สไตน์ได้เขียนเรื่องสั้นที่ชื่อว่า The Penultimate Trump ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับการแช่แข็งตัวเองเพื่อฟื้นคืนชีพในภายหลัง 

2. เนื้อสังเคราะห์ 

เนื้อสังเคราะห์ ถูกพูดถึงครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ Two Planets ของ เคิร์ด ลาสสวิตซ์ ในปี 1897 โดยในหนังสือของเขาได้กล่าวถึง “เนื้อสังเคราะห์” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารสังเคราะห์หลายๆ อย่าง ที่ถูกส่งมายังโลกมนุษย์ โดยชาวดาวอังคาร 

3. การไปดวงจันทร์ 

ในปี 1865 ฌูล แวร์น นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้บุกเบิกนิยายแนววิทยาศาสตร์ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลก” ได้ตีพิมพ์นิยายของเขาที่ชื่อว่า From the Earth to the Moon โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับปืนอวกาศขนาดใหญ่ ที่ยิงคน 3 คนตรงไปที่ดวงจันทร์ได้

หนึ่งศตวรรษต่อมา ยานอวกาศอะพอลโล 11 ของนาซ่าได้ทำการลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ และมีสมาชิก 3 คนเหมือนกับนิยายพอดิบพอดี นอกจากนั้นเขายังได้พูดถึงสภาพไร้น้ำหนักที่นักบินอวกาศจะรู้สึกอีกด้วย ซึ่งต่อมาชื่อของ ฌูล แวร์น ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของยานขนส่งอัตโนมัติลำแรกขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งทำหน้าที่ขนส่งพัสดุรวมทั้งต้นฉบับนิยายวิทยาศาสตร์ของเขาขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนธันวาคมปี 2007 

4. การจมของเรือไททานิก 

นี่เป็นเรื่องราวของความบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ นิยายของ มอร์แกน โรเบิร์ตสัน ที่ชื่อว่า The Wreck of the Titan (การอับปางของเรือไททัน) ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1898 เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ “เรือไททัน” ที่มีขนาดใหญ่มหึมาและได้ชื่อว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจม แต่ก็ต้องประสบชะตากรรมชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งตั้งแต่การเดินทางครั้งแรก

14 ปีต่อมา เรือไททานิก ที่ถูกสร้างมาเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ถูกตั้งชื่อว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจม ได้ประสบชะตากรรมเดียวกันเป๊ะๆ เช่นเดียวกับที่โรเบิร์ตสัน เคยอธิบายไว้ในหนังสือของเขา 

5. ระเบิดปรมาณู 

ในนิยายเรื่อง The World Set Free ของ เอช. จี. เวลส์ ที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1914 ได้มีการทำนายเอาไว้ว่า จะมีระเบิดมือที่ถูกทำจากยูเรเนียม ที่มีพลังรุนแรงไร้ขีดกำจัด โดยเขาเรียกมันว่า “ระเบิดปรมาณู (Atomic Bombs)” โดยมันจะทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมากในอนาคต

31 ปีต่อมาหลังจากที่นิยายของเขาถูกตีพิมพ์ ระเบิดปรมาณูของจริงลูกแรกได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการแมนฮัตตัน เพื่อมีเป้าหมายไปทิ้งที่ฮิโรชิม่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกคนไม่มีวันลืม 

6. การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ 

ในนิยายสั้นเรื่องหนึ่งของ โรเบิร์ต ไฮน์ไลน์ ที่ชื่อว่า Solution Unsatisfactory ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1941 ได้พูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก่อนประเทศอื่นๆ ของโลก จนกระทั่งได้เป็นประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก

นอกจากนั้น ไฮน์ไลน์ยังเขียนถึงการแข่งขันของชาติอื่นๆ ที่พยายามจะพัฒนาระเบิดแบบเดียวกันนี้ขึ้นมา ซึ่งภายหลังจากผลงานของเขาที่ถูกตีพิมพ์ไปไม่นาน เหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริง ทุกชาติพยายามแข่งขันกันสร้างและสะสมระเบิดนิวเคลียร์ จนกลายเป็นยุคที่เรียกว่า “สงครามเย็น” 

7. เตียงน้ำ 

โรเบิร์ต ไฮน์ไลน์ ไม่ได้เพียงแค่ทำนายเรื่องสงครามเย็นเท่านั้น แต่สิ่งประดิษฐ์อย่าง “เตียงน้ำ” ก็เคยถูกเขาพูดถึงมาก่อนที่มันจะมีอยู่จริงอีกด้วย โดยในนิยายของเขาที่ชื่อ Stranger in a Strange Land ที่ถูกเขียนขึ้นในปี 1961 มีการพูดถึงลักษณะของเตียงน้ำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น แต่มีปัญหาด้านการจดสิทธิบัตร 

8. บัตรเครดิต 

ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ Looking Backward ของ เอ็ดเวิร์ด เบลลามี ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1888 ได้มีการพูดถึงการใช้เครดิตการ์ดเอาไว้ แต่เครดิตการ์ดจริงๆ ก็ยังไม่เคยมีอยู่จริงจนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1950

ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องนี้พูดถึง จูเลียน เวสต์ ตัวเอกของเรื่องที่เผลอหลับไปในปี 1887 แต่กลับตื่นมาในปี 2000 ในโลกอนาคตนี้ ทุกคนใช้บัตรเครดิตที่เท่าเทียมกัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมันสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าต่างๆ ได้ทั่วโลก 

9. ดวงจันทร์ 2 ดวงของดาวอังคาร 

ในนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังเรื่อง การเดินทางของกัลลิเวอร์ (Gulliver’s Travels) ของโจนาธาน สวิฟต์ ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1726 ได้มีการพูดถึงดาวอังคาร ที่มีดวงจันทร์โคจรอยู่ 2 ดวง แต่นั่นเป็นช่วงเวลา 151 ปี ก่อนที่นาซ่าจะค้นพบว่ามันเป็นเรื่องจริง

ในนิยายเรื่องนี้ พระเอกของเรื่องได้เดินทางไปยังเกาะลาพูต้าที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ ที่บอกเขาว่ามีดวงจันทร์เล็กๆ 2 ดวงโคจรอยู่รอบดาวอังคาร ผู้เขียนได้อธิบายถึงรายละเอียดดวงจันทร์ทั้ง 2 เอาไว้ค่อนข้างแม่นยำทั้งในเรื่องของระยะวงโคจร และระยะเวลาการหมุนรอบตัวเอง 

10. หูฟังแบบเอียร์บัดส์ และหูฟังแบบบลูทูธ 

วิทยุแบบส่วนตัวไม่เคยปรากฏมาก่อนจนกระทั่งปี 1977 แต่ เรย์ แบรดบูรี ได้พูดถึงหูฟังที่ช่วยขจัดความคิดตัวเองจากโลกภายนอก ในนิยายของเขาเรื่อง Fahrenheit 451 ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1953 ซึ่งในนิยายเรื่องนี้ ผู้คนจะใช้ “เปลือกหอย” และ “ปลอกนิ้ว” ที่มีสัญญาณวิทยุที่มีความคล้ายคลึงกับหูฟังเอียร์บัดส์และหูฟังแบบบลูทูธ 

11. อินเทอร์เน็ต 

ในปี 1898 มาร์ก ทเวน นักเขียนนวนิยายชื่อดังได้เขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า From The ‘London Times’ in 1904 ที่พูดถึงอนาคตในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยเป็นเรื่องราวความลึกลับของคดีอาชญากรรมคดีหนึ่ง เจ้าหน้าที่เคลย์ตันอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพบกถูกกล่าวว่าว่าเป็นผู้สังหาร เชสพานิก นักประดิษฐ์ที่ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทเลเล็กโตรสโคป (Telelectroscope)

ด้วยเครื่องประดิษฐ์ใหม่นี้ ผู้เขียนได้อธิบายว่าเป็นเหมือนโทรศัพท์ไร้สายที่สามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลได้ทั่วโลก โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบันนั่นเอง 

12. ยาต้านโรคซึมเศร้า

อัลดัส ฮักซ์ลีย์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้เขียนนิยายเรื่อง Brave New World ในปี 1931 ที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองด้านมืดของสังคมที่ถูกปกครองโดยจิตวิทยา ผู้คนหันไปพึ่งพายาเสพติดที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ที่เรียกว่า “โซม่า” ที่จะช่วยเสริมสร้างอารมณ์ให้มั่นคงและช่วยลดความคิดวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้น 2 ทศวรรษ ก่อนที่จะมีการทดลองยาต้านโรคซึมเศร้าครั้งแรกเกิดขึ้น 

ที่มา https://brightside.me/wonder-curiosities/12-astounding-book-predictions-that-came-true-422860/

Credit: https://brightside.me/wonder-curiosities/12-astounding-book-predictions-that-came-true-422860/
28 ธ.ค. 60 เวลา 04:16 2,739
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...