ทหารสื่อสารคนเดียวที่ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

ทหารสื่อสารคนเดียวที่ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

พ.สมาน ครุกรรม

ผมมักจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับทหารสื่อสารอยู่บ่อย ๆ ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะในอดีตผมเคยเป็นทหารสื่อสารนั่นเอง นายทหารสื่อสารรุ่นเก่า ๆ ท่านเป็นอะไรได้หลายอย่าง ที่ไม่ใช่ทหาร เป็นอธิบดีกรมรถไฟ เป็นผู้ว่าการรถไฟ เป็นผู้ว่าการองค์การโทรศัพท์ เป็นเจ้ากรมพลังงานทหาร เป็นประธานกรรมการธนาคาร เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ แต่ที่โด่งดังมากก็เป็นโฆษกเสียงเสน่ห์แห่งสถานีวิทยุกระจายเสียง จส. ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิค ที่เป็นผู้จัดรายการบันไดดาราและรายการยี่สิบคำถามอันลือลั่น กับหัวหน้าฝ่ายจัดรายการของ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า เมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว นี่เอง

ความจริงทหารสื่อสาร ที่โอนไปรับราชการทางกรมตำรวจนั้นมีอยู่หลายท่าน แต่ที่ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจนั้น มีอยู่คนเดียว ซึ่งจะนำมาเล่านี้ก็คือ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร

ราชทินนามของท่าน ก่อนที่จะยกเลิกการใช้บรรดาศักดิ์ก็คือ ขุนไสวแสนยากร ท่านก็เป็นมาแล้วหลายอย่างเหมือนกัน พลตรี ประสิทธิ์ ชื่นบุญ อดีตเจ้ากรมการทหารสื่อสาร และอดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่องเจ็ดขาวดำ และช่องห้าปัจจุบัน ได้กล่าวไว้ว่า

สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งจเรทหารสื่อสารอยู่นั้น ท่านได้ปรับปรุงงานของเหล่าทหารสื่อสาร ซึ่งแยกตัวออกจากเหล่าทหารช่าง ให้ทันกับความเจริญของเหล่าทหารสื่อสาร ของกองทัพบกชาติอื่น ๆ ท่านยังมองการณ์ไกลไปอีกว่า บ้านเมืองไทยนั้นทหารกับประชาชนแยกกันไม่ออก นอกจากจะแยกกันไม่ออกแล้ว ทหารยังมีความจำเป็นที่จะช่วยรัฐโดยนำเอาประชาชนมาเป็นพวกเดียวกับรัฐ ไม่แยกไปจากรัฐ วิธีการที่จะทำได้วิธีหนึ่งก็คือ การประชาสัมพันธ์ให้ถึงประชาชน อย่างน้อยก็ประชาชนที่ทำงานร่วมกับทหาร ประชาชนที่อยู่ใกล้ทหาร ให้มีความเข้าใจรัฐ ฉะนั้นท่านจึงได้ดำริตั้งสถานีวิทยุการะจายเสียงสำหรับกองทัพบกขึ้น เป็นครั้งแรกในวงการทหารไทย ซึ่งตั้งชื่อว่า สถานีวิทยุ จส. ขึ้นอยู่ในกรมการทหารสื่อสาร


ภายหลังเมื่อได้ทดลองกิจการกระจายเสียงแห่งนี้ ว่าเป็นผลดีตามที่คิดไว้ ท่านก็คิดไกลออกไปอีกว่า กิจการโทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่มีคุณค่ายิ่งอันหนึ่ง จึงเสนอเรื่องต่อท่านผู้บัญชาการทหารบก (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ซึ่งท่านผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนด้วยดี ท่านจึงได้รีบดำเนินการและเปิดสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ) ออกอากาศเป็นครั้งแรกที่สวนอัมพรในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๑ และดำเนินการเรื่อยมา ได้เปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๕ ในเวลาต่อมา

กิจการด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบกทั้ง ๒ แห่งนี้ เป็นสื่อมวลชนที่ทำประโยชน์เอนกประการแก่กิจการทหารตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

ในด้านพลเรือนครั้งหนึ่งท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดจังหวัดหนองคาย (ในระยะที่มีปัญหาระหว่างประเทศด้านลาว) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการธนาคารทหารไทย ตราบจนวาระสุดท้ายชีวิตของท่าน

พันเอก แสง จุละจาริตต์ อดีตทหารสื่อสารและอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงเรื่องการเป็นปลัดจังหวัด ของพลเอก ไสว ไสวแสนยากร ไว้ว่า

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อเกิดกรณีพิพาทเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส นาย จันทา ราษฎรไทยได้ถูกตำรวจฝ่ายฝรั่งยิงตายที่เวียงจันทน์เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๓ และเหตุการณ์ได้ขยายตัว รนุนแรง จนมีการสู้รบกันทั้งทางบกเรือและอากาศ

ต่อมาวันหนึ่ง พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ หัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร และอธิบดีกรมรถไฟในขณะนั้น ได้ปรารภ ว่า พลตรี หลวงพิบูลสงคราม กลุ้มใจในการหาคนสักคนหนึ่งที่เป็นเชื้อพระวงศ์ทางหลวง พระบางหรือเวียงจันทน์ เพื่อจะมอบให้ไปทำงานเฉพาะที่ชายแดนกับประเทศลาว ได้มีผู้เสนอชื่อคุณหลวงท่านหนึ่ง แต่คุณหลวงพิบูลไม่ชอบ บอกว่าคุณหลวงคนนั้นขี้เมา แสงพอจะรู้จักใครบ้างไหม ผมก็เลยเรียนท่านไปว่า ผู้กองไสวนี่แหละครับ ไม่ต้องไปหาใครที่ไหนอีกแล้ว คุณหลวงเสรีท่านถามว่าจริงหรือ

พันเอก แสง จุละจาริตต์ ได้เล่าเรื่องนี้ย้อนหลังไปว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ท่านรับราชการและมีบ้านพักอยู่ในบริเวณกองโรงเรียนทหารสื่อสาร สะพานแดง (กรมการทหารสื่อสารในปัจจุบัน) ขุนไสวและท่านมีบ้านพักใกล้กันวันหนึ่งเมื่อท่านกลับจากการฝึกจะเข้าบ้านพัก ขุนไสวได้เรียกเข้าไปคุยและถามว่า เรื่องสัมพันธภาพระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่ผมเขียนลงวาสารทหารบกต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายเดือนทำไมจึงหายไป ท่านก็บอกว่าทางกองทัพบกขอให้ระงับไว้ก่อน เพราะอาจจะกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสได้


ขุนไสวจึงถามว่า คุณแสงเขียนมาถึงประเทศลาวและมีกล่าวถึงเจ้าอุ่นคำด้วย คุณแสงใช้หลักฐานมาจากหนังสืออะไร ท่านก็บอกว่าได้สั่งหนังสือมาจากประเทศฝรั่งเศส โดยสั่งที่ร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคาร (พันเอกแสงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกฝรั่งเศส) และบอกว่ามีภาพเจ้าอุ่นคำในหนังสือนั้นด้วย ขุนไสวได้สนใจขอดูหนังสือนั้น ท่านจึงได้ข้ามถนนไปหยิบหนังสือเล่มดังกล่าวจากบ้านพัก มาเปิดตรงหน้าที่มีภาพเจ้าอุ่นคำให้ดู ขุนไสวดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วน้ำตาก็ไหลและบอกว่า คุณแสงอย่าบอกให้ใครรู้นะ เจ้าอุ่นคำตามภาพนี้เป็นปู่ของผมเอง

พันเอกแสงเล่าว่าท่านก็ลืมไปสนิทเหมือนกันว่า ท่านขุนไสวแสนยากรที่ท่านได้รู้จักเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ นั้น ชื่อ ไสว อุ่นคำ และใน พ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนไสวแสนยากร จากนั้นในวงราชการและวงสังคมก็เรียกกันตามนามบรรดาศักดิ์หมด

ขุนไสวเล่าให้ท่านฟังสั้น ๆ ว่าคุณปู่มีบุตรชายหลายคน ได้ส่งบุตรชายคนหนึ่งมาอยู่เมืองไทย ลูกชายคนนั้นมาเล่าเรียนและรับราชการในเมืองไทย ลูกชายคนนั้นคือคุณพ่อของท่านขุนไสว

จากนั้นคุณหลวงเสรีเริงฤทธิ์ก็ไปพบคุณหลวงพิบูลสงคราม ผลก็คือ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกคำสั่งแต่งตั้ง พันตรี ขุนไสวแสนยากร ไปเป็นปลัดจังหวัดหนองคาย และข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายระยะนั้นคือ พันตรี หลวงยุทธสารประสิทธิ์ เมืองหนองคายมีปลัดจังหวัดอยู่แล้วหนึ่งคนชื่อ คุณพรหม สูตรสุคนธ์ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นแถวหน้านำ ของกระทรวงมหาดไทย และรับราชการควบคู่กับ พันตรี ขุนไสวแสนยากร

แล้วขุนไสวแสนยากรก็ได้รับภารกิจ ลับ-เฉพาะ ให้ข้ามไปปฏิบัติการทางฝั่งเมืองเวียงจันทน์ ด้วยความเป็นเชื้อพระวงศ์ของประเทศลาวนั้นเอง

พันเอก ไสว ไสวแสนยากร ได้ดำรงตำแหน่ง จเรทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ เลื่อนยศเป็น พลโท ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ ๒ และ ผู้บัญชาการภาคทหารบกที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ เลื่อนยศเป็น พลเอก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐

พลเอก ไสว ไสวแสนยากร ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ในระยะที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการดำรงตำแหน่งแทน พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ท่านได้กล่าวในที่ประชุมนายตำรวจเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๐๐ มีความบางตอนว่า

...........เรื่องทั้งหลายผมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ผมได้บอกคุณหลวงโชติ ฯ แล้ว ความหลังของท่านทั้งหลายผมจะไม่คิดเลย แล้วเป็นแล้วกันไป ไม่ใช่ธุระของผม ถ้าผมมาอยู่ที่นี่นับแต่วันนี้ไป ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อันนี้พูดกันใหม่ เป็นเรื่องใหม่ ที่แล้วผมไม่เกี่ยว เพราะว่าเรายังไม่เคยเกี่ยวข้องกันเลย และไม่เรียกว่าอโหสิ ไม่เอาเรื่องเอาราวที่แล้วมา ผมขอตั้งต้นใหม่ทั้งหมดต่อแต่วันนี้ไป มีเรื่องมีราวอะไรก็ว่ากันไปตาม หน้าที่ทีเดียว มีอะไรก็ว่ากันไป ในเรื่องนี้ หมายความว่าขอให้ท่านทุกคนเบาใจ..............

.........อีกเรื่องหนึ่งก็หนังสือพิมพ์อีกละ ถามว่าถ้าบรรดาผู้มีความประพฤติผิดที่แล้ว ๆ มาจะเอาเรื่องเอาราวไหม ? อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องรักษากฎหมาย ก็อย่างที่ผมพูดง่าย ๆ ว่า (ขอโทษ) ที่ว่าผู้ใดทำกรรมไว้ก็ย่อมได้รับกรรม ก็คือต้องพิจารณาไปตามตัวบทกฎหมาย ผิดก็ผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด นั่นเป็นเรื่องภายหลัง ถ้าเราจะย้อนหลังก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือเป็นไปตามรูปคดี.........

เรื่องที่ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร เป็นอธิบดีกรมตำรวจนี้ พลเอก บุญเสริม อายุวัฒน์ ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิท ของผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ – ๒๕๐๔ ได้เขียนไว้ว่า

..............การเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ตอนนี้ผู้เขียนเองไม่ได้ติดตามท่านไปอยู่กรมตำรวจด้วย แต่ทราบเรื่องเป็นอย่างดี ในตอนหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น คือการไปอยู่กรมตำรวจครั้งนั้นหมายถึงการไปนั่งบนคมหอกคมดาบดี ๆ นั้นเอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจสูงสุดของกรมตำรวจโดยตรง จึงมองหาผู้ที่จะสืบตำแหน่งไม่ได้ เพราะไม่มีใครพอใจที่จะไปนั่งบนคมหอกคมดาบดังกล่าว แต่ท่านผู้นี้ไม่กลัวคมหอกคมดาบ คล้ายกับเชื่อดีว่าคุณธรรมในตัวท่าน เป็นเกราะที่เหนียวแน่นพอที่จะคุ้มกันอันตรายได้ และก็จริงเข่นนั้น คือท่านไปนั่งที่กรมตำรวจอยู่นานโดยไม่เดือดร้อนอะไร ท่านสามารถจะเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้ด้วยความเป็นคนใจดีของท่าน จนสร้างความแปลกใจให้แก่คนทั่วไป ซึ่งเคยคิดกันว่าอธิบดีกรมนี้จะต้องเฉียบขาดถึงเลือดถึงเนื้อ อะไรทำนองนั้น และทำให้เกิดความเสียดายแก่บุคคลหลายคนที่นึกว่า รู้อย่างนี้ก็จะไม่ปฏิเสธเลยที่จะไปนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมตำรวจ..........

พลเอก ไสว ไสวแสนยากร ได้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ไปเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจด้วยตนเอง ท่านชี้แจงถึงเรื่องนี้ไว้ เมื่อ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๒ ในที่ประชุมกรมตำรวจ มีความบางตอนว่า

.............ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าปัญหาในเรื่องการใช้คณะรัฐมนตรีนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นประการต้น คือการรู้จักใช้คนนั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่ขุนไสว ฯ ต้องไปอยู่เป็นผู้ว่าการรถไฟนี้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการใช้คน ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าเลือกคนไม่ผิด และมิตรสหายทุกคนเลือกคนไม่ผิด คือคิดว่าท่านขุนไสว ฯ จะเป็นผู้ไปทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองของเราเป็นอันมาก และผลสะท้อนนั้นจะมาสู่ประชาชน คือปัญหาเรื่องการเศรษฐกิจ การขนส่ง ซึ่งนับว่ากิจการอันนี้เป็นกิจการสำคัญ ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดอยู่เวลานี้............

............ในการที่ข้าพเจ้าได้นำถ้อยคำเหล่านี้มากล่าว ก็เพื่อให้ท่านเห็นว่า ขุนไสว ฯ ไม่ได้ถูกข้าพเจ้าลงโทษ หรือมีข้อกินแหนงแคลงใจอะไรหามิได้ เป็นแต่เพียงต้องการให้ไปดำเนินการสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งท่านมิได้วิ่งเต้น แท้ที่จริงตำแหน่งนี้มีผู้วิ่งเต้นขอไปเป็นหลายคน แต่ข้าพเจ้าไม่เอา.........

สุดท้าย พลเอก บุญเสริม อายุวัฒน์ ได้เล่าเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวกับชีวิตของ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร คือ

............หลังจากที่ผู้เขียนพ้นจากหน้าที่นายทหารคนสนิทของท่านแล้ว มีงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำโดยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับท่าน คือได้รับหน้าที่ให้ไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำประเทศลาว ในหน้าที่นี้มีภารกิจซ้อนกันอยู่สองอย่างคือ ภารกิจเป็นผู้แทนทางการทูตของทางการทหารไทย กับเป็นผู้แทนทางการทูตส่วนตัวของ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร กับราชสำนักลาว ภารกิจประการหลังนี้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งราชสำนักลาวเกิดความประสงค์ร่วมกัน ที่จะเชิญท่าน กลับไปช่วยกอบกู้และทำนุบำรุงบ้านเก่าเมืองเดิมของท่าน ผุ้เขียนได้รับมอบหน้าที่ให้กลับมาทาบทามผู้ใหญ่ในวงการบริหารของไทย ซึ่งเมื่อนำเรื่องขึ้นกราบเรียนผู้ใหญ่แล้ว ท่านก็เห็นชอบด้วย แต่เป็นเรื่องที่ผู้อื่นจะตัดสินใจไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของท่านโดยตรง จึงตกเป็นพนักงานผู้เขียนนำความกราบเรียนท่าน

เมื่อกราบเรียนแล้วผู้เขียนต้องเงียบงัน แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ยุติลงเพียงนั้น คือท่านกล่าวเป็นทำนองว่า ท่านมาอยู่เมืองไทยแต่เล็กแต่น้อย รับประทานข้าวบนแผ่นดินไทยมามาก ท่านอยากจะขอตายอยู่บนแผ่นดินผืนนี้

ลึกเข้าไปในความเงียบงันแห่งความรู้สึกของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนมองเห็นความสุกสว่างแห่งคุณธรรมที่หาได้ยากมาก สำหรับโลกมนุษย์ยุคปัจจุบัน นั่นคือความเป็นผู้รู้จักพอ เขาอยากจะเอาวอทองมารับท่าน แต่ท่านอ้อนวอนขออยู่อย่างสงบ แม้จะไม่ใหญ่โตอะไรนักก็ตามที........

พลเอก ไสว ไสวแสนยากร มีพี่น้องคือ

เจ้าศรีสว่าง ถึงแก่กรรมที่หลวงพระบาง

เจ้าศรีสวัสดิ์ รองอำมาตย์โท ขุนศรีสวัสดิ์ประภา ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑

เจ้าศรีแสวง เคยรับราชการเป็นทหารเรือ และกองการประปากรุงเทพ

เจ้าศรีไสว คือ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร ท่านเกิดเมื่อ ๘ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓

ท่านคือทหารสื่อสารคนแรกและเพียงคนเดียว ที่เข้าไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ในวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง และปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยทุกประการ.

 

 

Credit: เจียวต้าย
15 ก.ค. 53 เวลา 22:01 5,092 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...