http://www.catdumb.com/lobster-war-044/
ทุกครั้งที่เราพูดถึง ‘ล็อบสเตอร์’ เราจะนึกถึงกุ้งตัวโตๆ เนื้อแน่นๆ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแสนอร่อย แต่เราเคยรู้กันไหมว่าเจ้ากุ้งก้ามโตนี้มันเคยเกือบเป็นต้นเหตุของสงครามระหว่างสองประเทศ ด้วยเหตุที่ว่ามันว่ายน้ำหรือมันคลานกันแน่!? เรื่องราวดังกล่าวนั้นต้องย้อมกลับไปในปี 1961 โดยชาวประมงของฝรั่งเศสได้ค้นพบเส้นทางการตกล็อบสเตอร์จำนวนมากบริเวณน่านน้ำของประเทศบราซิล ซึ่งบริเวณดังกล่าวสามารถสร้างกำไรให้กับชาวประมงฝรั่งเศสได้ดีมากๆ ด้วยความที่น้ำตื้นและจับง่าย ถึงขนาดที่เกิดเป็นกระแส จนต้องพาพวกมาตั้งถิ่นฐานกันเลยทีเดียว
ทว่าต่อมาหลังจากชาวประมงบราซิลได้รู้เรื่องเข้า ว่ามีชาวประมงฝรั่งเศสมาตั้งรกรากจับล็อบสเตอร์บริเวณใกล้กับน่านน้ำบราซิล ชาวประมงบราซิลจึงแจ้งไปยังทหารเรือให้ไปช่วยตรวจสอบให้หน่อย ซึ่งพบกับขบวนการค้าล็อบสเตอร์ฝรั่งเศสที่นั่นจริงๆ ด้วยเหตุนี้ทางการบราซิลจึงแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ด้วยการแจ้งไปยังฝรั่งเศสว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์มาจับสัตว์ที่ ‘เดิน’ อยู่บนพื้นในน่านน้ำของบราซิล ซึ่งก็คือล็อบสเตอร์นั่นเองและพวกเขายังบอกว่าพวกมันเป็นของบราซิลเพียงผู้เดียว
งานนี้ฝรั่งเศสจึงยอมไม่ได้ที่อยู่ดีๆ พวกเขาก็มาถูกอ้างสิทธิ์ จึงโต้กับทางการบราซิลด้วยเหตุผลสุดคูลว่า “ล็อบสเตอร์มันว่ายน้ำต่างหาก มันไม่ได้เดินหรือคลานสักหน่อย ที่สำคัญมันควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคนได้จับนะ”
ด้านทางการบราซิลก็หัวร้อนสิครับงานนี้ ออกมาโต้ว่า “ล็อบสเตอร์มันคลานจริงๆ โว้ยย ไม่ได้ว่ายน้ำซะหน่อยที่สำคัญมันยังเดินอยู่ในน่านน้ำของเรา ฉะนั้นมันก็ต้องเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของชาวประมงบราซิล”
ปัญหา ‘ล็อบสเตอร์ว่ายน้ำหรือคลาน’ กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรง แถมยังหนักข้อขึ้นไปอีกจนเรื่องบานปลายอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่ว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่ทางการบราซิลขอร้องให้เรือประมงฝรั่งเศสช่วยย้ายออกไป
แต่เรือประมงฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอม แถมยังเหิมเกริมไปขอให้ทางการส่งเรือเดสทรอยเยอร์มาจมเรือประมงบราซิลอีก แล้วพวกคุณคิดว่าบราซิลจะรับมือยังไง? แน่นอนว่าบราซิลไม่ยอมอยู่แล้ว แถมยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบอีกจำนวนมากมารอบริเวณน่านน้ำดังกล่าว เรียกว่าใครเปิดก่อนก็ยาวแน่ๆ
ถึงจะฮึ่มๆ กันอย่างไร สองประเทศมหาอำนาจที่หัวกำลังลุกเป็นไฟเพราะล็อบสเตอร์แสนอร่อย ก็ได้แต่ดูท่าทีกันไปมายังไม่มีใครเลือกจะเปิดฉากก่อน ซึ่งในเวลาเดียวกันทั้งสองก็ยังคงมีการตกลงกันตลอดเวลาว่าการจับล็อบสเตอร์ของฝรั่งเศสมันไม่ผิด โดยฝรั่งเศสยังคงอ้างว่า “พวกเราจับล็อบสเตอร์ตอนที่มันว่ายน้ำ เท้ามันไม่ได้แตะพื้นของบราซิลสักหน่อย ฉะนั้นมันไม่นับว่าเป็นล็อบสเตอร์ของบราซิล ฝรั่งเศสไม่ผิด!! มันก็เหมือนปลานั่นแหละ”
ด้านนายพล Paulo Moreira ก็ออกมายอมรับแบบหยอกๆ ว่า “ถ้าล็อบสเตอร์กระโดดในน้ำก็จัดว่าเหมือนปลา แบบนี้ จิงโจ้กระโดดแล้วลอยอยู่บนอากาศก็นับเป็นนกสิ”
อะไรของพวกพี่ครับ เฮ้อออ
การถกเถียงเรื่องล็อบสเตอร์ของสองชาติยังคงดำเนินไม่มีท่าจะหยุด และทั้งสองก็ดูท่าทีกันต่อไป แถมยังกินเวลานานกว่า 2 ปี ไม่มีทีท่าว่าจะจบ อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณสนธิสัญญา UNCLOS จากสหประชาชาติที่ร่างกฎนี้ขึ้นมาในปี 1964 ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศกลับมาคืนดีกันโดยที่ไม่มีการต่อสู้หรือสูญเสียเกิดขึ้น ทุกอย่างก็เลยจบได้อย่างแฮปปี้เอนดิ้ง…ทำให้เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า Lobster War หรือในอีกชื่อว่า Lobster Operation
สนธิสัญญา UNCLOS หรือชื่อเต็มว่า United Nations Convention on the Law of the Sea มีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า บราซิลได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสัตว์ทุกชนิดทั้งว่ายหรือเดินในระยะ 300 กิโลเมตรจากชายฝั่งบราซิลแน่นอนว่ามันฟังดูไม่เป็นมิตรกับฝรั่งเศสเลย
แต่เดี๋ยวก่อน บราซิลก็ไม่ได้ใจร้ายหรอกนะ เพราะว่าในสนธิสัญญานั้นได้ระบุว่าให้ทางการบราซิลสามารถออกใบอนุญาตตามหาล็อบสเตอร์แก่ชาวประมงฝรั่งเศสได้ อย่างไรก็ตามชาวประมงฝรั่งเศสก็ยังต้องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันกับชาวประมงบราซิลด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของความสงบสุขโดยไม่ต้องนองเลือดนั่นเอง
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Lobster_War