ที่มา...ป่อเต็กตึ๊ง
เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ เริ่มทำงานสาธารณกุศลเมื่ออายุ 24 ปี เป็นผู้บุกเบิกมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เมื่อปี 2480
"ป่อเต็กตึ๊ง" หมายถึง "สนองพระคุณ"
ในหนังสือ "อุเทน เตชะไพบูลย์ เจ้าสัว ผู้ปลูกกุศลไว้ในแผ่นดิน" บอกเล่าความเป็นมาโดยย่อของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ว่า แต่เดิมเป็นเพียงคณะเก็บศพไต้ฮงกง พ่อค้าชาวจีน 12 คน ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2452 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
คอยเก็บศพไร้ญาติทุกชาติภาษา ราวปีละ 2,000 ศพ นำไปฝังป่าช้าจีน หรือ "งี่ซัวเต๊ง" ย่านวัดดอน
การเก็บศพของคณะนี้ ดำเนินตามแบบอย่างของ ไต้ฮงโจวซือ หรือไต้ฮงกง พระภิกษุจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง
ไต้ฮงโจวซือ เป็นพระภิกษุนักสังคมสงเคราะห์ และพระนักพัฒนา คอยช่วยเหลือคนยากจน ผู้ประสบภัยพิบัติ ด้วยการแจกทาน ยารักษาโรค เก็บศพไร้ญาติไปฝังพร้อมประกอบพิธีส่งวิญญาณ
ชาวจีนตอนใต้ทุกยุคทุกสมัยเลื่อมใสศรัทธาไต้ฮงกงมานับพันปี พร้อมใจกันสร้างศาลป่อเต็กตึ๊ง เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระคุณท่านถึง 237 แห่งในประเทศจีน และอีก 40 แห่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อร้อยปีก่อน นายเบ๊ยุ่น ชาวจีนแต้จิ๋วอัญเชิญรูปเคารพของท่านมาจากอำเภอเตี้ยเอี้ยมายังกรุงเทพฯ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ศาลป่อเต็กตึ๊ง ถนนพลับพลาไชย
คณะเก็บศพไต้ฮงกงเป็นที่รู้จักดีของชาวกรุงสมัยนั้นว่า "ป๋องแป๋ง" หรือที่พระยาอนุมานราชธน เรียกว่า "เจ๊กต๋องแต๋ง" ตามเสียงสัญญาณที่จีนลากรถเก็บศพเคาะมาตลอดทาง
30 ปีแรก คณะเก็บศพไต้ฮงกงเป็นกิจการขนาดเล็กดำรงอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค แต่ก็แทบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย กระทั่งปี 2480 กลุ่มนักธุรกิจนำโดย เยกวงเอี่ยม แต้จือปิง (บิดาอุเทน) ตันเกงชวน เข้าร่วมกับสมาคมจีนและหนังสือพิมพ์จีน ปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกง
ด้วยจิตที่เป็นกุศลอยู่แล้ว อุเทน เตชะไพบูลย์ ในวัยหนุ่มอาสาเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำเรื่องขออนุญาตจัดตั้ง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เป็นผลสำเร็จเมื่อ 21 ม.ค.2480 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 บาท
เยกวงเอี่ยม เป็นประธานกรรมการคนแรก อุเทนเป็นรองประธาน
อีกสองปีต่อมา เยกวงเอี่ยมซึ่งเป็นแกนนำต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นต่อประเทศจีน ถูกลอบยิงหน้าโรงงิ้วฮั้งจิว ถนนเยาวราช อุเทนในวัยเบญจเพสต้องเข้าแบกรับภาระแทน
"ตอนนั้นผมอายุเพียง 25 ปี ก็หนักใจอยู่มากที่ต้องรับตำแหน่งประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรรมการเขาอาวุโสกว่าผมทุกคน แต่เมื่อตั้งใจไว้แล้วว่าจะทุ่มเทชีวิตเพื่อการกุศล ผมก็เตรียมพร้อม ผมไม่กลัว!"
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งถือกำเนิดและเติบโตขึ้น โดยที่อุเทนเองก็ไม่คิดว่า จะผูกโยงกับชีวิตของตัวเองอย่างแยกไม่ออก
ขณะที่ด้านธุรกิจ อุเทนก็ยืนอยู่บนหลักความพอเพียง ไม่ยึดติดในสมบัติพัสถาน ลาภ ยศ สรรเสริญ
อุเทน เตชะไพูบูลย์ ให้คำนิยามเกี่ยวกับความร่ำรวยในเชิงปรัชญาว่า
"คนที่รู้จักพอ เป็นคนรวยทุกคน!"เก็บเรื่องมาเล่า
งานบรรเทาสาธารณภัย และ ฌาปนกิจ เป็นงานแขนงหนึ่งซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่ไต้ฮงยังมีชีวิต และสืบทอดต่อมาโดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ด้วยแรงศรัทธาสนับสนุนของสาธุชนทั้งหลาย งานบรรเทาสาธารณภัยและฌาปนกิจ ได้ขยายขอบข่ายงานกว้างขวางออกไป มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน และพร้อมมูลด้วยพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย ในระยะแรกทั้งสองส่วนเป็นกิจกรรมที่รับผิดชอบร่วมกันในนาม แผนกบรรเทาสาธารณภัย ปัจจุบันเปลี่ยน
ชื่อว่า “แผนกบรรเทาสาธารณภัย-ฌาปนกิจ”
แผนกบรรเทาสาธารณภัย
ที่รู้จักในคำว่า “หน่วยกู้ภัย”
งานบรรเทาสาธารณภัย ในระยะแรกเรียกกันว่า หน่วยกู้ภัย ซึ่งยังติดปากกันถึงทุกวันนี้แม้จะเปลี่ยนชื่อมาแล้วนานแสนนาน ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจทหาร หรือ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไม่ว่าจะเรียกขานในนามใดหน้าที่ของพวกเขาก็คงเดิมกล่าวคือ
2. เมื่อมีอุบัติภัยที่กระทบกับมวลชนเป็นวงกว้าง มูลนิธิฯ ถือเป็นภารกิจที่ต้องยื่นมือเข้าบรรเทา ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ทั่วทุกจุดของประเทศ เมื่อได้รับการตรวจสอบแล้วจะรีบรุดไปปฏิบัติภารกิจนั้นทันที เช่น เพลิงไหม้ / ภัย สึนามิ / ตึกถล่ม ฯ
3. ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกภาพพยานหลักฐานประกอบคดี ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาพื้นที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี
4. บริการประชาชนในในงานต่าง ๆ เช่น แนะนำขั้นตอน - ระเบียบต่าง ๆ ในการแจ้งเพื่อทำใบมรณบัตรช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอ เช่น ช่วยจับงูเงี้ยวเข้าบ้าน ช่วยลากรถที่เสียไปหาช่าง
5. การนำผู้บาดเจ็บ ณ ที่เกิดเหตุส่งสถานพยาบาลเพื่อเยียวยาช่วยชีวิต มีบุคลากร และ อุปกรณ์ พร้อมมูล สามารถดำเนินการช่วยชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ หรือ นำส่งโรงพยาบาล ซึ่งมูลนิธิฯ มีทั้ง รถพยาบาลช่วยชีวิตขั้นสูง(รถAdvance)ในนามหัวเฉียวพิทักษ์ชีพประจำที่โรงพยาบาลหัวเฉียว และ กู้ชีพขั้นพื้นฐาน(รถ Basic) ในนาม ป่อเต็กตึ๊งพิทักษ์ชีพ ขึ้นกับแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ
การพัฒนาการในงานเก็บศพ ของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
เมื่อ 100 ปีก่อน กรุงเทพ ยังไม่เจริญ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็น คู คลอง เต็มไปด้วยเรือกสวนผลไม้อุดมสมบูรณ์ ประชาชนสัญจรทางเรือ พายเรือหรือแจวขึ้นล่อง การเก็บศพทางน้ำ ก็อาศัยเรือชาวบ้านนำศพขึ้นฝั่งแล้วนำขึ้นรถลาก ซึ่งเป็นรถที่มูลนิธิ ฯ สร้างขึ้นเอง ลักษณะคล้ายเกวียนขนาดเล็ก ล้อไม้ 2 ล้อ มีหลังคา มีช่องพอดีสำหรับวางหีบศพ ใช้คนลาก 1 คน ช่วยดันข้างหลังอีก 1 คน ระหว่างทางนำศพไปฝังจะเคาะกระป๋องขอทางคล้ายระฆังดัง“ป๋องแป๋ง ๆ” เสียงวังเวง ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกรถเก็บศพ ว่า รถ“ป๋องแป๋ง” เรียก ป่อเต็กตึ๊ง ว่า มูลนิธิป๋องแป๋ง
ต่อมาในสมัยรัชการที่ 5- 6 บ้านเมืองพัฒนาเจริญขึ้น การตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้นมากมาย ถนนเจริญกรุงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จ มีรถรางวิ่งจากหลักเมือง สุดทางที่ถนนตก การสัญจรสะดวกสบายขึ้น แต่รถยนต์มีน้อยนับคันได้ รถเก็บศพของป่อเต็กตึ๊งยังเป็นรถลากเช่นเดิม และมีรถสามล้อเพิ่มขึ้นมา
รถสามล้อที่ปัจจุบัน เรียกว่าสามล้อแดงที่ชาวบ้านใช้ส่งสินค้า ส่งน้ำแข็ง ตามตรอกซอกซอยในปัจจุบันนั่นเอง แต่คงใช้ไม่สู้สะดวก ต่อมาจึงใช้รถยนต์ตู้ และ รถปิคอัพแทน ส่วนเรือเก็บศพทางน้ำ ได้เปลี่ยนจากเรือพายขนาดเล็ก เปลี่ยนเป็น เรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ เจ้าหน้าที่เก็บศพทางน้ำมีเครื่องมือมนุษย์กบ มีเครื่องช่วยหายใจ ส่วนการกู้ภัยทางบกนั้นมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น มีเครื่องตัดถ่าง เครื่องปั๊มลม มีรถกู้ภัยเอนกประสงค์ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับงานกู้ภัย มีหัวฉีดน้ำ และ ถังบรรจุน้ำสำหรับงานดับเพลิง มีดวงโคมขนาดใหญ่กำลังไฟหลายพันแรงเทียน สำหรับใช้งานพื้นที่เกิดเหตุที่ต้องการแสงสว่างสูง เป็นต้น
การติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจ กับ หน่วยกู้ภัย ก็รวดเร็วขึ้น มีการประสานการฏิบัติงานด้วยการสื่อสารทันสมัย ผ่าน ศูนย์วิทยุกรุงเทพฯ ที่ตั้งขึ้นมานั้น มีส่วนอย่างมากในการเกื้อหนุนงานกู้ภัยให้ได้รับความสำเร็จสมดังเจตนาคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ คาดหวังไว้.