read:http://petmaya.com/23-illegal-wildlife-trade-photos
Photographers Against Wildlife Crime หรือ “ช่างภาพร่วมต่อต้านอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า” คือชื่อของโครงการใหม่ล่าสุดที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มช่างภาพมือรางวัลระดับนานาชาติ ที่ตัดสินใจใช้ภาพถ่ายของพวกเขาในการต่อต้านขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมาย
การลักลอบค้าสัตว์ป่า ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากที่สุดบนทุกพื้นที่ของโลกเทียบเท่ากับการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ ซึ่งบรรดาช่างภาพเหล่านี้มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ข้อความสำคัญ เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เนื่องจากยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง เบรนต์ สเตอร์ตัน หนึ่งในช่างภาพของกลุ่มได้ให้ความเห็นว่า “มันยังแก้ไขได้” และนี่ก็คือภาพผลงานส่วนหนึ่งของพวกเขา ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้อย่างชัดเจนที่สุด
1. สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มต่อต้านขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่มีแต่ผู้หญิงล้วน กำลังทำหน้าที่ของเธอไปพร้อมๆ กับหน้าที่ของคนเป็นแม่
2. อาสาสมัครที่มาช่วยดูแลลูกแรดกำพร้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการโดนไฮยีน่าโจมตี เนื่องจากแม่ของมันถูกสังหารโดยกลุ่มล่าสัตว์
3. กอริลลาที่อยู่ในอ้อมกอดของผู้ดูแล กำลังนั่งรถไปยังศูนย์ช่วยเหลือวานรแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าในประเทศแคเมอรูน
4. งาช้างที่มีน้ำหนักรวมกว่า 105 ตัน ถูกเผาทำลายทิ้งในอุทยานแห่งชาติไนโรบี ในประเทศเคนย่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2016 ซึ่งถือเป็นการเผาทำลายงาช้างครั้งใหญ่ที่สุด
5. ช้างแอฟริกันกับควาญช้างที่แคมป์อาบู ช้างเหล่านี้กำพร้าและถูกเลี้ยงดูให้เติบโตจนพร้อมที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก
6. ลูกกอริลลากำพร้า ที่ถูกวางขายอยู่ในตลาดมืดแห่งหนึ่งในประเทศแคเมอรูน มันถูกช่างภาพซื้อมาเพื่อนำตัวส่งไปยังศูนย์ช่วยเหลือที่อยู่อีกฟากของประเทศ ก่อนที่จะเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
7. ธานดี แรดขาวเพศเมียที่สูญเสียนอของเธอจากการถูกล่า นี่คือสัญลักษณ์แห่งการอยู่รอดของแรดในแอฟริกา
8. โทนี ฟิตซ์จอห์น กับเจ้า จิป สิงโตกำพร้า ที่เขาใช้เวลาดูแลถึง 3 ปีเต็มก่อนที่มันจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และถูกปล่อยกลับไปยังป่า แต่เพียงไม่นานหลังจากถ่ายภาพนี้ มันก็ถูกฆ่าตายโดยนักล่าสัตว์
9. จิ้งจอกเฟนเนก ถูกระบุว่าเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าขาย แต่นี่คือลูกจิ้งจอกเฟนเนกวัย 3 เดือน ที่ถูกวางขายอยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง ทางตอนใต้ของตูนีเซีย
10. พื้นที่ป่าอเมซอนในประเทศบราซิลบางส่วน ถูกเผาทำลายเพื่อนำพื้นที่ไปทำฟาร์มปศุสัตว์
11. วิธีการป้อนอาหารให้กับลูกนกอินทรี ที่ศูนย์ดูแลนกอินทรีในฟิลิปปินส์ โดยลูกนกอินทรีเหล่านี้สูญเสียที่อยู่อาศัยเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า
12. เสือโคร่ง 2 ตัวที่อยู่ร่วมกันได้ในอุทยานแห่งชาติ Ranthambhore ในประเทศอินเดีย โดยปัจจุบันมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในป่าน้อยกว่า 4,000 ตัว เนื่องจากความต้องการอวัยวะต่างๆ ของพวกมันในตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
13. ช้างสีดอตัวหนึ่งในอุทยานแห่งชาติ Chitwan ในประเทศเนปาล ถูกจับล่ามโซ่ในท่านั่ง โดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มันสังหารควาญช้างไปแล้วถึง 5 คน
14. ศัตรูของหมีขาวไม่ใช่แค่สภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งละลาย แต่ยังมีการคุกคามจากมนุษย์ที่อันตรายยิ่งกว่าหลายเท่า โดยในทุกๆ ปี มีหมีขาวหลายร้อยตัวที่ถูกถลกหนังจากในแคนาดา ถูกส่งไปยังจีน
15. ภาพถ่ายมุมสูงเขต Altamira ในป่าอเมซอน ประเทศบราซิล ที่แสดงให้เห็นถึงการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างชัดเจน
16. ซากตัวนิ่มกว่า 4,000 ตัว ที่ถูกพบว่าซ๋อนอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเรือบนเกาะสุมาตรา โดยตัวนิ่มเหล่านี้เป็นที่ต้องการของชาวจีนที่มีความเชื่อดั้งเดิมว่า ตัวนิ่มคือยาบำรุงชั้นดี
17. เต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่และกำลังคืบคลานกลับลงทะเลในเขตหมู่เกาะเวอร์จิน โดยเต่ามะเฟืองถือเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด และว่ายน้ำได้ไกลที่สุด
18. ปลาฉลามหางยาวที่ถูกจับได้ในเขตทะเลคอร์เตส ประเทศเม็กซิโก โดยมีฉลามมากกว่า 10 ล้านตัวที่ตกเป็นเหยื่อของนักตกปลา รวมถึงการถูกจับไปทำซุปหูฉลาม
19. สัตว์ป่า หรือ สินค้า ? พรมหนังหมีขั้วโลก เป็นหนึ่งในสิ่งของผิดกฏหมายจำนวนกว่า 1.5 ล้านรายการที่ถูกพบในโคโลราโด
20. ลิงอุรังอุตังจากคณะละครสัตว์นานาชาติ Chimelong ในประเทศจีน ที่ต้องขึ้นแสดง 3 รอบต่อวันพร้อมๆ กับตัวตลก ลิงอุรังอุตังถือเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และลิงอุรังอุตังตอนเป็นทารกมักจะถูกขายเป็นสัตว์เลี้ยงหรือในอุตสาหกรรมบันเทิง
21. สภาพของลีเมอร์หางแหวนที่ใกล้สูญพันธุ์ในสวนสัตว์ Whenzou ในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในปัจจุบันนี้ นักอนุรักษ์เชื่อว่า มีลีเมอร์หางแหวนเหลือเพียง 2,000 ตัวในป่าเท่านั้น เนื่องจากการบุกรุกป่าและการล่าสัตว์
22. ภาพของครีบฉลามจำนวนมากที่ถูกตัดออกไปทำซุปหูฉลาม หลายคนที่ชอบรับประทานอาจไม่รู้ว่าที่มาของมันช่างน่าหดหู่ยิ่งนัก
23. เท้าของแรด เพศผู้ เพศเมีย และลูกแรด ที่ถูกตัดออกมาโดยขบวนการล่าสัตว์ป่าผิดกฏหมาย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าผิดกฏหมายจำนวน 1.3 ล้านชิ้นในคลังสินค้าที่โคโลราโด
ที่มา http://www.photographersagainstwildlifecrime.com/