19 ความจริงเกี่ยวกับยอดนักสืบ "เชอร์ล็อก โฮล์มส์" ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

read:http://www.wtfintheworld.com/2017/10/23/19-facts-of-sherlock-holmes/

วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเกิดของเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ นักเขียนชาวสก๊อตเจ้าของผลงาน “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” ต้นแบบของนิยายสืบสวนที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน สำหรับวันนี้เราจะมารู้จักเชอร์ล็อกให้มากขึ้นกันดีกว่า และนี่คือ 19 ความจริงเกี่ยวกับยอดนักสืบ “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

#1 A Study in Scarlet ถูกปฏิเสธมา 3 ครั้ง

เชอร์ล็อก โฮล์มส์ปรากฏตัวในนวนิยายสั้นของเซอร์อาเธอร์เรื่อง A Study in Scarlet ซึ่งถูกสนพ.ต่างๆ ปฏิเสธตีพิมพ์ถึง 3 แห่ง จากนั้นเขาเลยส่งนิยายเรื่องนี้ให้สนพ. Ward Lock & Co. หัวหน้ากองบก. เลยเอาต้นฉบับให้ภรรยาตัดสิน ภรรยาของเขาชอบผลงานของเซอร์อาเธอร์มาก และยังบอกอีกว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็น “นักเขียน” เชอร์ล็อก โฮล์มส์จึงถือกำเนิดได้ในที่สุด

#2 ความสำเร็จมาจากซีรี่ส์

เราอาจเข้าใจว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์แต่ละตอนนั้นตีพิมพ์เป็นเล่ม จริงๆ แล้วมีแค่ A Study in Scarlet กับ The Sign of Four ซึ่งเป็นนวนิยายสั้นเท่านั้นที่ได้พิมพ์แยกเป็นเล่ม หลังจากสองเรื่องนี้ เซอร์อาเธอร์มีไอเดียใหม่ เขาตัดสินใจเขียนเรื่องของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในรูปแบบของตอนสั้นๆ ลงในนิตยสาร The Strand ของอังกฤษ โดยแต่ละตอนยังคงมีตัวละครตัวเดิม นั่นคือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ กับดอกเตอร์วัตสัน คอยคลี่คลายคดีที่จบในตอน ไอเดียนี้ของเซอร์อาเธอร์ถือเป็นเรื่องใหม่และประสบความสำเร็จยิ่งกว่านวนิยายสองเล่มแรกเขาเสียอีก

#3 ขอบคุณอเมริกา ผู้ชุบชีวิตเชอร์ล็อก โฮล์มส์

จริงๆ แล้วคนที่ขอให้เซอร์อาเธอร์เขียนเชอร์ล็อก โฮล์มส์เล่ม 2 คือบก. Ward Lock & Co. ฝั่งอเมริกา เนื่องจากยอดขาย A Study in Scarlet ในอังกฤษไม่ค่อยเปรี้ยงปร้างนัก แต่ The Sign of Four ที่เซอร์อาเธอร์เขียนส่งไปอเมริกานั้นขายได้ค่อนข้างดีทีเดียว (หรือเพราะคนเยอะกว่านะ)

#4 ชื่อจริงของดอกเตอร์วัตสัน

ในดราฟต์แรก เซอร์อาเธอร์ตั้งชื่อคู่หูของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ว่า “ออร์มอนด์ แซกเกอร์” ซึ่งชื่อแปลกประหลาดแบบนี้ก็ดูเข้ากันดีกับชื่อของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ แต่พอคิดไปคิดมา เขาก็เปลี่ยนชื่อคู่หูคนสำคัญนี้เป็นชื่อธรรมดาสุดๆ อย่าง “จอห์น วัตสัน” เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ผู้ไม่ธรรมดา ที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากนิยาย กับดอกเตอร์วัตสันผู้ธรรมดา และเหมือนคนปกติอย่างเราๆ ทั้งยังทำให้คนอ่านเข้าถึงตัวละครได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

#5 จอห์นหรือเจมส์

ถึงแม้เราจะรู้กันว่าชื่อของคู่หูเชอร์ล็อก โฮล์มส์คือ “จอห์น วัตสัน” แต่ในงานเขียนของเซอร์อาเธอร์ มีการเอ่ยถึงชื่อตัวของดอกเตอร์วัตสันเพียง 3 ครั้ง จาก 60 ตอน และไม่เคยพูดถึงชื่อกลางของดอกเตอร์วัตสัน ที่ย่อมาจากตัว H. เลยด้วย

แต่ในตอน “The Man with the Twisted Lip” ภรรยาของดอกเตอร์วัตสันเรียกชื่อสามีตัวเองว่า “เจมส์” ซึ่งนักเขียนรหัสคดีคนหนึ่งเดาว่าชื่อเจมส์นี้ น่าจะสื่อถึงชื่อกลางของดอกเตอร์วัตสัน เนื่องจากคำว่าเจมส์ ในภาษาดั้งเดิมของชาวเซลติกคือ Seumais ซึ่งคำนี้พอแปลงให้อ่านออกเสียงแบบอังกฤษได้จะเป็น Hamish ตรงกับชื่อกลางของจอห์น วัตสันนั่นเอง (แม้แต่ชื่อตัวละครยังซับซ้อนเลย)

ในซีรี่ส์ Sherlock ของบีบีซี ก็มีฉากหนึ่งที่วัตสันแหย่เชอร์ล็อก โฮล์มส์โดยการแนะนำชื่อ “เฮมิช” ให้เผื่อเชอร์ล็อก โฮล์มส์จะเอาไปตั้งชื่อลูก

#6 เชอร์ล็อก โฮล์มส์ก็มีเรื่องที่ไม่รู้เหมือนกัน

แม้ว่านักสืบคนนี้จะเป็นเจ้าแห่งศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการสืบสวนคดี แต่อะไรที่ไม่สำคัญในการสืบสวนเขาก็ไม่รับรู้เลย เช่น ในฉากหนึ่งของ A Study in Scarlet หลังจากเชอร์ล็อก โฮล์มส์รู้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาก็บอกว่าจะลืมมันเสีย ทำให้วัตสันตกใจมาก

โฮล์มส์อธิบายว่า เขามองสมองมนุษย์เป็นเหมือนห้องใต้หลังคาขนาดเล็ก และเจ้าของห้องนั้นต้องเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่จะใส่เข้าไปในพื้นที่นั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งเขาคิดว่าจะโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หรือหมุนรอบดวงจันทร์ ก็ไม่ได้มีผลต่อแนวทางการสืบสวนของเขา จะจำให้รกสมองทำไม ก็จริงนะ…

#7 ไอคิวที่แท้จริงของเชอร์ล็อก โฮล์มส์

ทุกคนรู้ว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ฉลาดมาก และความคิดของเขาออกจะ…เกินกว่าที่คนธรรมดาอย่างเราจะเข้าใจ มีหรือที่คนจะไม่อยากรู้ว่าถ้านักสืบคนนี้เป็นคนในโลกแห่งความจริงเขาจะมีไอคิวเท่าไร จอห์น แรดฟอร์ด ทำการทดสอบนี้และได้ข้อสรุปว่าเขามีไอคิวราว 190

เอาล่ะ เราๆ ท่านๆ มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 100-110 อันนี้เป็นไอคิวมาตรฐาน ส่วนบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่มีไอคิวสูงก็เช่น กาลิเลโอ (185) เรอเน่ เดส์การ์ต (180) ชาร์ลส์ ดาร์วิน (165) โมซาร์ท (165) ไอสไตน์ (160) ดังนั้นไอคิวระดับเชอร์ล็อก โฮล์มส์จึงถือว่าสูงที่สุดในโลก

#8 ไอรีน แอดเลอร์ ไม่เคยเห็นตัวจริงของเชอร์ล็อก โฮล์มส์

ในแต่ละตอนของซีรี่ส์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (ที่เซอร์อาเธอร์เขียน) ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ไอรีน แอดเลอร์ได้พบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในสภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์จริงๆ ทุกครั้งที่เจอกัน เขาต้องกำลังปลอมตัวอยู่เสียร่ำไป ไม่เป็นนักบวชก็เป็นหนุ่มขี้เมา แถมไม่เคยได้คุยกันตัวต่อตัวอีกต่างหาก

#9 หมวกแก๊ปล่าสัตว์ ไปป์สุดหรู และคำพูดติดปาก

ที่กล่าวมาในหัวข้อนั้นไม่มีในเชอร์ล็อก โฮล์มส์ฉบับดั้งเดิมของเซอร์อาเธอร์เลย เชอร์ล็อก โฮล์มส์แต่เดิมนั้นไม่ได้สวมหมวกแก๊ปล่าสัตว์แบบที่เราเห็นเป็นสัญลักษณ์ แต่สวมหมวกผ้าทรงวิคตอเรียน และสูบไปป์ Clay briar ทรงตรง ไม่ใช่ Calabash ทรงโค้ง อีกทั้งยังไม่มีคำพูดติดปากอย่าง “Elementary, My Dear Watson!” อีกด้วย

แต่คนที่ทำให้ภาพลักษณ์นี้ติดตาคนดูคือ วิลเลียม ยิลเล็ต นักแสดงชาวอเมริกันที่รับบทเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทั้งในเวอร์ชั่นละครเวที และหนังเงียบ วิลเลียมคือตำนาน ผู้สร้างภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์เวอร์ชั่นที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้

#10 มีคนชื่อ “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” กี่คนกัน?

เชอร์ล็อก โฮล์มส์ไม่ใช่ชื่อทั่วไป แต่หลังจากที่นิยายเรื่องนี้ดังขึ้นมา ก็มีคนจำนวนหนึ่งตั้งชื่อลูกตามนักสืบชื่อดังนี้ โดยในอเมริกามี 34 คน (จากข้อมูลของ whitepages.com) และ 9 คนในอังกฤษ (จาก findmypast.co.uk)

#11 กลุ่มคนรักเชอร์ล็อก โฮล์มส์เกือบพันกลุ่มทั่วโลก

เมื่อนิยายดัง ก็ต้องมีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก และสำหรับแฟนๆ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ พวกเขาตั้งกลุ่มคนรักเชอร์ล็อก โฮล์มส์เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ จัดกิจกรรมจำลองการสืบสวน และยังมีชื่อกลุ่มแปลกๆ อย่าง เช่น กลุ่มคนไข้ที่วัตสันทอดทิ้ง (เดนเวอร์, อเมริกา) กลุ่มไอรีนทั้งสามและโมริอาร์ตี้ทั้งสอง (อากิตะ, ญี่ปุ่น)

#12 เชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นตัวละครที่มีคนแสดงมากที่สุด

วงการบันเทิงทั้งในอเมริกาและอังกฤษต่างหยิบเชอร์ล็อก โฮล์มส์มาปัดฝุ่นทำใหม่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ หรือซีรี่ส์ ใช้นักแสดงทั้งสิ้น 75 คน สองคนที่เป็นที่พูดถึงในขณะนี้คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ จากเวอร์ชั่นหนังล่าสุดของฮอลลีวู้ด กับเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบชจากเวอร์ชั่นซีรี่ส์ของบีบีซี ที่นำเสนอภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์กับดอกเตอร์วัตสันในยุคศตวรรษที่ 21

 

#13 อัจฉริยะพลาดได้

คดี The Yellow Face จาก The Memoirs of the Sherlock Holmes เป็นคดีหนึ่งที่ข้อสันนิษฐานของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ผิด แต่สรุปถูก จนกระทั่งเฉลยความจริง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ถึงรู้ว่าตัวเองสันนิษฐานผิด

#14 ผู้ริเริ่มทฤษฎีพิสูจน์หลักฐาน

นิยายของเซอร์อาเธอร์นำเสนอทฤษฎีการเก็บหลักฐานเพื่อใช้ในการไขคดีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บลายนิ้วมือ (1890) ซึ่งมีใช้จริงที่อาร์เจนตินาในปี 1892, วิเคราะห์หาต้นกำเนิดของเอกสารจากเครื่องพิมพ์ดีด (1891) ซึ่งเริ่มใช้จริงปี 1894, วิเคราะห์คราบเลือด (1887) เริ่มใช้จริงในปี 1901, หรือการวิเคราะห์ระยะยิง (1893) ที่เพิ่งมีคนวิจัยออกมาได้จริงในปี 1898

#15 รายได้ของนักสืบชื่อดัง

ในนิยายเราไม่ค่อยได้เห็นโฮล์มส์บ่นเรื่องเงินๆ ทองๆ สักเท่าไร ว่าแต่ฐานะของนักสืบคนนี้เป็นยังไงนะ ดูเหมือนว่าเขาก็ไม่ได้ขัดสนอะไรแต่เดิมอยู่แล้วนี่

เราไม่รู้ว่าแต่ละคดีที่โฮล์มส์คลี่คลายนั้นเขาได้ค่าจ้างเท่าไร (หรือได้ไหม?) แต่มีคนวิเคราะห์ไว้ว่าเทียบจากเคสดังๆ ที่เขาคลี่คลายได้และมีหลักฐานว่าได้รับเงินเป็นก้อนจริง จาก 4 เคสนี้

• The Priory School: 6,000 ปอนด์ (566,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)

• The Beryl Coronet: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)

• The Blue Carbuncle: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)

• A Scandal in Bohemia: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)

แค่เคสใหญ่นี้ก็ทำให้เขารวยไม่รู้เรื่องไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคดีเล็กคดีน้อยที่เขาคลี่คลายในตอนต่างๆ อีก เห็นขนาดนี้แล้ว พวกเราคงไม่ต้องห่วงเรื่องเงินในกระเป๋าของนักสืบคนโปรดหรอกเนอะ

#16 ตอนที่ทั้งนักเขียนและนักอ่านชื่นชอบที่สุด

จากบทสัมภาษณ์เซอร์อาเธอร์ใน The Strand ปี 1927 และผลสำรวจของ The Baker Street Journal และ The Sherlock Holmes Journal ปี 1946, 1954, 1959, 1989 และ 1999 เซอร์อาเธอร์และแฟนๆ ลงความเห็นให้ตอน The Speckled Band เป็นตอนที่พวกเขาชอบที่สุดและดีที่สุด

#17 เรื่องล้อเลียนโฮล์มส์

คนแรกที่เขียนเรื่องสั้นล้อเลียน (Parody) เรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์ คือ เจ เอ็ม บาร์รี คนเขียนเรื่อง “Peter Pan” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเซอร์อาเธอร์เอง เรื่องที่เขาเขียนนั้นตั้งชื่อว่า The Late Sherlock Holmes (เชอร์ล็อก โฮล์มส์ผู้จากไป) เล่าถึงคดีฆาตกรรมนักสืบชื่อดังผู้นี้ โดยตำรวจสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของหมอวัตสัน

เรื่องของบาร์รีตีพิมพ์ใน St. James Gazette เดือนเดียวกับที่เซอร์อาเธอร์ตีพิมพ์ The Final Problem หรือตอนที่เชอร์ล็อก โฮล์มส์จบชีวิตลงที่น้ำตกไรเคนบาชนั่นเอง

#18 หมอวัตสันไม่ได้เล่าเรื่องเองทุกตอน

เสน่ห์ของเรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์อย่างหนึ่งคือแม้เชอร์ล็อก โฮล์มส์จะเป็นตัวเอกของเรื่อง แต่เรื่องนี้กลับเล่าในมุมมองของคุณหมอวัตสัน คู่หูของเขาแทน แต่มีอยู่ 2 ตอนที่เล่าด้วยมุมมองบุคคลที่ 3 และมี 2 ตอนที่เชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นคนเล่าเรื่องเอง

#19 เชอร์ล็อก โฮล์มส์ตอนพิเศษ

มีเชอร์ล็อก โฮล์มส์อยู่ 2 ตอนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในซีรี่ส์ แต่เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษ ตอนแรกคือ The Field Bazaar (พิมพ์หลัง The Final Problem) เขียนเพราะโรงเรียนเก่าของเขาขอมาใช้ในการระดมทุน

และอีกตอนคือ How Watson Learned the Trick เขียนเพื่อใช้ในการทำหนังสือจิ๋วประดับบ้านตุ๊กตาของราชินีแมรี่ นักเขียนชื่อดังคนอื่นก็เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย โดยเฉพาะเพื่อนรักของเซอร์อาเธอร์อย่าง เจ เอ็ม บาร์รี

เครดิตข้อมูล dek-d.com

Credit: เครดิตข้อมูล dek-d.com
25 ต.ค. 60 เวลา 04:15 2,626
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...