13 ปรากฏการณ์ลึกลับ กับคำอธิบายที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

read:http://petmaya.com/13-astonishing-unexplained

โลกเราใบนี้ล้วนเต็มไปด้วยปรากฏการณ์อันน่ามหัศจรรย์อยู่มากมายเต็มไปหมด บางปรากฏการณ์นั้นดูราวกับเป็นเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ ถึงแม้ว่ามันจะถูกอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม วันนี้เพชรมายาจึงขอพาทุกท่านมาชมปรากฏการณ์ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องลึกลับ กับคำอธิบายที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

1. มิราจ (Mirage)

มิราจหรือภาพลวงตาเป็นสิ่งที่หลอกผู้คนในอดีตมาช้านาน ซึ่งมันสามารถสร้างเรื่องราวตำนานความเชื่อลึกลับขึ้นมาได้มากมาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่มีอะไรมากไปกว่าการหักเหของแสงที่หลอกตาของเราในตำแหน่งที่พบเห็น ประกอบกับการตีความไปตามจินตนาการของมนุษย์เท่านั้น มิราจที่ทุกคนน่าจะเคยพบเห็นก็คือ ภาพลวงตาที่เราเห็นเป็นแอ่งน้ำบนถนนไกลๆ เวลาที่แดดแรงๆ แต่พอไปใกล้ๆ เรากลับไม่พบอะไรเลย

2. รุ้งจันทรา (Moonbow)

รุ้งจันทราหรือมูนโบว์ คือรุ้งกินน้ำที่เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ได้กระทบดวงจันทร์หรือที่หลายคนเข้าใจกันว่า “แสงจันทร์” รุ้งจันทราจะค่อนข้างซีดจาง เนื่องจากแสงจันทร์มีความสว่างน้อยกว่าแสงอาทิตย์มาก รุ้งจันทราเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่หาดูได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยประกอบกันหลายอย่างคือ ดวงจันทร์จะต้องเป็นดวงจันทร์เต็มดวงหรือเกือบเต็มดวงเท่านั้น จะต้องสว่างไสวเป็นพิเศษ นอกจากนั้นหยดน้ำจะต้องตกอยู่ทิศตรงกันข้ามกับดวงจันทร์ ท้องฟ้าต้องมืดสนิท และดวงจันทร์จะต้องอยู่สูงไม่เกิน 42 องศา

3. สายฟ้าภูเขาไฟ (Volcanic Lightning)

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แสนอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นระหว่างการระเบิดของภูเขาไฟ โดยจะเกิดพายุสายฟ้าขึ้นในเถ้าภูเขาไฟที่กำลังพวยพุ่งขึ้นไปบนอากาศ โดยที่นักวิทยาศาสตร์เองเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากการที่อนุภาคของเถ้าภูเขาไฟเกิดการพุ่งชนกัน ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต ขึ้นในอนุภาคของเถ้าภูเขาไฟ และเป็นเหตุให้เกิดฟ้าผ่าขี้นขณะเกิดภูเขาไฟระเบิด และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีสมมุติฐานใหม่ ว่าอาจเกิดจากที่แม็กม่าได้ปลดปล่อยความชื้นออกมา

4. เมฆแมมมาตุส (Mammatus Clouds)

นี่อาจเป็นปรากฏการณ์เมฆประหลาดที่สวยที่สุดในโลก โดยลักษณะเมฆที่เกิดขึ้นจะดูเป็นตะปุ่มตะป่ำห้อยลงมาจากฟ้า โดยแต่ละปุ่มมีขนาดใหญ่มากถึง 1-3 กิโลเมตร และอาจเรียงรายยาวไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นนานราวๆ 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง และจะเกิดหลังการเกิดพายุใหญ่ หรือเกิดก่อนพายุทอร์นาโด

5. รุ้งไฟ (Fire Rainbow หรือ Circumhorizontal Arc)

ปรากฏการณ์รุ้งไฟเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกับรุ้งปกตินั่นคือเรื่องการหักเหของแสง แต่เงื่อนไขในการเกิดรุ้งไฟจะเกิดขึ้นในเมฆเซอรัส ที่ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง (โดยปกติ อยู่ที่ความสูง 6 กิโลเมตร เหนือน้ำทะเล) ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่เหนือขอบฟ้า 58° เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบเกล็ดน้ำแข็งรูป 6 เหลี่ยมที่บางและโปร่งแสง จึงทำให้เกิดการหักเหและสะท้อนออกมาเป็นแสงสีต่างๆ

6. เมฆจานบิน (Lenticular Clouds)

นี่คือเมฆที่ทำให้หลาๆ คนเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง เพราะคิดว่าเป็นจานบินจากนอกโลก แต่ในความเป็นจริงแล้วเมฆจานบินนี้เกิดจากอากาศชื้นอิ่มตัวพัดผ่านยอดเขาสูง หรือบริเวณภูเขา จะทำให้เกิดการไหลของกระแสอากาศชื้น แบบลูกคลื่นขนาดใหญ่ หลายระลอกขึ้น เมื่ออากาศชื้นถูกพัดไหลขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ตามระลอกคลื่นอุณหภูมิจะค่อยลดลงเรื่อยจนถึงจุดที่ทำให้ อากาศชื้นเริ่มกลั่นตัว ทำให้เกิด ปรากฏการณ์ เมฆจานบิน เมื่อเมฆไหลลงมาต่ำเรื่อยๆอุณหภูมิจะสูงขึ้น เมฆจะค่อยๆ ระเหยกับไปอยู่ในสภาพของอากาศชื้นอีกครั้ง

7. เมฆเคลวิน-เฮลม์โฮลตซ์ (Kelvin-Helmholtz Clouds)

หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมฆคลื่น โดยถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติต่อท่านลอร์ดเคลวิน และ เฮอร์มานน์ วอน เฮลม์โฮลตซ์ ซึ่งเมฆคลื่นนี้มีลักษณะที่เหมือนกับเกลียวคลื่นในทะเลที่กำลังม้วนตัวเป็นระลอก ส่วนสาเหตุเกิดจากวามเร็วในการเคลื่อนตัวของชั้นอากาศ 2 ชั้น (หรือมากกว่า 2 ชั้น) ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน โดยอากาศชั้นบนเคลื่อนที่เร็วสูงกว่าชั้นล่าง และมันยังเป็นตัวชี้วัดถึงสภาพความปั่นป่วนในชั้นบรรยากาศสำหรับอากาศยานได้เป็นอย่างดี หากพบเห็นพวกมัน นั่นหมายความว่าอากาศปั่นป่วน

8. เมฆหลุม (Cloud Holes)

ปรากฏการณ์เมฆประหลาดที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ แต่สมมุติฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการที่หยดน้ำจากเครื่องบินหยดเล็กๆ ตกลงมาจากท้องฟ้าจนกลายเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่พุ่งผ่านกลุ่มเมฆจนกระจายออกเป็นวงกลมที่ใหญ่มาก

9. มูนด็อก (Moondog)

หลายคนคงเคยได้ยินปราฏการณ์ซันด็อก (Sun Dog) ที่ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์ได้มากถึง 3 ดวงพร้อมๆ กันบนท้องฟ้า แต่มันก็สามารถเกิดกับดวงจันทร์ได้เช่นกัน แน่นอนว่ามันหาดูได้ยากกว่ามาก และจะเกิดได้เมื่อดวงจันทร์มีความสว่างมากเท่านั้น

10. เมฆสีมุก (Pearl Clouds)

อีกหนึ่งปรากฏการณ์หายากที่เกิดจากการหักเหของแสง โดยเมฆสีมุกเหล่านี้จะเกิดที่ความสูงในระดับ 50,000 ฟุตขึ้นไป ซึ่งจัดอยู่ในเมฆชั้นสตราโตสเฟียร์ และมีอุณหภูมิขั้นต่ำประมาณ -78 องศาเซลเซียส โดยกระแสอากาศเย็นในฤดูหนาวได้พัดพาเอาความชื้นที่พอเหมาะจากเทือกเขาขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กเพียงหนึ่งไมโครเมตรขึ้น ซึ่งจะช่วยหักเหและกระจายแสงอาทิตย์ช่วงรุ่งอรุณและขณะลับขอบฟ้ายามเย็นให้มีสีสันแปลกตา

11. วงแหวนลึกลับในนอร์เวย์ (Norwegian Spiral Anomaly)

ในปี 2009 ชาวนอร์เวย์หลายพันคนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในปรากฏการณ์ประหลาดเหนือท้องฟ้า โดยจู่ๆ ก็เกิดเป็นเกลียววงแหวนลึกลับบนท้องฟ้าหมุนควงตามเข็มนาฬิกาอยู่นานหลายนาที ผู้คนจำนวนมากพูดกันถึงมนุษย์ต่างดาวหรือประตูมิติ แต่ภายหลังทางรัฐบาลของรัสเซียได้ออกมาชี้แจงว่าปรากฏการณ์ประหลาดนี้เกิดจากการทดลองขีปนาวุธที่ผิดพลาดของพวกเขาเอง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เชื่อแถลงการณ์ครั้งนี้ และคิดว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังปกปิดอะไรบางอย่างอยู่

12. ทอร์นาโดไฟ (Fire Tornado)

เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งการเกิดทอร์นาโดไฟขึ้นได้จะต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมจริงๆ คือจะต้องมีอุณหภูมิและกระแสลมที่เหมาะสมเท่านั้น และมีหลายครั้งที่ทอร์นาโดไฟมักเกิดมาจากไฟป่า เมื่อกระแสลมพัดมาพบกับไฟป่าแล้วยกตัวขึ้นจนเกิดเป็นพายุหมุน

13. บั้งไฟพญานาค (Naga Fireballs)

ปรากฏการณ์ลึกลับที่จู่ๆ ก็มีดวงไฟลึกลับพุ่งขึ้นมาจากน้ำในช่วงวันออกพรรษาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาทุกปีว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในขณะที่มีผู้ที่ใช้กล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน 5-30 วินาทีกลับพบว่าลูกไฟดังกล่าวมีจุดพุ่งขึ้นมาจากฝั่งลาว ประกอบกับมีวีดีโอภาพเคลื่อนไหวที่ถูกถ่ายได้จากโดรนว่าลูกไฟขึ้นมาจากฝั่งลาว แต่ก็ยังมีชาวบ้านและพยานอีกหลายคนอ้างว่า พวกเขาเห็นลูกไฟโผล่ขึ้นมาจากน้ำกับตาตัวเอง

ที่มา https://brightside.me/creativity-photography/15-astonishing-unexplained-mysteries-caught-on-camera-383210/

Credit: https://brightside.me/creativity-photography/15-astonishing-unexplained-mysteries-caught-on-camera-383210/
4 ต.ค. 60 เวลา 06:43 1,384
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...