11 เรื่องหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ต ที่คุณไม่ควรเชื่อเด็ดขาด

read:http://petmaya.com/11-internet-myths

ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ ก็ล้วนแต่มีเรื่องราวโกหกแหกตาเกิดขึ้นมามาย ตั้งแต่ฟอร์เวิร์ดเมลจนมาถึงเรื่องราว Hoax ต่างๆ ที่ถูกปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมา และทำให้หลายๆ คนเชื่อเป็นตุเป็นตะไปว่ามันคือความจริง วันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาชมเรื่องราวเกี่ยวกับการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต มาลองดูกันว่าคุณจะเคยเจอเรื่องราวเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

1. ชายที่ทุกคนทั่วโลกเคยฝันถึง

ไวรัล มาร์เก็ตติง ก็คือการตลาดที่สร้างกระแสให้คนไปพูดต่อกันปากต่อปาก ทั้่งๆ ที่เรื่องราวที่เป็นไวรัล อาจไม่ได้เกี่ยวกับตัวสินค้าโดยตรงแต่อย่างใด เพราะต้องการความเนียนให้เหมือนกับเรื่องจริงที่สุด อย่างเช่นเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานเรื่องนี้ เริ่มจากหญิงสาวคนที่ที่ฝันถึงชายคนนี้ซ้ำๆ กันอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยพบเขาในโลกแห่งความเป็นจริง และเมื่อเธอไปพบจิตแพทย์และได้วาดภาพนี้ให้เขาดูก็พบว่า ยังมีคนไข้ที่ฝันเห็นภาพของชายคนนี้อยู่อีก และนั่นไม่ใช่รายเดียว เพราะในทุกๆ คืน มีคนนับร้อยบนโลกใบนี้จะฝันเห็นชายคนนี้โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร จนกระทั่งมีการจัดตั้งเว็บไซต์เพื่อสืบหาตัวของชายคนนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

สุดท้ายความจริงก็เริ่มกระจ่างเมื่อนักสืบบนโลกออนไลน์พบว่า ผู้จดทะเบียนเว็บไซต์แห่งนี้คือผู้เชี่ยวชาญด้านการทำไวรัลมาร์เก็ตติง ที่ได้ทำไวรัลนี้เพื่อโปรโมทภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง This Man ของบริษัทโกสต์เฮาส์พิกเจอร์ ซึ่งมีผู้กำกับชาวอเมริกันคือ ไบรอัน เบอร์ติโน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ถูกพบว่าเข้าฉายที่ใด นั่นอาจเป็นเพราะโปรเจคได้ถูกยกเลิกไปเสียก่อน

2. เน็ตไอดอลที่ไม่มีอยู่จริง

ถ้าหากมองอินสตาแกรมของเธอคนนี้ผ่านๆ คุณจะพบว่านี่คืออินสตาแกรมของผู้หญิงที่ชื่อ หลุยส์ เดลาเก อายุ 25 ปี จากปารีส ที่มีผู้ติดตามมากถึง 1 แสนคน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเน็ตไอดอลที่มีคนติดตามจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะพบว่า ในภาพถ่ายของเธอเกือบทุกภาพ จะเห็นเธอถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เสมอ คนที่ไม่รู้อะไรอาจคิดแค่ว่าเธอเป็นสาวนักดื่มธรรมดาๆ คนหนึ่ง

และในโพสต์สุดท้ายของบัญชีนี้ได้เฉลยว่า จริงๆ แล้วเธอคนนี้ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง และบัญชีอินสตาแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปลุกจิตสำนึกของโรคพิษสุราเรื้องรังในหมู่คนหนุ่มสาวนั่นเอง

3. คนดังตัวปลอม

ถ้าคุณเคยเห็นภาพงานแต่งงานลับของเจ้าชายแฮร์รี หรือเคยเห็นภาพประวัติศาสตร์ที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี กำลังกอดมาริลิน มอนโร จงอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น ถึงแม้ว่าภาพเหล่านั้นจะไม่ใช่ภาพตัดต่อ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นของจริง เพราะยังมีช่างภาพมากมายที่พยายามสร้างสถานการณ์เท็จขึ้นมาด้วยการใช้คนที่มีหน้าตาคล้ายกับคนดังนั่นเอง

4. คำเตือน Copyright บนโซเชียลมีเดีย

หากใครที่มีเพจอาจเคยได้รับข้อความเตือนมาทาง Inbox เกี่ยวกับโพสต์ของคุณที่ละเมิดลิขสิทธิ์อะไรบางอย่าง แล้วให้กดยืนยันตัวที่ลิงค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาหลอก และหลังจากคุณคลิกเข้าไปก็จะพบหน้าตาของเว็บที่คล้ายกับเฟสบุ๊คของจริงเด๊ะๆ เพื่อให้คุณกรอกข้อมูล อีเมล รหัสผ่าน รวมถึงการยืนยันด้วยเลขบัตรเครดิต และนั่นจะทำให้คุณติดกับมิจฉาชีพได้อย่างง่ายดาย และรวมไปถึงการที่คุณมีเบอร์โทรศัพท์เอาไว้บนเพจ ก็อาจถูกมิจฉาชีพส่งข้อความหลอกลวงให้ยืนยันข้อมูลผ่าน SMS หลอกลวงก็ได้เช่นกัน

5. แชร์แล้วได้ตัง

ภาพที่เห็นด้านบนนี้ คุณอาจไม่เชื่อว่าคนอย่าง บิล เก็ตส์ จะมาทำอะไรเกรียนๆ อย่างให้กดแชร์ลิงค์นี้ แล้วเขาจะให้เงินคุณ 5,000 เหรียญ ซึ่งถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนดังจะมานั่งให้แชร์แจกตังกันแบบนี้ แต่อาจยกเว้นในเมืองไทย เพราะเรามักคุ้นกันดีกับการแชร์แจกทอง แชร์แจกไอโฟน เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าลืมว่าเพจปลอมที่ทำลักษณะนี้เพื่อเรียก Like ก็มีอยู่ไม่น้อย

6. จดหมายลูกโซ่

ในอดีตคุณอาจได้รับเป็นจดหมายมาที่บ้าน แต่ในปัจจุบันมันมาทางข้อความในอินบ็อค ซึ่งจดหมายลูกโซ่นี้มักจะมีข้อความที่คล้ายๆ กัน และส่วนใหญ่จะออกแนวหลอนให้คุณกลัว เพื่อที่จะได้ก๊อปข้อความส่งต่อไปเรื่อยๆ ไมว่าจะเป็นเรื่องวิธีถอดจิตออกจากร่าง เรื่องสยองของน้องเปลว ตำรายาแก้โรคมะเร็ง เฟสบุ๊คเปลี่ยนสีได้ ส่วนทางฝรั่งเองก็มีจดหมายลูกโซ่แบบนี้เช่นกันอย่างเช่น เรื่องของการอย่ารับเพื่อนจากแฮกเกอร์ในตำนานที่ชื่อ คริสโตเฟอร์ และ เจสสิกา เดวิส และให้ก๊อปปี้ข้อความส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นไปเรื่อยๆ

7. ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับดวงดาวและอวกาศ

หลายๆ คนคงเคยได้ยินตำนานของดาว “นิบิรุ” ที่อาจจะมาชนกับโลกในอนาคตอันใกล้นี้ (นิบิรุเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น) หรือจะเป็นเรื่องของดาวอังคารที่จะปรากฏใหญ่ขึ้นจนมีขนาดเท่าดวงจันทร์ (ซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้) หรือโลกจะมืดมิดไป 15 วันในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง และสุดท้ายก็คือวันอวสานโลก ที่จะเกิดจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากอุกกาบาตขนาดยักษ์ หรือพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการกระแสบนโลกออนไลน์เท่านั้น

8. กด Like = การบริจาค

บ่อยครั้งที่เราพบโพสต์ในทำนองที่ว่า เด็กๆ กำลังป่วยหนักหรือเด็กๆ ด้อยโอกาส คุณสามารถช่วยได้โดยการกด Like กด Share เพื่อที่ยอด Like หรือ Share เหล่านั้น จะกลับมาเป็นเงินบริจาคให้กับเด็กๆ แน่นอนว่าเรื่องนี้มันไม่จริงแม้แต่นิดเดียว และเราก็หาตัวผู้ที่หลอกลวงได้ไม่ยาก เพราะนั่นก็คือเพจที่เอาภาพเหล่านี้มาโพสต์เรียก Like นั่นเอง

9. ข่าวคนดังเสียชีวิต

เป็นอีกเรื่องราวที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ เกี่ยวกับข่าวคนดังที่เสียชีวิตอย่างกระทันหัน มีดาราหลายคนที่ถูกอ้างว่าเสียชีวิตในรูปแบบที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เสพยาเกินขนาด เป็นเอดส์ อุบัติเหตุ หรือแม้แต่ถูกฆาตกรรม ซึ่งข่าวลวงเหล่านี้มักถูกกุขึ้นจากเว็บไซต์สร้างกระแส ที่หวังเพียงจำนวนคนที่เข้ามายังเว็บไซต์เพื่อรายได้ทางโฆษณานั่นเอง

10. จดหมายจากไนจีเรีย

เชื่อว่าคนไทยหลายคนก็เคยเจอจดหมายจากไนจีเรีย หรืออาจเป็นประเทศโลกที่ 3 อื่นๆ ที่มีการแอบอ้างว่าตัวเขาเป็นเจ้าชายหรือเศรษฐีที่ได้รับมรดกมหาศาล แต่ด้วยเหตุผลด้านกฏหมายหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำเขาไม่สามารถนำเงินนั้นออกมาใช้ได้ และวิธีที่จะช่วยเขาได้คือการที่คุณจะต้องโอนเงินไปจำนวนหนึ่ง เพื่อช่วยให้เขาสามารถโยกย้ายเงินนั้นออกมาได้ และจะตอบแทนคุณอย่างงาม ซึ่งเนื้องเรื่องในอีเมลมักจะมีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ประเด็นหลักๆ ก็คือการที่คุณจะต้องโอนเงินไปให้เขา และเขาจะตอบแทนคุณด้วยเงินก้อนใหญ่ เรียกได้ว่าเล่นกับความโลภของคนอย่างแท้จริง

11. ภาพปลอมเรื่องลึกลับ

จริงๆ ถ้าพูดคำว่า “ภาพปลอม” ก็ถือว่าเป็นอะไรที่กว้างมาก แต่ภาพปลอมเหล่านั้นจะเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ถ้าถูกนำไปโยงกับตำนานหรือเรื่องลึกลับบางอย่าง อย่งเช่น ภาพของ UFO ที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้า ภาพมนุษย์ต่างดาวที่ถูกถ่ายติดมาได้ ตัวอย่างภาพปลอมที่เรานำมาให้ดูอย่างเช่น ภาพทางด้านซ้ายไม่ใช่การจับมนุษย์ต่างดาวตัวเป็นๆ ได้ แต่เป็นถ่ายที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ล้อเลียนชีวิตของชาวอเมริกันในมุมตลกๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรืออย่างภาพด้านขวา เราจะเห็นได้ว่าคือภาพที่เกิดจากการตัดต่อด้วย Photoshop นั่นเอง

ที่มา https://brightside.me/wonder-curiosities/11-internet-myths-you-should-never-believe-378610/

Credit: https://brightside.me/wonder-curiosities/11-internet-myths-you-should-never-believe-378610/
23 ก.ย. 60 เวลา 05:33 4,837 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...