https://www.thevintagenews.com/2017/02/14/priority-olifants-ivory-instruments-made-elephants-tusks-used-warriors-hunters-middle-ages/
ไม่ว่าตำรวจโลกจะสามารถปราบราชายาเสพติดไปได้กี่คน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีคนใหม่ขึ้นมาแทนที่เสมอ อาจจะเพราะเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะหลั่งไหลเข้ามา ดังกรณีของราชายาเสพติดคนอื่นๆ ที่เคยถูกจับไป แต่คราวนี้เราจะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของ ‘Lucky Luciano’ ชายผู้ไต่เต้าจากการเป็นเด็กยากจนในสลัม สู่ราชามาเฟียแห่งมหานครนิวยอร์ก ที่ใครต่างก็ยอมก้มหัวให้
Lucky Luciano
Luciano ออกมาลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 1897 ท่ามกลางความเป็นอยู่อันยากลำบากของครอบครัว ที่ต้องเป็นแรงงานให้กับเหมืองกำมะถัน กระทั่งต่อมาครอบครัวได้รับโอกาสย้ายสัมโนครัวมาอาศัยอยู่บนเกาะแมนฮัตตันในปี 1907 เฉกเช่นเดียวกับครอบครัวชาวอิตาลีคนอื่นๆ
ครั้น Luciano เริ่มโตเป็นหนุ่ม เขาก็เลือกเดินเส้นหาเงินจากการเป็นสมาชิกของแก๊งท้องถิ่น โดยในช่วงแรกเขาหาเงินเลี้ยงดูตัวเองจากการรับจ้างเป็นคนปกป้องเด็กชาวยิว ที่มักจะถูกแก๊งอิตาลีและไอริชกลั่นแกล้งอยู่เสมอ จากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับฉายา ‘Lucky Luciano’ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าฉายานี้มาจากไหน แต่หลายคนเชื่อว่าน่าจะมาจากความโชคดีที่รอดชีวิตมาได้หลายต่อหลายครั้งของตัวเขาเอง
โดยในปี 1920 เขาเคยรอดชีวิตจากการฆาตกรรมสมาชิกแก๊ง อีกทั้งตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 1916 – 1936 เขาถูกตำรวจจับกุมมากกว่า 25 ครั้ง
กระทั่งต่อมาเขาได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊ง ‘Five Points Gang’ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มมาเฟียที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยรายได้หลักของแก๊งนี้มาจากบ่อนการพนัน ซ่อง และยาเสพติด ในช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ช่องทางการเติบโตบนเส้นทางมาเฟียของ Luciano ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขาได้เรียนรู้วิธีการฟอกเงิน การเปิดบ่อนการพนันอย่างลับๆ การจัดการบัญชี จากนั้นเขาก็เริ่มเปิดกิจการเป็นของตัวเองพร้อมกับเพื่อนคนสนิท Frank Costello และ Vito Genovese
บ้านพักหลังเก่าของ Lucky Luciano ที่ตั้งอยู่ในประเทศคิวบา (บ้านจริงๆ นะไม่ใช่โรงแรม)
ธุรกิจของเขาเริ่มเติบโตไปได้สวยจากการช่วยเหลือของเพื่อนคนสนิท ในปี 1925 Luciano สามารถทำเงินจากการค้ายาเสพติดได้มากถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีเดียว จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1931 ในขณะที่เขากำลังทานอาหารค่ำเพื่อเจรจาต่อรองกับหัวหน้าแก๊ง Masseria บนเกาะโคนีย์ ก็ได้มีมือปืน 4 คนบุกเข้ามายิงถล่มยับ
แต่โชคดีที่ Luciano เข้าไปหลบหนีในห้องน้ำ แต่เมื่อเขากลับออกมาก็พบว่าหัวหน้าแก๊งได้เสียชีวิตลงหมดแล้ว.. จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาได้รับฉายา “ราชาแห่งมาเฟีย” แต่วิธีการบริหารงานของ Luciano กลับแตกต่างออกไป เขาเป็นคนเริ่มต้นแผนการณ์ที่ใช้ชื่อว่า ‘The Commission’ ซึ่งเกิดจากความเบื่อหน่ายในความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ มีความต้องการแผ่ขยายอำนาจอยู่ในสหรัฐฯ ให้เงียบงันมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด
หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้การทำงานของแก๊งในยุคนั้นยากกว่าเดิม คือการเข้ามาประจำตำแหน่งของ Thomas E. Dewey ฝ่ายอัยการที่ต้องการจะปราบปรามเหล่ามาเฟียให้หมดไปจากนิวยอร์ก 2 กุมภาพันธ์ 1936 เจ้าหน้าที่อัยการ Dewey ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับแหล่งธุรกิจของแก๊ง Luciano กว่า 200 แห่ง แน่นอนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะสมาชิกแก๊งจริงๆ หรือแค่พนักงานจ้าง ต่างถูกส่งตัวไปตัดสินความผิดแทบทั้งสิ้น
หลังจากนั้นไม่นาน Luciano ถูกจับกุมด้วยข้อหาค้าประเวณีผิดกฎหมาย 60 กระทง และนี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ทว่าเรื่องราวยังไม่สิ้นสุด.. เมื่อหัวหน้าแก๊งผู้ยิ่งใหญ่ได้เข้าไปเจอกับอดีตลูกสมุนในเรือนจำ คุณลองคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ไม่มีการฆาตกรรม ไม่มีการยึดอำนาจ แต่ Luciano สามารถเปลี่ยนเรือนจำให้กลายเป็นห้องทำงานของเขาได้ (ธุรกิจหลายๆ อย่างยังคงดำเนินต่อไปได้ผ่านการบริหารภายในคุก)
ทุกอย่างถูกดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ Luciano ช่วยจัดการเรื่องหน่วยข่าวกรอง และการสอดส่องข้อมูลสอดแนมให้ แลกกับการส่งตัวกลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่ประเทศอิตาลี
ภาพของเขาในวัยเด็ก
เขายินดีตอบรับข้อเสนอนั้น และช่วยทางการสหรัฐฯ ในการจัดการด้านข้อมูลข่าวกรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเจ้าตัวก็ถูกส่งกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่ประเทศอิตาลี ตามข้อตกลง Lucky Luciano ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างสงบกับครอบครัวและอดีตลูกน้องผู้จงรักภักดีของเขา ก่อนที่จะเสียชีวิตลงด้วยวัยชราในปี 1962
ซึ่งนั่นก็ถือเป็นการปิดฉากตำนานราชามาเฟียที่ถูกนำมาพูดถึงผ่านบทละคร ภาพยนตร์ หนังสือ และอัตชีวประวัติอีกมากมาย
ภาพจากงานศพของ Lucky Luciano
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ เขาเป็นหนึ่งในราชามาเฟียระดับโลกไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้เสียชีวิตเพราะความชรา และได้อาศัยอยู่กับครอบครัวจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ที่มา https://www.thevintagenews.com/2017/02/14/priority-olifants-ivory-instruments-made-elephants-tusks-used-warriors-hunters-middle-ages/