วงแคลช
วงแคลชก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2541 ในชื่อวงว่า ลูซิเฟอร์ (Lucifer) โดยตอนนั้นยังมีแนวเพลงเป็นร็อกญี่ปุ่น รวมกลุ่มกันเพื่อประกวดดนตรีในรายการ Hot Wave Music Awards ครั้งที่ 2 และ 3 โดยเพลงที่ใช้ประกวดคือเพลง "อย่าทำอย่างนั้น" ของ แมว จิระศักดิ์ ปานพุ่ม หลังจากได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด Hot Wave Music Awards ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2544 พวกเขาได้เซ็นสัญญากับอัพจี เรคคอร์ด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และได้เปลี่ยนชื่อของพวกเขาใหม่เป็น แคลช (Clash) และได้ออกผลงานอัลบั้มแรกชื่อว่า วัน (One) โดยเพลงแรกคือเพลง กอด ได้รับความนิยมและนำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จทั้งๆที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ นอกจากนี้เพลงในอัลบั้มนี้ที่ชื่อว่า เลิฟซีน (Love Scene) ยัง เป็นเพลงที่สามารถคว้ารางวัลจาก "สีสัน อวอร์ดส ครั้งที่ 14" สาขาเพลงร็อกยอดเยี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้อีกด้วย
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 พวกเขากลับมาอีกครั้งกับผลงานอัลบั้มชุดที่ 2 ซาวนด์เชค (Soundshake) ในอัลบั้มนี้มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างเพลงขอเช็ดน้ำตา หนาว และเธอจะอยู่กับฉันตลอดไป นอกจากนี้ในปีเดียวกัน แบงค์ นักร้องนำได้ทำผลงานเพลงพิเศษประกอบภาพยนตร์บิวตี้ฟูล บ็อกเซอร์ ในชื่อเพลง หนึ่งมิตรชิดใกล้ เดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น วงแคลชได้ทำอัลบั้มพิเศษ เป็นอัลบั้มเรียบเรียงดนตรีจากเพลงเก่าในอัลบั้ม วัน (One) และซาวนด์เชค (Soundshake) เช่นเพลง กอด รับได้ทุกอย่าง ขอเช็ดน้ำตา หนาว เป็นต้น มาทำเป็นดนตรีอคูสติกสบายหู และมีเพลงใหม่คือเพลง เธอคือนางฟ้าในใจ ในชื่ออัลบั้ม ซาวนด์ครีม (Soundcream) และในปีเดียวกันอีกวงแคลชและวงดนตรีร็อกในเครือเดียวกันอีก 6 กลุ่มได้ทำโปรเจกต์พิเศษ ลิตเติลร็อก โปรเจกต์ (Little Rock Project) โดยอัลบั้มนี้มี 2 แผ่น วางแผงในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เป็นการนำเพลงของวงไมโครมาเรียบเรียงดนตรีใหม่และร้องใหม่ตามรูปแบบของแต่ละวง วงแคลชได้ร้องเพลงเปิดตัวโปรเจกต์ ด้วยเพลง เอาไปเลย ซึ่งได้ร้องคู่กับวงกะลา โดยเพลงที่วงแคลชนำมาร้องคือเพลง ตอก ไว้ใจ แผลในใจ และ หยุดมันเอาไว้ และอีกเพลงหนึ่งซึ่งร้องร่วมกันทั้ง 7 วงคือเพลง ลองบ้างไหม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 พวกเขาได้ออกผลงานอัลบั้มที่ 3 เบรนสตอร์ม (Brainstorm) ที่แฟนคลับประทับใจและได้รับการวิจารณ์ในทางที่ดี ในปีเดียวกันนี้ แบงค์ ได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตเรื่อง พันธุ์ X เด็กสุดขั้ว แสดงร่วมกับหนุ่ม วงกะลา และยังได้ออกอัลบั้มประกอบภาพยนตร์ร่วมกับวงกะลาอีกด้วย ในปลายปี พ.ศ. 2547 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ต้องการส่งท้ายปีด้วยการทำอัลบั้มโปรเจกต์พิเศษฉลองครบรอบ 20 ปี มีชื่อว่า PACK4 เพลงดังในอดีตของศิลปินดัง อย่างเช่น โลโซ ซิลลี่ฟูลส์ และอัสนี-วสันต์ จะนำมาทำใหม่โดยวงร็อก 4 วง ซึ่งรวมถึงแคลชด้วย โดยวงแคลชได้นำเพลงของ โจ-ก้อง วายน็อตเซเว่น และแมว จิระศักดิ์ ปานพุ่ม มาทำใหม่
เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 วงแคลชได้ร่วมคอนเสิร์ต Pack 4 Freedom Romantic Rock กับกลุ่มศิลปินในโปรเจกต์เดียวกันคือ กะลา โปเตโต้ และเอบีนอร์มอล ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พวกเขาก็ได้ปล่อยอัลบั้มเพลงชุดที่ 4 อีโมชัน (Emotion) โดยมีเพลงที่ได้รับความนิยมคือ ละครรักแท้ ซบที่อกฉัน เพลงผีเสื้อ และ ไฟรัก
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 พวกเขาได้ออกอัลบั้มเพลงอคูสติก อาร์แอนด์บี และฮิพฮอพ โดยนำเพลงในอัลบั้ม เบรนสตอร์ม (Brainstorm) และ อีโมชัน (Emotion) เช่นเพลง เขาชื่ออะไร ละครรักแท้ เพลงผีเสื้อ ซบที่อกฉัน ไออุ่นรัก เป็นต้น มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ และมีเพลงใหม่คือ นางฟ้าคนเดิม ซึ่งต่อมายังถูกนำไปเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง สะดุดรัก ทางช่อง 3 อีกด้วย และในเดือนเดียวกันนั้น เขาได้มีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งจัดโดยคลื่น Seed 97.5 FM ใน ซีด ไลฟ์ คอนเสิร์ต เฟิร์ส แคลช (Seed Live Concert First Clash)
ในวันที่ 26 เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก็มีข่าวช็อคแฟนเพลงวงแคลช เมื่อยักษ์ มือกลองได้ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์พลิกคว่ำ ระหว่างไปเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดสมุทรปราการ
ส่งผลให้ยักษ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารับการรักษากายภาพบำบัดเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน วงแคลชก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 แครชชิง (Crashing) โดยชุดนี้มีเพลงที่ได้รับความนิยมเช่นเพลง ค้างคา มือที่ไร้ไออุ่น รอ ขอเจ็บแทน วังวน และยิ้มเข้าไว้ โดยแม้ในชุดนี้ ยักษ์ มือกลอง จะอาการดีขึ้นแต่ยังไม่หายจากอุบัติเหตุรถคว่ำ แต่ก็มีคนอื่นมาช่วยเล่นกลองให้กับเพลงอัลบั้มนี้
ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ก็มีข่าวร้ายเกี่ยวกับแม่ของแบงค์ นักร้องนำ ที่ต้องมาเสียชีวิตด้วยโรคเลือด หรือโรคโครโมโซมในกระดูกสันหลังผิดพลาดหรือโรค MDS (Myelodysplastic Syndrome) ทำให้เขาต้องบวชให้แม่ ต่อมาหลังจากข่าวนี้ เขาได้มาออกรายการ บางกอกรามา ทางช่อง TITV ถึงข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับเขา เมื่องานศพแม่ของเขาเสร็จสิ้นลง เขาก็ทำงานต่อไป โดยในเดือนกรกฎาคม ปีนั้น พวกเขาได้มีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเองครั้งที่ 2 ในชื่อว่า แคลช อาร์มี่ ร็อก คอนเสิร์ต (Clash Army Rock Concert) โดยในคอนเสิร์ตครั้งนี้ได้มีการแสดงละคร โดยมีโอซา แวง นางเอกมิวสิกวิดีโอ 3 เพลงในอัลบั้มแครชชิง (Crashing) และแน๊ป นักร้องนำวงเรทโทรสเปค มาร่วมแสดงด้วย และยังมีเบน ซิลลี่ฟูลส์ มาร่วมร้องในเพลง จิ๊จ๊ะ และฟลายอิง (Flying) และชิน ชินวุฒิ อินทรคูสิน มาร่วมร้องเพลง โรคประจำตัว อีกด้วย นอกจากนี้ วงแคลชยังได้มีเพลงใหม่ 2 เพลงที่แต่งขึ้นเพื่อคอนเสิร์ตครั้งนี้โดยเฉพาะคือเพลง ซากคน และสักวันฉันจะไปหาเธอ
ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น วงแคลชได้ประชาสัมพันธ์ถึงอัลบั้มพิเศษ และกิจกรรมพิเศษที่ให้โอกาสแฟนเพลงมาร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอเพลงในอัลบั้มพิเศษ และภาพของแฟนเพลงยังได้ลงไว้ในปกอัลบั้มนี้ด้วย โดยอัลบั้มพิเศษนี้มีชื่อว่า แฟน (FAN) วางแผงในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 มิวสิกวิดีโอเพลงที่แฟนเพลงร่วมกันแสดงมีชื่อว่า เกินคำว่ารัก ซึ่งเป็นเพลงใหม่ในอัลบั้มนี้ ส่วนเพลงอื่นในอัลบั้มอีก 7 เพลงเป็นเพลงเก่าตั้งแต่อัลบั้ม วัน (One) และนำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่เป็นดนตรีออเคสตร้า เช่นเพลง เธอคือนางฟ้าในใจ ไฟรัก หนาว วังวน เป็นต้น และอีก 2 เพลงคือเพลง ซากคน และสักวันฉันจะไปหาเธอ ที่แต่งไว้สำหรับคอนเสิร์ต แคลช อาร์มี่ ร็อก คอนเสิร์ต (Clash Army Rock Concert) ได้ถูกรวมไว้ในอัลบั้มนี้อีกด้วย
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2551 นี้ วงแคลชได้ซุ่มทำเพลงอัลบั้มชุดที่ 6 ถึงที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากพวกเขารู้จักและสนิทสนมกับโปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานร่วมกันที่ชื่อ แดเนียล เลฟเฟลอร์ (Daniel Leffler) ต้องการเสียงดนตรีที่แปลกใหม่ และที่นั่นมีค่าใช้จ่ายน้อย แต่มีคุณภาพดี แต่ก็ประสบปัญหากันในเรื่องเกี่ยวกับเสียงดนตรี เนื่องจากความเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ในที่สุดก็ได้ผลงานอัลบั้มนี้ออกมา และได้ประกาศชื่ออัลบั้มชุดนี้ ว่า ร็อก ออฟ เอจเจส (Rock of Ages)โดยได้ถ่ายทำคลิปวิดีโอเบื้องหลังการทำงานอัลบั้มนี้จำนวน 5 คลิป คลิปละประมาณ 5 นาที นำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ gmember.com และได้ปล่อยผลงานเพลงแรกในอัลบั้มนี้ทางคลื่นฮอตเวฟ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เพลงนี้มีชื่อว่า รักเองช้ำเอง โดยเสียงดนตรีในอัลบั้มนี้จะมีความเป็นสากลมากขึ้น มีความเข้มข้นมากขึ้น
โดยในวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่วางแผง ได้มีการจัดคอนเสิร์ตเปิดตัวอัลบั้มนี้ ที่อาคารแกรมมี่เพลส ชั้น 21 ซึ่งวงแคลชได้กล่าวถึงเรื่องราวขำขันปนจริงจังกับการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และกล่าวถึงมิวสิกวิดีโอเพลงในอัลบั้มนี้ที่จะปล่อย 4 เพลงออกมาเป็นรูปแบบของซีรีส์แบบเดียวกับอัลบั้มก่อนหน้านี้ ซึ่งได้แก่เพลง รักเองช้ำเอง ถอนตัว ปฏิเสธรัก และความทรงจำครั้งสุดท้าย (The Last Memorial)
นอกจากผลงานเพลงแล้ววงแคลชยังร่วมมือกันเปิดร้านอาหารที่มีชื่อว่า แคลงก์ (Clank) ที่บริเวณถนนศรีนครินทร์ หลังห้างซีคอนสแควร์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกับขันเงิน และเดย์ ศิลปินจากวงไทยเทเนี่ยม และได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกของวงแคลชชื่อ ดาร์คโน้ตสตูดิโอ (Dark Note Studio) ที่จะกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของสมาชิกแต่ละคน
วงแคลชมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน โดยมีตำแหน่งร้องนำ 1 คน กีต้าร์ 2 คน เบส 1 คน และกลองอีก 1 คน ดังนี้
ปรีติ บารมีอนันต์ (แบงค์) ร้องนำ (เกิด 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525) คชภัค ผลธนโชติ (พล) กีตาร์ (เกิด 2 มกราคม พ.ศ. 2524) ชื่อเดิมคือ ธนะพล ฤกษ์สมผุส ฐาปนา ณ บางช้าง (แฮ็คส์) กีตาร์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2524) สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ (สุ่ม) เบส (เกิด 21 มกราคม พ.ศ. 2525) อนันต์ ดาบเพ็ชรธิกรณ์ (ยักษ์) กลองชุด (เกิด 24 มกราคม พ.ศ. 2525)