จากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงและมดเพิ่มมากขึ้น และในขณะนี้มีมดคันไฟตัวใหม่สายพันธุ์ใหม่ invicta หรือที่เรียกๆ กันว่า มดคันไฟ อินวิคต้า (Solenopsis invicta) เกิดขึ้นในโลกเรา ซึ่ง รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา แห่งภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ มดคันไฟ invicta หรือ มดคันไฟ อินวิคต้า ดังนี้ …
ชื่อวิทยาศาสตร์ ของ มดคันไฟ invicta
มดคันไฟอินวิคต้า หรือ Red imported fire ant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solenopsis saevissima wagneri อยู่ในวงศ์ Formicidae (Solenopsis invicta) ถูกตีพิมพ์โดยบูเรน(Buren) ในปี ค.ศ. 1972 เป็นชื่อรองหรือ ชื่อตั้งสงวนไว้(nomen protectum) เนื่องจากความจริงแล้วชื่อแรกของมดชนิดนี้ คือ Solenopsis saevissima wagneri ถูกตั้งโดยแซนต์ชิ (Santschi) ในปี ค.ศ. 1916 ซึ่งกลายเป็น ชื่อตั้งไม่นิยม เพราะมีเอกสารมากกว่าพันฉบับที่ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ invicta ก่อนที่จะมีคนค้นพบว่าเป็นชื่อพ้อง และในปี ค.ศ. 2001 ICZN บังคับให้ invicta เป็นลำดับเหนือกว่า wagneri
ลักษณะของ มดคันไฟ invicta
สำหรับรูปร่างหน้าตาภายนอกของ มดคันไฟ invicta แทบจะไม่มีความแตกต่างจากมดคันไฟที่พบเห็นในประเทศไทย แต่จะมีผิวลำตัวเรียบและสดใสกว่า และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีฟันตรงกลางริมฝีปากบน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น ต้องอาศัยแว่นขยายช่วย
ถิ่นกำเนิด ของ มดคันไฟ invicta
มดคันไฟ invicta มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก และเริ่มขยายพันธุ์เข้ามาในเอเชียเมื่อ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบในไต้หวัน ฮ่องกง เป็นที่แรกๆ และคาดว่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยในไม่ช้า
ถิ่นอาศัย ของ มดคันไฟ invicta
มดคันไฟ invicta ชอบสร้างถิ่นอาศัยบริเวณที่มีน้ำไหลเวียน มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 550 มิลลิเมตรต่อปี อาทิ พื้นที่การเกษตร สวนป่า ทุ่งหญ้า ฝั่งแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล ทะเลทราย และสนามกอล์ฟ มักสร้างถิ่นอาศัยแบบเป็นรังหรือเป็นจอมโดยใช้มูลดิน ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ความสูงประมาณ 4 - 24 นิ้ว ส่วนมดคันไฟที่มีอยู่ในไทยจะสร้างรังเรียบๆ กับพื้น ไม่มีจอม และมีจำนวนประชากรมากถึง 500,000 ตัวต่อรัง ขณะที่มดคันไฟธรรมดาจะมีเพียง 10,000 ตัวต่อรัง
พิษของ มดคันไฟ invicta
มดคันไฟ invicta ยังมีพิษร้ายแรง เหล็กในจากมดชนิดนี้มีพิษสะสม ทำให้เกิดอาการไหม้และคันอย่างรุนแรง พิษจะออกฤทธิ์อยู่นานเป็นชั่วโมง และเป็นเม็ดตุ่มพองซึ่งกลายเป็นหนองสีขาว เมื่อตุ่มหนองนี้แตกก็สามารถมีแบคทีเรีย เข้าไปและเป็นแผลเป็น บางคนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจะก่อให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ มดคันไฟ invicta มีความก้าวร้าวสูงมาก เมื่อมันต่อยจะฉีดสารพิษกลุ่ม alkaloid ทำให้เนื้อเยื่อตาย มีรายงานว่า ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกามีประชาชนประมาณ 25,000 คน ที่ต้องหาหมอเพื่อรักษาจากการโดนต่อยของมดชนิดนี้ และด้วยวิธีการโจมตีเหยื่อแบบรุมต่อยเป็นร้อยๆ ตัว ทำให้เหยื่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากได้รับบาดเจ็บถึงขั้นสาหัส หรือเสียชีวิตได้เลย
มดคันไฟ invicta กับผลกระทบต่อระบบนิเวศ
มดคันไฟ invicta สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนประเทศที่มีการระบาดของ มดคันไฟ invicta ต้องมีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยขึ้นมา เพื่อยับยั้งการขยายพันธุ์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่โดนต่อย และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการกัดกินพืชผักต่างๆ
ทั้งนี้ มดคันไฟ invicta ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมดชนิดนี้มีจำนวนมาก ชอบรุกราน ชอบทำลายอย่างมาก และยังไม่มีศัตรูทางธรรมชาติที่จะกำจัดมดชนิดนี้ออกไปได้ จึงทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพวกมันจะเข้าโจมตีไข่นก และสัตว์เลื้อยคลานที่อายุน้อยจำนวนมาก และในพื้นที่ที่มีมดชนิดนี้สูงมากจะเข้าทำลายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น พวกสัตว์ฟันแทะ และยังล่ากลุ่มผึ้งที่หากินเดี่ยวๆ ด้วย
ในสหรัฐอเมริกา มดคันไฟ invicta สร้างความเสียหายทางการเกษตรได้ในวงกว้าง ด้วยการเข้าไปทำลายระบบรากของพืช เช่น ถั่วเหลือง พืชตระกูลส้ม ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มะเขือ ถั่วเขียว เป็นต้น และทำความเสียหายในเครื่องมือการเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า พื้นที่สาธารณะ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ปัจจุบัน มดชนิดนี้สร้างความเสียหายมาก กว่า 320 ล้านเอเคอร์ ใน 12 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและเปอร์โตริโก
อย่างไรก็ตาม ในอเมริกา มดคันไฟ invicta เป็นตัวห้ำหั่นที่ดีเยี่ยมในธรรมชาติ และเป็นการควบคุมทางชีววิธีสำหรับศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน แต่มดชนิดนี้ก็ยังเป็นตัวทำลายแมลงพวกผสมเกสร เช่น ผึ้งที่สร้างรังใต้ดิน และยังกินเมล็ด ใบ ราก เปลือก น้ำหวาน น้ำเลี้ยง เชื้อรา และมูลต่างๆ เป็นอาหารด้วย ซึ่งจะสร้างมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเกษตรนับพันล้านบาทต่อปี
ประโยชน์ของ มดคันไฟ invicta
ถึงแม้ มดคันไฟ invicta จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมหาศาล แต่มดชนิดนี้ก็มีประโยชน์ในการกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน เป็นต้น