6 หนังไทยจากข่าวอาชญากรรมดัง
ข่าวดังนอกจากเป็นที่สนใจในแง่ เป็นประเด็นที่สะท้อนปัญหาในสังคมแล้ว ในวงการบันเทิง หรือหนังก็มีการหยิบยกเรื่องราวเหล่านั้นมาทำเป็นหนังอยู่เสมอ วันนี้ผมจึงนำเอาหนัง 6 เรื่องที่หยิบยกเอาคดีดังของไทยมาสร้างเป็นหนังครับ
1. บุญเพ็งหีบเหล็ก บุญเพ็ง เป็นฆาตกรฆ่าหั่นศพแบบต่อเนื่องรายแรกของประเทศไทย และเป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการถูกบั่นศรีษะ ใน รศ. 242 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฉายา บุญเพ็งหีบเหล็ก เนื่องจาก เขาฆาตกรรมผู้หญิงและหั่นศพใส่หีบเหล็กโยนทิ้งน้ำ เหยื่อของเขาล้วน แต่ ตกหลุมสวาทของเขา เนื่องจากเขาเป็นคนรูปร่างดี ดูสุภาพอ่อนโยน และพูดจาดี อีกทั้งเรียนทางไสยเวทย์มา ตั้งสำนักหมอผี ให้บริการดูดวง สะเดาะเคราะห์ และทำเสน่ห์ยาแฝด อยู่บริเวณคลองบางลำพู เหยื่อของเขามีถึง 7 คน ก่อนที่จะถูกจับได้
มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ถึง 2 ครั้งในปี 2510 และ 2523 โดยผู้กำกับ พยุง พยกุล คนเดียวกัน และมีดารานำคือ สมบัติ เมทะนี และ ปริศนา ชบาไพร นำแสดง ต่างกันตรงดารารอง โดยปี 2510 มีแมน ธีระพล และดาวยั่ว ชฏาพร วชิรปราณี แสดง และในปี 2523 มี ไพโรจน์ ใจสิงห์ และ สุพรรณี จิตต์เที่ยง, ลลิตา กระแสนิธิ ดาราใหม่ นับว่าเป็นคดีที่โหดร้ายมาก และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการประหารบุญเพ็ง ว่าไม่สามารถบั่นหัวได้ในครั้งแรก และศพของเขาก็ไม่เผาใหม้บริเวณรอยสัก ญาติเก็บกระดูกใส่เจดีย์ไว้ข้างอุโบสถ์วัด จนช่วงหลังเจดีย์ถูกรื้อออก ปัจจุบันทางวัดภาษี จึงได้ให้ช่างปั้นรูปปั้นจำลอง ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อ พ.ศ.2537 ตั้งไว้ในศาลเล็ก ๆ ติดกับวิหาร ซึ่งเป็นอนุสรณ์ว่า เขาเป็นนักโทษประหารคนสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2474
2. ซีอุย จากเรื่องจริงของฆาตกรโหด ซีอุย แซ่อึ้ง ที่ฆ่าเด็กและนำตับมาต้มกินในช่วงปี พ.ศ. 2497-2501 โดยมีเด็กอย่างน้อย 6 คนที่ถูกนายซีอุยสังหาร ซีอุย อาศัยเป็นชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทยและขึ้นฝั่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง แต่คนไทยที่นั่นนิยมเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย ซีอุยทำงานด้วยการรับจ้างทำสวนผักและรับจ้างทั่วไป มีนิสัยชอบเกาหัวและหาวอยู่เสมอ ๆ บุคคลิกชอบเก็บตัว และนายซีอุยได้จับเด็กมาผ่าเอาตับมากินโดยเชื่อว่าเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ โดยได้ทำการฆ่าเด็ก 3 รายแรก ที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุดท้ายถูกจับได้หลังจากคดีฆาตรกรรมในจังหวัดระยอง ซึ่งสุดท้ายโดนจับขังคุกและประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502 ก่อนถูกประหารซีอุยรับว่า เมื่อสมัยอยู่เมืองจีน ได้ถูกเป็นเกณฑ์เป็นทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กินเนื้อมนุษย์เป็นครั้งแรกจากศพของเพื่อนทหารด้วยกัน จึงติดใจในรสชาติ เนื่องด้วยไม่มีอะไรจะกิน
ศพของซีอุยถูกเก็บเพื่อนำมาตรวจสอบ โดยเก็บรักษาไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยยังคงถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" ความโหดเหี้ยมของซีอุยนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกหยิบมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทยหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้ง ก็ได้ตอกย้ำภาพความน่ากลัวของชายจีนรูปร่างผอมเกร็ง มีมีดสั้นเป็นอาวุธ ที่ใช้กระชากวิญญาณเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ และต้องกินหัวใจมนุษย์ทุกครั้งที่รู้สึกมีความต้องการ เคยมีการสร้างเป็นละครทีวี โดยนำครูช่าง ชลประคัล จันทร์ เรือง มาเล่นเป็นซีอุย ตอนผมเป็นเด็กๆ ก็มักจะถูกหลอกเสมอโดยผู้ใหญ่ ว่าไม่ให้ไปเล่นนอกบ้านไกลๆ ไม่งั้นซีอุยจะมาควักตับไปกิน และ ปี 2547 นำมาสร้างอีกครั้ง โดย แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส สร้างนั้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดภาพและความเข้าใจซีอุยในแบบเดิม นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา แห่ง สยามสตูดิโอ และ บุรณี รัชไชยบุญ ผู้กำกับ ตีความอีกแบบ โดยใช้ตัวละคร นักข่าวผู้หญิงมาดำเนินเรื่อง ซีอุยภาคนี้ ถูกมองโดยได้รับความเห็นใจมากขึ้น เรื่องนี้เล่นโดย ดาราชาวจีนครับ แต่ในปัจจุบัน ความโหดร้ายจากการที่เด็กถูกกระทำและเป็นเหยื่ออาชญากรรมนั้น ยังคงดำรงอยู่ แลอาจจะน่ากลัว กว่าเรื่องราวของซีอุยหลายเท่า เพียงแต่สังคมชินชา กับความโหดร้ายดังกล่าวแล้วหรือไม่
3. นวลฉวี เดือนกันยายน 2502 กลุ่มชายฉกรรณ์กลุ่มหนึ่ง ได้สังหาร นวลฉวี ตามคำว่าจ้าง แล้วนำศพมาทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานนทบุรี อีก สองวันต่อมา มีคนพายเรือมาพบศพ และพบร่องรอยฆาตกรรมอย่างทารุณ บนนิ้วพบแหวน มีตัวอักษร ราชเดช และนำไปสู่การสอบปากคำ หมออุทิศ ราชเดช และนำไปสู่การจับกุมตัวในที่สุด เรื่องนี้เป็นข่าวดังในยุคนั้น เนื่องจากคนที่จ้างวานเป็นถึงนายแพทย์ และเป็นสามีของผู้ตาย จนมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และ ละครทีวีหลายครั้ง รวมถึงสะพานที่พบศพนวลฉวี ชาวบ้านก็เรียกชื่อตามนวลฉวีด้วยครับ ปี 2527 สินจัย หงษ์ไทย รับบทนวลฉวี พยาบาลสาวที่มีรักแท้ โดยมี อภิชาติ หาลำเจียก นักแสดงหนุ่มในยุคนั้น ก่อนที่จะมาเอาดีทางการเมือง รับบทหมออุทิศ เรื่องนี้ ทำให้ สินจัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำหญิง ด้วยครับ
4. คืนบาปพรหมพิราม สร้างจากคดีสะเทือนขวัญ ปี 2520 ที่ อ. พรหมพิราม จ. พิษณุโลก เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนค่านิยมทางเพศ ที่ผู้ชายมองผู้หญิงเพียงเป็นวัตุทางเพศ และกระทำต่อผู้หญิงคนหนึ่ง และกลายเป็นคดีอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ คดีหนึ่ง และ กระทำโดยผู้คนหลายหลายอาชีพ กว่า 30 ชีวิต ที่มาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เรื่องนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อปี 2546 กำกับโดยมานพ อุดมเดช แสดงโดย พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ แสดงเป็นหญิงสาวผู้โชคร้าย และ สมภพ เบญจาธิกุล รับบทนายตำรวจ หนังเรื่องนี้ ฮือฮาพอสมควร เมื่อเข้าฉายครับ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเรื่องไป จาก คนบาป พรหมพิราม เป็น คืนบาป พรหมพิราม ในที่สุด
5. เชอรี่แอน จากคดีฆาตกรรม เด็กสาวลูกครึ่ง อายุ16 ปี เชอรี่แอน เมื่อปี 2529 และกลายเป็นคดี แพะประวัติศาสตร์ ของวงการยุติธรรมไทย นำสูการเปลี่ยนแปลงในการรับฟังพยานบุคคลในศาล ในปัจจุบัน และ การที่กระบวนการยุติธรรมต้องชดเชยในกรณีตัดสินผิดพลาดแก่เหยื่อ ถูกสร้างเป็นหนังเมื่อปี 2544 กำกับโดย จรูญ วรรธนะสิน แสดงโดย รุ่งนภา บรู๊ค รับบท เชอรี่แอน และ ชฎาพร รัตนากร รับบท ทนายสาว เป็นเรื่องของ รัก 4 เส้า ชาย 1 หญิง 3 ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ยิ่งกว่านวนิยายจน.....ความรัก ความหึงหวง ความอิจฉาริษยา ความโลภ นำไปสู่โศกนาฏกรรมการตาย ของ เชอรี่แอน โดยพบศพเธอที่ป่าแสมริมถนนสุขุมวิทเก่า ใกล้บางปู และมีการจับกุมนาย วิชัย ชนะพานิชย์ นักธุรกิจ พร้อมบริวาร ในฐานะผู้ต้องหาจ้างฆ่า แต่นายวิชัยรอดพ้นข้อหาได้อย่างหวุดหวิด แต่บริวาร 4 คนของเขา ก็ถูกสร้างพยานเท็จหลักฐานปลอม จนถูกศาลขั้นต้นสั่งประหารชีวิต แพะทั้งหมดต้องถูกจองจำ เผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายในคุกไม่น้อยกว่า 6 ปี กว่ากระบวนการศาลอุทธรณ์และศาลฏีกา ภายใต้การรื้อฟื้นคดีของกองปราบ จะพิสูจน์ได้ว่าทั้ง 4 คนเป็นคนผู้บริสุทธิ์ แต่เขาทั้ง 4 ล้วนพบกับสภาพครอบครัวแตกสลาย หนึ่งคนตายในคุก สองคนออกมาเสียชีวิตหลังพ้นจากเรือนจำไม่นาน เหลืออีกหนึ่งเดียว ต้องอยู่อย่างพิการไปชั่วชีวิต เป็นผลจากระบบการสืบสวนผู้ต้องหา ของตำรวจเลวเพื่อเค้นให้รับสภาพ และในที่สุดก็นำไปสู่การ สืบหา ติดตาม ไล่ล่า และ จับผิดฆาตกรตัวจริง นายสมัคร ธูปบูชาการและนายสมพงษ์ บุญญฤิทธิ์ และผู้จ้างวาน นส.สุวิมล พงษ์พัฒน์ มาลงโทษจนสำเร็จ
6. ศยามล เรื่องเกิดที่หัวหิน ปี 2536 เป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อพบศพศยามลครั้งแรก โดยพระภิกษุที่เดินบิณบาตร เพราะพบว่ามีเด็กหญิงนั่งร้องให้อยู่ข้างๆศพแม่ แสดงให้เห็นว่า ฆาตรกรฆ่าศยามล ต่อหน้าลูกน้อยเลยครับ คดีนี้จึงเป็นที่สนใจมาก เรื่องนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อปี 2538 กำกับโดย อภิชาติ หาลำเจียก จอนนี่ แอนโฟเน่ แสดงเป็น นายแพทย์บัณฑิต ผู้จ้างวานฆ่าภรรยาตัวเอง นางศยามล ลาภก่อเกียรติ ต่อหน้าลูกสาว วัย 2 ขวบ ช่วงนั้นก็เป็นที่วิจารณ์เหมือนกัน มาหยิบยกมาทำหนังเร็วเกินไปรึเปล่า เพราะเป็นคดีสะเทือนขวัญ และเพิ่งเกิดเรื่องได้ไม่นาน ครอบครัวของผู้เกี่ยวข้องอาจได้รับผลกระทบไปด้วย จะเห็นได้ว่าคดีที่มีนายแพทย์ เป็น ฆาตกร มักจะได้รับความสนใจ เนื่องจาก แพทย์ ถือว่าเป็นบุคคลที่สังคมให้ความเคารพอย่างสูงน่ะครับ แต่ในทุกหมู่คน ก็มักมีคนไม่ดีปนมาด้วยเสมอ มีคดี นายเสริม สาครราษฎร์ อีกคดีหนึ่งที่นำมาสร้างเป็น หนังแผ่น แต่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ครับ และคดี หมอวิสุทธิ์ ที่เป็นที่สนใจ นับว่าเป็นคดีใหม่ๆ ที่คงต้องรอคอยเวลา เยี่ยวยา ผลกระทบของครอบครัวผู้เกี่ยวข้องอีกสักระยะหนึ่งน่ะครับ
แต่จะให้ดี ไม่มีคดีสะเทือนขวัญมาให้เป็นข้อมูลสร้างหนัง น่าจะดีกว่าน่ะครับ ขอให้มันเป็นแค่เพียงนวนิยายจะดีกว่าครับ