read:http://variety.teenee.com/world/77151.html
เมื่อตรวจสอบหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้นจึงได้ข้อสรุปว่าสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ หลังจากถูกออกพระเพทราชาและออกหลวงสุรศักดิ์ร่วมกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจที่เมืองลพบุรีราว ๒ เดือน แต่สาเหตุการสวรรคตยังมีหลักฐานกล่าวไปในหลายแนวทางมาก
หลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่าสวรรคตเนื่องจากทรงพระประชวรเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ส่วนพงศาวดารไทยที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์กล่าวว่าสวรรคตเนื่องจากพระปีย์ซึ่งเป็นโอรสบุญธรรมร้องขอให้ทรงช่วยขณะถูกจับไปประหาร ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงร้องว่า "ใครทำอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า" แล้วสวรรคตในวันนั้น อย่างไรก็ตามลำดับเหตุการณ์และศักราชของพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีความขัดแย้งกับหลักฐานร่วมสมัยอยู่หลายประเด็น บางหลักฐานก็กล่าวไปในแนวทางอื่น เช่นปรากฏข่าวลือว่าสมเด็จพระนารายณ์ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ ด้วยการวางแผนของออกพระเพทราชาและ ดาเนียล โบรเชอบูรด์ (Daniel Brochebourde) ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่แปลงสัญชาติเป็นดัตช์
แต่ในที่นี้ผมจะกล่าวจึงหลักฐานที่กล่าวถึงการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ที่ผิดแผกไปจากหลักฐานอื่น คือพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งได้กล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีนี้นามว่า "ขุนองค์"
ก่อนจะลงไปเรื่องขุนองค์ จะขออธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่ความไม่ตรงกับฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ก่อนครับ
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาส่วนใหญ่ชำระต่อเป็นทอดๆ โดยฉบับหลวงที่มีความตั้งแต่สถาปนากรุงจนเสียกรุงที่ยังคงเนื้อความเก่าสมัยอยุทธยาบางส่วน น่าจะเป็นพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงชำระใน พ.ศ. ๒๓๓๘ มีเนื้อหาตั้งแต่การสถาปนากรุงไปถึงรัชกาลพระเจ้าเสือ แต่ความในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จบแค่ช่วงกลางรัชกาลที่พระยาโกษาธิบดียกทัพไปตีเมืองไทรโยค แล้วปรากฏข้อความว่า "ยังขาดอยู่ ๒ สมุด แต่ศักราช ๑๐๓๐ เศษ" จากนั้นความต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ก็สวรรคตแล้ว (ลงศักราชเร็วไป ๖ ปี) จึงเข้าใจว่าเนื้อหาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์สูญหายไปแต่เดิม จึงถูกปล่อยว่างไว้
จากนั้นจึงปรากฏในพงศาวดารฉบับนี้ว่าเจ้าพระยาพิพิธพิชัย(น่าจะเป็นเจ้าพระยาเพชรพิชัย) ชำระพงศาวดารใหม่ตั้งแต่ช่วงก่อนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตเล็กน้อยลงมาจนถึงเสียกรุงศรีอยุทธยา โดยได้มีการระบุสาเหตุการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ว่า "ครั้นจวนสวรรคต พะยุงลุกพะยุงนั่งอยู่แล้ว พระปีบุตรขุนไกรสิทธิศักดิบ้านแก่งใหม่ ทรงพระกรุณาเอามาเลี้ยงไว้ให้มีพี่เลี้ยง นางนม ดุจหนึ่งลูกหลวง ครั้นทรงประชวรหนักลง ทรงพระกรุณาสั่งให้เข้ามานอนในที่ตรงปลายพระบาท เพลาเช้าตรู่ พระปีออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้วชาลาพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ขุนพิพิธรักษาชาวที่ผลักพระปีตกชาลาลงไป ร้องได้คำเดียวว่า ทูลกระหม่อมช่วยด้วย เขากุมตัวไปประหารชีวิตเสีย ทรงได้ยินเสียงพระปี เสด็จนั่งขึ้นได้ ตรัสว่าใครทำไมแก่อ้ายเตี้ยเล่าแล้วเสด็จสวรรคตในวันนั้น"
ฉบับที่ชำระต่อมาคือ พงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งชำระในปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ ก่อน พ.ศ. ๒๓๕๐ ได้ขยายความเนื้อหาที่ขาด ๒ เล่มสมุดไทยเพิ่ม ซึ่งพิจารณาแล้วเป็นความพิสดารคลาดเคลื่อนเสียมาก แต่ในเรื่องการสวรรคตยังคงไว้ตามฉบับพันจันทนุมาศคือ สวรรคตเพราะได้ยินเสียงพระปีย์เรียกให้ช่วย ส่วนพงศาวดารที่ชำระในลำดับต่อๆ มาอย่างฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับพระราชหัตถเลขามีเนื้อหาตอนนี้ไม่ต่างจากฉบับบริติชมิวเซียม
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าคือความตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตตั้งแต่ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นต้นมา มีความคลาดเคลื่อนในการลำดับเหตุการณ์สูงเมื่อเทียบกับหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้น คือระบุปีสวรรคตเร็วกว่าเหตุการณ์จริงไป ๖ ปี และลำดับเหตุการณ์ผิด . ซึ่งตามหลักฐานร่วมสมัยระบุว่าเกิดรัฐประหารที่เมืองลพบุรีและมีการลวงออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนซ์ ฟอลคอน) เข้ามาพระราชวังเพื่อจับกุมในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๒๓๑ พระปีย์ถูกจับไปประหารในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ออกญาวิไชยเยนทร์ถูกประหารชีวิตในวันที่ ๕ มิถุนายน พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งสองพระองค์ถูกสำเร็จโทษประมาณ ๙-๑๐ กรกฎาคม ส่วนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม
แต่พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศลำดับเหตุการณ์ว่า เริ่มจากจับพระอนุชาไปสำเร็จโทษ แล้วจากนั้นพระปีย์ถูกจับไปประหารสมเด็จพระนารายณ์จึงสวรรคต แล้วจึงมีการเรียกพระยาวิไชยเยนทร์เข้าวังไปประหาร ส่วนพงศาวดารที่ชำระหลังจากนั้นระบุว่า เริ่มจากการยึดอำนาจ ลวงเจ้าพระยา วิไชยเยนทร์มาประหาร จับพระปีย์ประหาร สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต แล้วค่อยเชิญพระอนุชาจากอยุทธยามาสำเร็จโทษ . ซึ่งป็นไปได้ว่าที่เนื้อหาคลาดเคลื่อน คงเพราะไม่มีพงศาวดารความเก่าไว้ให้ตรวจสอบเนื้อหา แต่อาจชำระโดยอาศัยหลักฐานหรือคำบอกเล่าประกอบกัน ทำให้ความคลาดเคลื่อน
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ถูกค้นพบในภายหลัง มีเนื้อความตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมาจบในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระผิดแผกจากพงศาวดารฉบับอื่น แต่มีศักราชถูกต้องตรงกับหลักฐานร่วมสมัย ที่สำคัญคือการลำดับเหตุการณ์และเวลาสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงอย่างกลางๆ ไปถึงในด้านบวก ต่างจากพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ที่กล่าวถึงในแง่ลบเสียมาก จึงสันนิษฐานว่าพงศาวดารฉบับนนี้ชำระตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุทธยา
อย่างไรเสียพงศาวดารฉบับนี้ยังมีความน่ากังขาอยู่บ้าง เช่น ระบุปีเกิดกบฏธรรมเถียรผิด บอกว่าพระเจ้าเสือครองราชย์ ๗ ปีถูกต้อง แต่ระบุศักราชผิด
พงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ลำดับเหตุการณ์ใน จุลศักราช ๑๐๕๐ (พ.ศ. ๒๒๓๑) เริ่มจากสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปอยู่เมืองลพบุรีแล้วประชวรลง พญาสุรศักดิ์ (หลวงสุรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือ) จะเข้าไปจับพระปีย์ พระปีย์วิ่งเข้าไปเฝ้าที่ห้องพระบรรทมร้องขอให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงช่วย จนพระเพทราชา หลวงสุรศักดิ์ไปยืนอยู่ที่พระทวารทั้ง ๒ คน สมเด็จพระนารายณ์จะเอาพระแสงปืนยิง แต่ทรงอ่อนพระกำลังลุกไม่ได้ (พระปีย์ยังไม่ถูกจับในเวลานั้น) บ่ายวันนั้น พญาวิไชยเยนทร์ถูกลวงเข้ามาในพระราชวังแล้วถูกจับ จากนั้นจึงเข้าไปจับพระปีย์ แล้วจับไปประหารทั้ง ๒ คนในภายหลัง หลังจากนั้นจึงลวงเจ้าฟ้าอภัยทศขึ้นมาจากกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งก็ถูกจับไปสำเร็จโทษ ลำดับเหตุการณ์ตรงตามหลักฐานร่วมสมัยทุกประการ
หลังจากเหตุการณ์สำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยทศ (หลักฐานร่วมสมัยว่า ๑-๒ วันก่อนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต) พงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ดำเนินเหตุการณ์ต่อมาคือตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ระบุว่า . "พระราชรักษาให้เรยีนถามพญาเพชราชาพญ่าสุระศักว่าพรอมแลวัหรือหยงั บอกว่าพรอมแลว้ ขุนองคอยู่งานถอนนืวขึนัจากพระองคพระโอษฐงับก็หนึงใป วัน ๗ ๕+ ๙ คำ เพลา ๑๐ ทุมเสดจ์นีพาน ฯ" (พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ ว่าพร้อมแล้วหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่มเสด็จนิพพาน)
พงศาวดารบรรยายความไว้อย่างกำกวม โดยสรุปคือพระเพทราชากับหลวงสุรศักดิ์มีการนัดแนะบางประการกับพระราชรักษาว่าถึงเวลาแล้ว จากนั้นขุนองค์ได้ "ถอนนิ้ว" จากพระวรกายสมเด็จพระนารายณ์ พระโอษฐ์ของสมเด็จพระนารายณ์ที่อ้าอยู่ก็งับแล้วนิ่งไป จึงเสด็จสวรรคต . ที่น่าสนใจคือหลังจากนั้น พงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ได้ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเพทราชาครองราชย์แล้ว "เอาขุนองคเปนพญาสุรสงคราม พระราชทานเครืองสูง" . พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุใกล้เคียงกันว่า "ขุนองค์ขุนสนิท มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม"
ส่วนพงศาวดารที่ชำระสมัยหลังขยายความว่าเมื่อพระเพทราชาได้ราชสมบัติ ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้เจ้าพระยาสุรสงครามที่มีความชอบลวงออกญาวิไชยเยนทร์มาสังหารให้มีเครื่องยศศักดิ์เสมอกรมพระราชวังหลัง แต่ภายหลังทรงหาเหตุประหารเจ้าพระยาสุรสงคราม "แล้วทรงพระกรรุณาตั้งฃุนองคมีความชอบ ให้เปนพญาสุระสงครามแทนที่พระราชทารเครื่องยศให้ตามตำแหน่งถานานุศักดิ์" . เนื่องจากพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของขุนองค์ในที่อื่น จึงอนุมานได้ว่าสิ่งที่ขุนองค์ทำกับสมเด็จพระนารายณ์ตามที่ระบุในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) นั้นคือ "ความชอบ" ที่ทำให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นไปถึงพระยาสุรสงคราม แล้วขุนองค์ทำอะไรกับสมเด็จพระนารายณ์ ?
นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) ตอนนี้ไว้ในหนังสือ "เกร็ดสนุกในอดีต" ว่า
"ข้อความนี้มีความหมายอย่างไร เหตุใดพระราชรักษาจึงถามพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ว่าพร้อมแล้วหรือยัง พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ก็ตอบว่าพร้อมแล้ว หลังจากนั้นเราอ่านพบว่า ขุนองค์ถอนนิ้วขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์ และเมื่อทำเช่นนั้นพระโอษฐ์ (ปาก) ก็งับแน่นิ่ง และเสด็จสวรรคต ขุนองค์นี้เป็นใครเราไม่ทราบดี เพราะเหตุใดคนที่มีตำแหน่งแค่เป็นท่านขุนจึงใช้นิ้วแตะต้องร่างกายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเรื่องน่าสงสัย และข้อเขียนนี้ทำให้เรามีความเข้าใจว่า ระหว่างที่นิ้วของขุนองค์ยังไม่ถอนขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์นั้น พระโอษฐ์อ้าอยู่ ต่อเมื่อถอนนิ้วแล้วพระโอษฐ์จึงงับ และสมเด็จพระนารายณ์แน่นิ่งไป ถ้าคิดตามหลักแพทย์สมัยใหม่ทำให้มีความรู้สึกว่า มนุษย์เราจะอ้าปากก็ต่อเมื่อในเวลาถูกผู้อื่นใช้นิ้วบีบเค้นอก และเมื่อถอนนิ้วปล่อยมือออกแน่นิ่งถึงแก่ความตายแล้ว ปากมักจะงับกลับลงมาตามเดิม จึงอยากตั้งข้อคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะประชวรหนักอยู่ใกล้ความตายเต็มทีแล้ว พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ได้สั่งการให้พระราชรักษาและขุนองค์เค้นคอเสียให้เสด็จสวรรคตเมื่อรู้สึกว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว"
ข้อสันนิษฐานของ น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการ นับว่าน่าสนใจมาก และยังอธิบายตามหลักการแพทย์ได้ด้วย . เมื่อไปค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับขุนองค์ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้น โดยพบหลักฐานในพระไอยการนาพลเรือน กล่าวถึงทินนาม "ขุนองครักษา" ซึ่งเป็นตำแหน่งปลัดกรมหมอนวดซ้าย ศักดินา ๘๐๐ ไร่ ถ้าจะเรียกตำแหน่งนี้ย่อว่า "ขุนองค์" ก็ไม่ประหลาดเลย . การที่ขุนองค์เป็นหมอนวด จึงตอบข้อสงสัยของ น.พ.วิบูล ได้ว่าทำไมคนที่มีตำแหน่งเพียงขุนถึงแตะต้องพระวรกายได้ เนื่องจากเป็นหมอนวดหลวงที่ทำหน้าที่ถวายการนวด ที่พงศาวดารระบุว่า "ขุนองคอยู่งาน" ก็เข้าใจว่าขุนองค์อยู่งานถวายนวดสมเด็จพระนารายณ์ในเวลานั้นนั่นเอง นอกจากนี้ผู้ที่เป็นหมอนวดที่สามารถถวายนวดย่อมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องร่างกายเป็นอย่างดีและคงรู้ว่าจุดไหนในร่างกายที่สามารถก็ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
และเมื่อลองค้นคว้าหาเกี่ยวกับพระราชรักษาที่ได้นัดแนะกับพระเพทราชาและหลวงสุรศักดิ์ ก็พบทินนาม "หลวงราชรักษา" ในพระไอยการนาพลเรือน เป็นตำแหน่งของเจ้ากรมหมอนวดขวา ศักดินา ๑,๖๐๐ ไร่ . จากข้อมูลที่พบ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่าพระเพทราชาทรงมีการนัดแนะอะไรบางอย่างกับเจ้ากรมหมอนวด จึงมีการให้ขุนองค์หมอนวดลงมือกระทำเมื่อ "พร้อมแล้ว" และจากการกระทำนั้นเป็น "ความชอบ" ที่ส่งผลให้ขุนองค์ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรสงคราม . แต่หากวิเคราะห์ว่าขุนองค์ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์จริงตามพงศาวดารระบุ ก็น่าวิเคราะห์ต่อไปว่ามีความจำเป็นใดต้องทำเช่นนั้น
เพราะถ้าพิจารณาจากหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้น ก็ระบุว่าทรงประชวรเรื้อรังมานานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมแล้ว และมีข่าวลือเรื่องการสวรรคตออกมาเป็นระยะ อย่างบันทึกของบาทหลวง เดอ แบส ซึ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์สองวันก่อนสวรรคตก็ระบุว่าทรงมีพระอาการประชวรหนักจวนเจียนจะสวรรคตอยู่แล้ว จึงได้โอกาสทูลเสนอให้ทรงรีบเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ก่อนจะสวรรคต และในหลักฐานของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ซึ่งไม่ค่อยชอบพระเพทราชา ก็ไม่มีการบันทึกไปในแนวทางที่ว่าพระเพทราชาเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์เลย จะมีบันทึกในรูปแบบข่าวลือทางฝั่งดัตช์บ้าง แต่ไม่มีการยืนยันชัดเจน . หรือว่าการกระทำของขุนองค์ครั้งนั้นทำเป็นการลับไม่ให้คนนอกรู้ อาจเเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคต . นอกจากนี้ ก็น่าคิดว่าการวางแผนลอบปลงพระชนม์ที่เป็นความลับ เหตุใดจึงมาปรากฏเนื้อหาอย่าง "กำกวม" ในหน้าพงศาวดารได้ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าน่าจะเป็นพงศาวดารที่ชำระสมัยอยุทธยาที่กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงยังมีอำนาจ เนื่องจากความส่วนใหญ่ค่อนข้างสอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัย และกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแง่บวก การจะเขียนเนื้อหาเป็นการให้ร้ายพระเจ้าแผ่นดินก็ดูเป็นไปได้ยาก . แต่ก็น่าคิดว่าเนื้อหาในพงศาวดารฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับไหน มีการสอดแทรกเนื้อหาโดยศัตรูทางการเมืองของพระเพทราชาหรือไม่ . ก็คงต้องให้ผู้อ่านลองวิเคราะห์กันต่อไปครับ
เอกสารอ้างอิง
- กฎหมายตรา ๓ ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม ๑
- บันทึกความทรงจำของ บาทหลวงเดอะแบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เอกอัครมหาเสนาบดีของพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาอาณาจักรสยาม
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เจ้าภาพพิมพ์ในงานปลงศพคุณหญิงปฏิภานพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
ภาพพิมพ์ในงานปลงศพคุณหญิงปฏิภานพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- วิบูล วิจิตรวาทการ. เกร็ดสนุกในอดีต
- ศิลปะวัฒนธรรม ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘. เผยแผนลับโค่นราชบัลลังก์ ทหารไทยร่วมมือกับฝรั่ง ปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ฯ