Halloween: ความเป็นมาของวันฮาโลวีน

วันฮาโลวีน (Halloween) เป็นงานฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ในประเทศทางตะวันตก เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจ แล้วพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง มีการประดับประดาแสงไฟและที่สำคัญคือแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เรียกว่า แจ๊ก-โอ-แลนเทิร์น (Jack-O'-Lantern)
 
การฉลองวันฮาโลวีนนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดาและยังมีในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ด้วย รวมถึงประเทศอื่นในทวีปยุโรปก็นิยมจัดงานวันฮาโลวีนเพื่อความสนุกสนาน
 
 
 
ประวัติวันฮาโลวีน
 
วันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันที่ชาวเซลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันต่อมาคือวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคม นี้เองที่ชาวเซลต์เชื่อว่าเป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เดือดร้อนถึงคนเป็นต้องหาทุกวิถีทางที่จะไม่ให้วิญญาณมาสิงสู่ร่างตน ชาวเซลต์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้านให้อากาศหนาวเย็นและไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย นอกจากนี้ยังพยายามแต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผีร้ายและส่งเสียงดังอึกทึก เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายสาบสูญไป หลังจากคืนนั้นไฟทุกดวงที่ถูกดับ จะถูกจุดขึ้นใหม่ด้วยไฟศักดิ์สิทธิ์ของชาวเซลท์
 
บางตำนานยังเล่าถึงขนาดว่า มีการเผา "คนที่คิดว่าถูกผีร้ายสิง" เป็นการเชือดไก่ให้ผีกลัวอีกต่างหาก แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคริสต์กาลที่ความคิดเรื่องผีสางยังฝังรากลึกในจิตใจมนุษย์ ต่อมาในศตวรรษแรกแห่งคริสต์กาล ชาวโรมันรับประเพณีฮาโลวีนมาจากชาวเซลต์แต่ได้ตัดการเผาร่างคนที่ถูกผีสิงออก เปลี่ยนเป็นการเผาหุ่นแทน ต่อมาชาวโรมันคาทอลิกต้องการกำจัดพิธีเฉลิมฉลองของกลุ่มชนนอกศาสนาคริสต์เหล่านี้ พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 4 (Gregory IV) ได้กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายนให้เป็นวันเฉลิมฉลอง All Saint's Day หรือ All Hallow's Day สำหรับชาวคริสต์เพื่อระลึกถึงนักบุญและผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่การเฉลิมฉลองในคืนวันที่ 31 ตุลาคมหรือ Hallow's Eve ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่เรียกเพี้ยนไปเป็น Halloween
 
ประเพณีของวันฮาโลวีนนี้ได้นำเข้ามาเผยแพร่ในอเมริกา ตอนปี ค.ศ.1840 โดยคนอังกฤษที่ได้หลบหนีเข้าประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในประเทศอังกฤษได้มีพวกที่นิยมแต่งตัวประหลาดแล้วยังรวมไปถึงการเดินเหยียบย่ำและพังรั้วบ้าน
 
ประเพณี ทริกออร์ทรีต (Trick or Treat: หลอกหรือเลี้ยง) จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดมาจากคนกลุ่มเซลท์จากไอร์แลนด์ แต่ช่วงศตวรรษที่ 9 คนยุโรปได้ตั้งชื่อเรียกว่า วันจิตวิญญาณ คือวันที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน จะมีการเดินขบวนจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่งเพื่อที่จะขอขนมเค้กสำหรับวิญญาณ ((Soul Cake) (บางที่บอกว่าทำมาจากขนมปังทรงสี่เหลี่ยมและใส่ลูกเกดด้วย ... ไม่รู้อันเดียวกันรึป่าว !?) ยิ่งขอขนมได้มากเท่าไร คำอธิฐานของผู้ที่ให้ขนมก็จะฝากมากับผู้ขอบริจาคขนมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เหมือนกับว่าผู้ขอขนมจะต้องเป็นตัวแทนในการที่จะพูดคุยกับคนตายที่เป็นญาติกับผู้ที่บริจาคขนม ในเวลานั้นมีความเชื่อว่าคนตายนั้นจะถูกกักกันไว้ในนรกและถ้ามีผู้มอบส่วนบุญให้ ถึงแม้จะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม มันจะช่วยเร่งและปลดปล่อยให้พวกวิญญาณเหล่านั้นขึ้นไปสู่สวรรค์ได้
 

ในอเมริกานั้นยังมีความเชื่อกันอยู่ว่า แม้แต่ในทำเนียบขาวอันเป็นที่พักประจำตำแหน่งของประธานาธิบดี ยังมีอดีตประธานาธิบดีหลายท่านที่ล่วงลับไปแล้วมักชอบมาปรากฎตัวในวันฮาโลวีนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เริ่มพำนักในทำเนียบขาว หรือแม้แต่อับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกันที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศและอาศัยในทำเนียบขาวในยุคสงครามกลางเมืองก็ยังมีผู้เคยเห็นร่างอันสูงโย่งของท่านยืนปรากฏให้เห็นหลังบานหน้าต่างบานเดียวกันกับที่ท่านชอบยืนเมื่อมีท่านผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ในระหว่างสงครามกลางเมือง
 
 
ฮาโลวีนแบบอังกฤษ
 
ที่ประเทศนี้ถือว่าวันฮาโลวีนนี้เป็นวันดี เหมาะสำหรับจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตาหรือแม้แต่เรื่องความตายยังถือว่าดี วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็นต้องการให้เป็นไปตามใจปรารถนา ประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาวอังกฤษจะออกมาหว่านและไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐานและท่องคาถาร้องขอให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก็จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็นสามีของตนในอนาคต อีกประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษ คือ การหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำพร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดยใช้ปากคาบเหรียญและใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน นอกจากนี้ยังมีการเล่นเกมส์คาบแอปเปิล เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะอีกด้วย และมีการทำนายโชคชะตา (Fortunetelling) ซึ่งเริ่มขึ้นในยุโรปหลายร้อยปีมาแล้วและกลายเป็นส่วนสำคัญในเทศกาลฮาโลวีน การทำนายนี้ทำโดยการนำแหวนเงินเหรียญหรือปลอกนิ้ว (สำหรับสตรีใส่เย็บผ้า) ไปซ่อนไว้ในขนมเค็กและอาหาร หากใครพบเหรียญจะเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยในอนาคต ผู้ที่พบแหวนจะได้แต่งงาน ปัจจุบันนิยมทำนายโชคชะตาด้วยการอ่านจากไพ่หรือการอ่านลายมือมากกว่า
ฮาโลวีนแบบอเมริกา
 
ประเพณีของประเทศมหาอำนาจนี้ดูจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายกว่าประเพณีของชาวอังกฤษ นั่นก็คือประเพณีทริกออร์ทรีต ซึ่งเด็กๆ จะแต่งหน้า แต่งตัวเป็นผีเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ พร้อมกับส่งเสียงทักทายว่า "Trick or Treat" หากเจ้าของบ้านตอบว่า Trick จะถูกเด็กๆ แกล้ง แต่ถ้าตอบว่า Treat เจ้าของบ้านหลังนั้นก็ต้องนำขนมเค้กมาให้พวกเด็กจนกว่าเขาจะพอใจ เด็กที่แต่งตัวเป็นภูติผีวิญญาณเปรียบเหมือนสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างคนเป็นและคนตาย โดยเจ้าของบ้านที่ให้ขนมแก่เด็กๆ สามารถฝากคำอธิษฐานไปถึงคนตายได้ด้วย ดังนั้นยิ่งเด็กๆ ขอขนมได้มากเท่าใด วิญญาณที่ยังเวียนวนอยู่ในนรกก็จะยิ่งได้รับส่วนบุญและมีโอกาสขึ้นสวรรค์มากยิ่งขึ้นด้วย
 
เด็กบางกลุ่มจะจัดกิจกรรม Trick or Treat นี้เพื่อองค์การยูนิเซพ (UNICEF) ซึ่งเป็นองค์การจัดหาเงินทุนเพื่อเด็กทั้งโลกที่ยากจนขององค์การสหประชาชาติ พวกเขาจะถือกล่องรับบริจาคเงินอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติสีส้มดำ เพื่อนำเงินที่ได้จากการบริจาคไปจัดหาอาหาร ยารักษาโรคและการบริการด้านอื่นๆ เพื่อเด็กที่ขาดเคลนทั่วโลก
 
 
เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ที่ออกไปทำกิจกรรม Trick or Treat เด็กๆ จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีอ่อนหรือเสื้อผ้าที่มีสีสะท้อนแสง เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะมองเห็นได้ง่ายเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกทางหนึ่ง ผู้ปกครองบางคนเกรงว่าการใส่หน้ากากจะทำให้เด็กๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจน จึงนิยมใช้เครื่องสำอางค์แต่งหน้าให้เด็กๆ นอกจากนี้ผู้ปกครองมักจะเตือนให้เด็กๆ รับประทานเฉพาะขนมหรือลูกกวาดที่บรรจุในหีบห่ออย่างดีเท่านั้น ชุมชนบางแห่งประกาศเวลาการทำกิจกรรม Trick or Treat อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับการมาเยือนของเด็กๆ และเป็นการเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นพิเศษด้วย
 
 
 
ขณะที่ตำนานการใช้ฟักทองเป็นสัญลักษณ์ในเทศกาลฮาโลวีนได้กล่าวไว้ในตำนานของชาวไอริชเกี่ยวกับ แจ็ค โอ แลนเทิล ที่เล่าถึงชายชื่อแจ็คนักเล่นกลจอมขี้เมาที่ลวงปีศาจให้เข้าไปติดอยู่ในโพรงไม้ (บางที่บอกว่าหลอกให้ขึ้นไปบนต้นไม้) โดยเขียนเครื่องหมายกางเขนไว้ที่โคนต้นไม้ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจโดยมีข้อแม้ว่าถ้าปีศาจไม่มาหลอกเขา เขาจึงจะปล่อยปีศาจให้เป็นอิสระ เมื่อแจ็คตายทั้งสวรรค์และนรกต่างปฏิเสธไม่ยอมให้แจ็คผ่านลงไป ปีศาจจึงได้มอบคบเพลิงพร้อมด้วยโคมหัวผักกาดที่จะป้องกันลมให้กับแจ็คเพื่อใช้เป็นแสงสว่างนำทางในค่ำคืนอันหนาวเหน็บ (บางแห่งบอกว่าแจ๊คซึ่งเป็นคนขี้เหนียวมาก เมื่อเสียชีวิตไปเขาไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้และไม่สามารถเข้าไปในนรกได้เช่นกัน เนื่องจากเขาชอบล้อเล่นกับปิศาจ เมื่อเสียชีวิตลงเขาจึงต้องเดินเตร็ดเตร่อยู่บนโลก เพื่อรอวันพิพากษา (Judgement Day)) นับแต่นั้นชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาด มันฝรั่งและหัวเทอร์นิบ (Turnips) และใส่ไฟไว้ด้านในเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง 'การหยุดยั้งความชั่ว' Trick or Treat เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับและพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกาพบว่า ฟักทองหาง่ายและสวยกว่าหัวผักกาดเยอะ หัวผักกาดก็เลยกลายเป็นฟักทองแทนและใช้มาจนทุกวันนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงแจ็ค โอ แลนเทิล
 
ปัจจุบันประเพณีวันฮาโลวีนจะเน้นที่การแต่งกายปลอมตัวเป็นผี เพื่อการพบปะสังสรรค์เฮฮากันมากกว่าจะเป็นการระลึกถึงผู้ตายดั่งเช่นแต่เก่าก่อนและกิจกรรมรื่นเริงแบบนี้ก็ได้กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
Credit: http://lonesomebabe.spaces.live.com
10 ก.ค. 53 เวลา 10:26 5,096 1 484
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...