จากล้มละลายกลายเป็นเศรษฐี

อุเอะซึงิ โยซัน (上杉鷹山) เป็นเจ้าแคว้นโยเนซาวะ แม้ว่าจะสืบสกุลมาจากอุเอะซึงิ เค็งชิง นักรบผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในยุคของเขาได้ครองแค่แคว้นโยเนซาวะอันเล็กกระจ้อยร่อย ทั้งยังอยู่ในสภาพเป็นหนี้เป็นสินอย่างหนักมานานนับร้อยปี การกสิกรรมก็ไม่ได้ผล เศรษฐกิจก็ตายซาก หมดสิ้นอนาคตโดยสิ้นเชิงถึงขนาดเจ้าแคว้นคนก่อนคิดจะขายแคว้นคืนให้รัฐบาลกลาง เพราะหมดปัญญาแล้ว

เรียกว่าหมดปัญญาก็กระไรอยู่ เพราะแต่ละคนเล่นเอาแต่เสพสุข ตัดของฟุ่มเฟือยไม่ขาด ขนาดที่คนขุนนางเห็นว่าพอจะไปวัดไปว่าได้ สุดท้ายก็ติดตมกิเลสถอนตัวจากความสุขสบายไม่ได้

แต่โยเนซาวะไม่สิ้นคนดี ถึงแคว้นนี้จะขัดสน แต่มีของดีคือทรัพยากรบุคคล มีกุนซือผู้ยิ่งใหญ่คือโยโซอิ เฮชู เป็นเจ้าสำนักเหตุผลนิยมแบบขงจื๊อ เห็นท่าไม่ดีจึงปรึกษากับเสนาอำมาตย์เพื่อ "เชิญ" เจ้าแคว้นเดิมเกษียณอายุก่อนราชการก่อนที่แคว้นจะล้มละลาย แล้วเชิญบุตรบุญธรรม คือ อุเอะซึงิ โยซัน มาครองแคว้นแทน

จะว่าไปแล้วเหมือนกุนซือพวกนี้จะโยนเผือกร้อนให้โยซัน แต่ผมคิดว่าท่านกุนซือมองคนไม่ผิด

เจ้าแคว้นใหม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือเป็นคนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ถือคติว่า "ถ้าตั้งใจแล้วไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าไม่ได้ทำ" ด้วยความช่วยเหลือของโยโซอิ เฮชู เจ้าแคว้นใหม่ประกาศนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังแบบอุกฤษณ์

แต่จู่ๆ จะไปรัดท้องไส้ประชาชน ใครเขาจะยอม

โยซัน จึงทำเป็นตัวอย่างก่อน ด้วยการลดเบี้ยหวัดตัวเองจาก 1500 เรียวเหลือ 290 ลดจำนวนคนรับใช้ลงจาก 50 เหลือ 9 คน เลิกสวมผ้าไหม หันมาใช้ผ้าฝ้าย แม้แต่สำรับอาหารก็เหลือแค่ข้าวต้มกับผักดอง ฤดูปกติไม่ดื่มสุรา หน้าหนาวดื่มสุราชั้นต่ำเพื่อให้ร่างอบอุ่นเท่านั้น เวลาไปเฝ้าโชกุนที่เมืองหลวงก็เหลือผู้ติดตามไม่กี่คน ไม่ต้องยกขบวนใหญ่โตอวดยศศักดิ์ชาวบ้าน นับว่าเป็นมาตรการที่พลิกฟ้าคว่ำดินเอามากๆ เพราะเจ้าแคว้นคนก่อนเอาแต่สุรุ่ยสุร่ายไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น

นโยบายช่วยชาติขนาดนี้ยังมีคนคัดค้าน ซึ่งท่านเจ้าแคว้นก็ไม่เสียเวลามาดีเบตด้วย สั่งประหารทุกคนที่ขวางนโยบายนี้ คงคิดว่าถ้าคนพวกนี้ไม่ตาย แคว้นก็คงไม่รอด ส่วนพวกพ่อค้าที่เจ้าแคว้นคนก่อนตั้งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ก็ถูกเฉดหัวจนหมดสิ้น ตอนนี้แคว้นไม่ได้ต้องการพ่อค้าเป็นขุนคลัง แต่ควรใช้นักปราชญ์ขงจื๊อต่างหาก

ปรัชญาขงจื๊อที่เฟื่องฟูในยุคเอโดะ เน้นความเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม มัธยัสถ์ และดูคนที่ความสามารถ

แม้การบริหารเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้มืออาชีพ แต่ถ้ามืออาชีพขาดธรรมาภิบาล ประเทศชาติก็ฉิบหายได้

เมื่อโยซันนำเป็นตัวอย่าง ก็ถึงเวลาซามูไรทั้งหลายจะต้องทำตาม และควรทำตามด้วยเพราะเจ้าแคว้นเลือกที่จะไม่ไล่ใครออกสักคน

เริ่มจากลดเบี้ยหวัดข้าราชการลงเหลือ 1 ใน 6 ส่วน แต่สั่งให้ซามูไรวางดาบแล้วไปทำกสิกรรมเพื่อทดแทนเบี้ยหวัดที่หายไป เพื่อกระตุ้นการเกษตร พวกซามูไรยังถูกสั่งให้ไปขุดทางน้ำชลประทาน หักร้างถางที่ดินสร้างพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ระบบนี้คือคล้ายกับนโยบายถุนเถียน (屯田制) ของโจโฉ ที่สั่งให้กองทัพต้องทำกสิกรรมเลี้ยงตัวเอง และเลี้ยงประชาชน ทำให้แคว้นวุ่ยมีเศรษฐกิจที่มั่นคงยิ่งกว่าใคร

แต่โยซันทำมากว่าถุนเถียน ตรงที่ส่งเสริมอุตสหกรรมในครัวเรือน การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนอุตสาหกรรมไหมคึกคัก สั่งให้หนึ่งบ้านต้องปลูกต้นรักจำนวนหนึ่ง เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม และส่งสินค้าออกไปขายที่ต่างๆ

โยซันมีคติว่า "ในแคว้นต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย" และ "ปวงประชาต้องไม่มีคนเกียจคร้าน" แต่จะสอนกันเปล่าๆ เปลี้ยๆ คงไม่ได้ผล วิธีที่ดีทีสุดที่จะทำให้คตินี้เป็นจริงคือให้การศึกษาแก่ประชาชน เจ้าแคว้นจึงเปิดโรงเรียนขึ้นมาใหม่จากที่ปิดตัวลงเพราะหมดงบประมาณ คราวนี้ไม่เพียงเปิดสำนักสอนวิชาคุณธรรมขงจื๊อ ยังเปิดสำนักสอนวิชาแพทย์แผนตะวันตก

เมื่อเกิดโรคระบาด แคว้นนี้จึงมีคนตายน้อย เพราะได้รับความรู้เรื่องการฆ่าเชื้อโรคจากแพพย์วิลันดา

เมื่อเกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในปีเทนเม มีคนอดตายเกือบล้านทั่วญี่ปุ่น แต่แคว้นโยเนซาวะไม่ได้รับผลมากนัก

สำนักศึกษาเหล่านี้แต่เดิมเปิดรับเฉพาะซามูไร แต่เจ้าแคว้นท่านนี้เปิดรับทุกคนไม่แบ่งชั้นวรรณะว่าเป็นซามูไรหรือ กสิกร

ส่วนการปูนบำเหน็จแต่เดิมใช้ระบบเส้นสาย หรือไม่ก็ชั้นวรรณะในยุคนี้วัดกันที่ผลงานล้วนๆ ทำให้ได้กำลังคนมีฝือมือมาช่วยแคว้น และกำจัดระบบราชการที่เหลวแหลก

ก่อนที่ อุเอะซึงิ โยซัน จะมาครองแคว้นโยเนซาวะมีหนี้สิ้นถึง 200,000 เรียว หรือประมาณ 5 หมื่นล้าน - 2 แสนล้านเยนในปัจจุบัน เมื่อสิ้น โยซัน แล้วหนี้ทั้งหมดก็ถูกชดใช้จนสิ้น แถมยังมีเงินเหลือใช้ จนกระทั่ง 10 ปีผ่านไปกลายเป็นแคว้นที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศ

ไม่เรียกว่าน่าอัศจรรย์ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

ผู้คนจึงยกย่องโยซันว่าเป็น "เมกุน" (名君) หรือขุนผู้เปี่ยมความสามารถ ปัจจุบันยกย่องเขาเป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่

ในยุคเอโดะ ผู้ที่เป็นเมกุนล้วนเก่งกาจในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ แต่ว่าด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจแล้วไม่มีใครเทียบโยซันได้ อีกทั้งเขายังใช้คุณธรรมนำนโยบายเศรษฐกิจ จนแว่นแคว้นรุ่งเรือง

ถามว่าคุณธรรมของโยซันคืออะไร?

ในลิขิตของโยซันเมื่อ่ปีเทนเมียวที่ 5 ให้แก่บุตรที่จะครองอำนาจต่อไป อธิบายคุณธรรมของผู้ปกครองเอาไว้ ว่า

「... ข้อหนึ่ง แว่นแคว้นรับสืบทอดจากบรรพชนถึงอนุชนรุ่นหลัง ไม่ควรปกครองอย่างเห็นแก่ตัว

อีกข้อหนึ่ง ประชาชนเป็นของแว่นแคว้น ไม่ควรปกครองอย่างเอาตัวเป็นใหญ่

อีกข้อหนึ่ง ผู้ปกครองมีไว้เพื่อแว่นแคว้น และแว่นแคว้นมีไว้เพื่อปวงชน แว่นแคว้นและปวงชนหาได้มีไว้เพื่อผู้ปกครอง

ทั้ง 3 ข้อนี้อย่าได้ลืมเลือนไปจากใจ .... 」

ในแง่สังคม โยซันใช้คุณธรรมแบขงจื๊อเข้มงวดมาก ถึงขนาดสั่งปิดย่านโคมแดง (ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปกติในยุคเอโดะ) โยซันกล่าวว่า "ถ้านางคณิกาสนองตัณหาได้จริง มีหญิงคณิกาเท่าไรก็ไม่พอ" พอล้มซ่องไปก็ไม่เห็นมีคนทุรนทุรายเหมือนเขาว่าไว้ (แต่ผมคิดว่าการล้มซ่อง เพื่อป้องกันการใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายมากกว่าเรื่องจารีตประเพณี)

อุเอะซึงิ โยซัน น่าจะเป็นเจ้าผู้ปกครองคนสุดท้ายที่ใช้ปรัชญาขงจื๊อกับปรัชญา 9 สำนักของจีนโบราณบริหารบ้านเมืองจนรุ่งเรือง นับจากนี้เอเชียจะหันมาใช้โมเดลตะวันตกในการปกครองประเทศ เว้นแต่สิงคโปร์ที่นำปรัชญาขงจื๊อแบบเดียวกับที่อุเอะซึงิ โยซันใช้ ซึ่งประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็อย่างที่เห็นกันอยู่

ป.ล.
ผมเพิ่งได้อ่านเรื่องของอุเอะซึงิ ฮะรุโนะริ หรือโยซันเมื่อไม่กี่วันนี่เอง รู้สึกอยากจะเขียนเล่าให้อ่าน ถึงไม่มีใครอ่านก็อยากจะทำโน๊ตเผื่อจะเขียนยาวๆ ต่อไป


______________________

ภาพหน้าปกหนังสือ 「生涯改革者」上杉鷹山の教え―成らぬは人の為さぬなりけり (ขอแปลแบบลวกๆ ว่า - นักปฏิรูปทั้งชีวิต คำสอนของอุเอะซึงิ โยซัน ถ้าตั้งใจแล้วไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าไม่ได้ทำ)

Credit: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154469868596954&set=a.430946001953.211467.719626953&type=3&theater
10 มิ.ย. 60 เวลา 02:37 1,437
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...