“มาร์โค โปโล” ชาวตะวันตกคนแรกบน ‘เส้นทางสายไหม’ ผู้เข้าเฝ้าจักรพรรดิ ‘กุบไล ข่าน’

https://www.meekhao.com/history/marco-polo-new

ในยุคที่วิทยาการต่างๆ ยังไม่เจริญก้าวหน้าและผู้คนไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างง่ายดายเหมือนทุกวันนี้ มีนักสำรวจคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวตะวันตก “คนแรก” ที่ได้เดินทางตามเส้นทางสายไหมไปจนถึงประเทศจีน มาร์โค โปโล (Marco Polo) คือนักสำรวจและพ่อค้าชาวเวนิสที่เดินทางจากยุโรปไปยังทวีปเอเชียในช่วงปี 1271 ถึง 1295 และนำเรื่องราวของตนมาบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Il Milione หรือ “บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล” (The Travels of Marco Polo)

ประวัติโดยย่อ

มาร์โค โปโล เกิดในปี 1254 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เขาเป็นนักเดินทางค้าขายและนักสำรวจที่เดินทางจากยุโรปไปยังเอเชียในช่วงปี 1271 ถึง 1295 ใช้เวลาอยู่ในประเทศจีนนาน 17 ปี และเดินทางออกจากแผ่นดินใหญ่ในปี 1292

ช่วงต้น เขาเกิดมาในครอบครัวพ่อค้าชาวเวนิสที่ร่ำรวย แต่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่มากนัก เขาถูกเลี้ยงดูมากับญาติในครอบครัวใหญ่ แม่ของมาร์โคเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก ส่วนพ่อและลุงของเขา Niccolo และ Maffeo Polo เป็นพ่อค้าขายเพชรพลอยที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย

พ่อและลุงของมาร์โคเป็นนักเจรจาต่อรองที่เก่งกาจ ทั้งคู่มีโอกาสได้พูดคุยเจรจากับกุบไล ข่าน จนจักรพรรดิเกิดความสนใจและเชิญชวนให้พี่น้องโปโลเดินทางกลับไปเยือนอีกครั้งพร้อมคณะนักบวชชาวคริสต์

การเดินทางสู่เมืองจีน

ในปี 1272 Niccolo และ Maffeo Polo จึงเดินทางกลับไปเยือนเอเชียอีกครั้ง และคราวนี้ได้พามาร์โค โปโลไปด้วย พวกเขาไม่สามารถพานักบวช 100 คนตามที่จักรพรรดิข่านร้องขอไปด้วยได้ และนักบวชเพียงไม่กี่คนที่เดินทางมาด้วยในตอนแรกก็ยอมพ่ายแพ้และกลับบ้านไป เพราะระหว่างทางได้พบกับอุปสรรคและความยากลำบากมากมาย แต่หนุ่มน้อยมาร์โคก็ยังสามารถเดินทางไปกับพ่อและลุงได้จนถึงเอเชีย

มาร์โคยังจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับทวีปเอเชียได้ดี รวมทั้งการเดินทางผ่านตะวันออกกลาง ผ่านอัฟกานิสถาน และผ่านทะเลทรายโกบีที่ “ว่ากันว่าต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเดินทางข้ามจากฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่งได้”

ในที่สุดครอบครัวโปโลก็เดินทางถึงประเทศจีน และมาร์โคหนุ่มก็ได้พบกับจักรพรรดิกุบไล ข่านเป็นครั้งแรก

ชีวิตในประเทศจีน ครอบครัวของมาร์โคตั้งใจว่าจะอยู่ในประเทศจีนเพียงไม่กี่ปี แต่ในที่สุดเมื่อนับรวมแล้วก็จากเวนิสมานานถึง 23 ปีเต็ม จักรพรรดิกุบไล ข่าน ประทับใจในความสามารถของพ่อและลุงของมาร์โคมาก เช่นเดียวกับความเก่งกาจของมาร์โค ที่แม้จะยังหนุ่มแต่ก็สามารถผ่านการเดินทางสุดทรหดมาได้และยังมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าขายอีกด้วย มาร์โคสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและเรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เขาพูดได้ถึง 4 ภาษาและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชทูตพิเศษของจักรพรรดิข่าน เขาได้เดินทางไปเยือนหลายประเทศในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ อินเดีย หรือทิเบต และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงรับใช้

มาร์โคประทับใจในความเจริญก้าวหน้าหลายอย่างของทวีปเอเชีย ยกตัวอย่างเช่นระบบเงินตราทำจากกระดาษที่ขณะนั้นชาวยุโรปยังไม่ให้ความสนใจ เขาได้จดบันทึกข้อมูลความรู้หลายสิ่งหลายอย่างไว้และได้นำมาเผยแพร่ให้ชาวยุโรปได้รับรู้ในภายหลัง

เดินทางกลับบ้าน

หลังทำงานกับจักรพรรดิข่านมานานถึง 17 ปี ครอบครัวโปโลก็ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับเวนิส แน่นอนว่าจักรพรรดิข่านไม่ค่อยพอพระทัยนักเพราะพวกเขามีความสำคัญต่อการปกครองมาก แต่ก็ยินยอมให้ออกเดินทางโดยมีข้อแม้ว่าต้องช่วยคุ้มครององค์หญิงจากมองโกลที่จะเดินทางไปสมรสกับเจ้าชายชาวเปอร์เซียด้วย

ครอบครัวโปโลเดินทางกลับยุโรปทางทะเลพร้อมลูกเรือและผู้โดยสารอีกหลายร้อยชีวิต ผู้ร่วมเดินทางหลายคนเสียชีวิตจากพายุและโรคภัยไข้เจ็บ แต่ในที่สุดครอบครัวโปโลและเจ้าหญิงมองโกลก็เดินทางถึงท่าเรือฮอร์มุซในเปอร์เซีย จากนั้นก็เดินทางผ่านประเทศต่างๆ และใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะกลับถึงบ้านเกิด

แต่เมื่อกลับไปถึงก็พบปัญหาอีกสองอย่างก็คือรู้สึกเหินห่างกับครอบครัวและเกือบจะลืมภาษาบ้านเกิดของตนไปจนหมดสิ้น

บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล

ไม่กี่ปีหลังจากเดินทางกลับมาถึงเวนิส มาร์โคก็ได้บัญชาการเรือรบของสาธารณรัฐเวนิสไปทำสงครามกับสาธารณรัฐเจนัว แต่ได้เพลี่ยงพล้ำเขาจึงถูกจับเป็นนักโทษในคุก และในคุกนั้นเองก็ได้พบกับนักเขียนนิยายโรแมนติกนาม Rustichello da Pisa

ต่อมาทั้งสองกลายเป็นเพื่อนซี้กัน มาร์โคเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาเคยพบเจอในทวีปเอเชียให้ Rustichello ฟัง ทั้งคู่จึงตัดสินใจเขียนเป็นหนังสือร่วมกันโดยใช้ชื่อว่า The Description of the World ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ The Travels of Marco Polo หรือ “บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล” หนังสือของพวกเขาทำให้มาร์โค โปโลกลายเป็นคนดังทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากคุกในปี 1299 หนังสือถูกแปลไปเป็นภาษาต่างๆ ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี และละติน จนกลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุโรป แต่ผู้อ่านส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เชื่อเรื่องราวที่มาร์โคเล่า พวกเขาเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า Il Milione (เรื่องฝอยล้านเรื่อง) อย่างไรก็ตามมาร์โคไม่ได้เก็บเอามาคิดมากและใช้ชีวิตต่อไปอย่างสงบสุข

มาร์โค โปโลแต่งงานและมีลูกสาว 3 คน จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 8 มกราคม 1324 แต่แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายนักอ่านหลายคนก็เข้ามาเยี่ยมและบอกให้มาร์โคยอมรับว่าหนังสือของเขาเป็นเรื่องแต่ง แต่มาร์โคกล่าวเพียงว่า

“ผมยังเล่าได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสิ่งทั้งหมดที่ผมได้เห็นมา”

บทสรุป

เวลาผ่านไปนานนับร้อยปีนับจากมาร์โคเสียชีวิต ในที่สุดเรื่องราวทั้งหมดก็กระจ่าง ข้อมูลจากนักสำรวจ นักเดินทาง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทุกคนล้วนตรงกับสิ่งที่มาร์โค โปโลเคยเล่า

เขาได้รับการยกย่องไปทั่วโลก และไม่ว่าเรื่องราวในหนังสือของเขาจะเป็นเรื่องราวที่เขาได้พบเจอมา “ด้วยตัวเองทั้งหมด” หรือรวบรวมมาจากนักเดินทางคนอื่นด้วยก็ตาม แต่บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโลก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทางรุ่นหลัง รวมไปถึงคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรกด้วย

ที่มา https://www.biography.com/people/marco-polo-9443861#the-travels-of-marco-polo

 

Credit: https://www.biography.com/people/marco-polo-9443861#the-travels-of-marco-polo
7 มิ.ย. 60 เวลา 04:09 1,213 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...