“มาร์ส500” ปฏิบัติการเดินทางของจิตใจสู่ดาวอังคาร
เป็นการก้ามข้ามอีกระดับทางด้านอวกาศ ที่จะมีมนุษย์ไปเหยียบบนผิวดาวเคราะห์เป็นดวงที่สาม(1.โลก 2.ดวงจันทร์ 3.ดาวอังคาร:จะนับดวงที่ 1 ทำไม , ให้ขำเล่นๆ) เพราะถ้าหากเรายังคงทำลายระบบธรรมชาติไปแบบนี้เรื่อยๆ อีกไม่นานที่โลกของเราจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทั้งหมด จนกระทั่งเราทุกคนไม่สามารถที่จะมีชีวิตบนโลกใบน้ได้อีก การหาที่อยู่ใหม่ๆ จึงได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต แต่คงติดอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะไปได้ เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องคิด เพราะคิดไปก็คงหาคำตอบได้ยากเย็น พาลจะทำให้ปวดหัวกันไปเปล่าๆ (การไปเกิดใหม่ที่ดาวดวงใหม่นั้นง่ายกว่า...งั้นทำความดีสะสมบุญไว้ไปเกิดที่ดาวดวงใหม่ดีกว่า)
“มาร์ส500” ปฏิบัติการเดินทางของจิตใจสู่ดาวอังคาร
สมาชิก "มาร์ส 500" ก่อนเริ่มปฏิบัติการ (ซ้ายไปขวา) อเล็กซี ซิเตฟ, หวาง ยิว, โรเมน ชาร์ลส์ , สุครอฟ คามอลอฟ, ดิเอโก เออร์บินา และ อเล็กซานเดอร์ สโมเลฟสกี (เอเอฟพี)
ทุกการเดินทางต้องเตรียมความพร้อม และหากเป้าหมายของการเดินทางอยู่ไกลออกไปอีกดาวเคราะห์หนึ่ง ผู้เดินทางต้องมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งพอต่อการเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ไม่อาจคาดเดา ไปสู่ปลายทางที่ไม่คุ้นเคย และยังต้องห่างไกลจากคนรักและสภาพแวดล้อมที่เคยคุ้น
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.53 ที่ผ่านมา ชายหนุ่ม 6 คนจากรัสเซีย จีน อิตาลีและฝรั่งเศส ได้เป็นตัวแทนมนุษยชาติเดินทางพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจในปฏิบัติการ “มาร์ส500” (Mars500) ซึ่งเป็นการจำลองการเดินทางจากโลกไปสำรวจดาวอังคารและกลับมาเยือนโลกที่ยาวนานถึง 520 วัน ภายในห้องทดลองที่ปิดมิดชิด ณ สถาบันศึกษาปัญหาชีวการแพทย์ (Institute for Bio-Medical Problems) กรุงมอสโค รัสเซีย
เดินทางหาคำตอบมนุษย์จะโดดเดี่ยวได้แค่ไหน?
เป้าหมายของโครงการคือการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อม และเพื่อหาข้อมูลการทดลองเกี่ยวกับสภาวะของสุขภาพและความสามารถในการทำงานของลูกเรือ เมื่ออยู่ในสภาพที่ถูกแยกโดดเดี่ยวในสภาพแวดล้อมที่ปิดสนิทและมีพื้นที่จำกัด เพื่อจำลองเที่ยวบินสู่ดาวอังคารจริงๆ ซึ่งมีทั้งการเดินทางที่ยาวนาน ภายใต้การควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง รวมถึงการสื่อสารที่ล่าช้าไป 40 นาที ตามสภาพการสื่อสารจริงระหว่างโลกและดาวอังคาร และการบริโภคที่จำกัดตามข้อกำหนดของแพทย์อย่างเคร่งครัด ขาดเพียงการเผชิญรังสีจริงในอวกาศและการอยู่ในภาวะไร้น้ำหนัก
หนึ่งในภารกิจของโครงการนี้คือการประเมินความเป็นไปได้ของเที่ยวบินลักษณะนี้ในเชิงจิตวิทยาและกายภาพ แล้วค่อยๆ หาสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเดินทางด้วยยานอวกาศจริงสู่ดาวอังคารต่อไป โดยส่วนสำคัญครั้งนี้คือชุดการทดสอบแยกผู้ทดลองให้โดดเดี่ยวเป็นเวลานาน และก่อนหน้าการทดลองยาวนาน 520 วันนี้ ได้มีการทดลองลักษณะเดียวกันนี้นาน 14 วัน ไปเมื่อปี 2007 ต่อด้วยการทดลองนาน 105 วัน ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ก.ค.2009
ทดสอบจิตใจลูกเรือหลังวิวาห์ได้ 5 อาทิตย์
ตัวแทน 6 คนที่ร่วมการทดลองท้าทายจิตใจครั้งนี้ ประกอบด้วย อเล็กซี ซิเตฟ (Alexei Sitev) วิศวกรวัย 38 ปี ที่เพิ่งแต่งงานได้เพียง 5 สัปดาห์ รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการบินครั้งนี้ โดยมีเพื่อนร่วมทางที่เหลือ คือ สุครอฟ คามอลอฟ (Sukhrob Kamolov) ศัลยแพทย์ชาวรัสเซียวัย 32 ปี อเล็กซานเดอร์ สโมเลฟสกี (Alexander Smolevsky) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป ชาวรัสเซียวัย 33 ปี ดิเอโก เออร์บินา (Diego Urbina) ชาวอิตาลีวัย 27 ปี หวาง ยิว (Wang Yue) ชาวจีนวัย 26 ปี และโรเมน ชาร์ลส์ (Romain Charles) วัย 31 ปีจากฝรั่งเศส
การเดินทางสำรวจจิตใจ (ที่มีเป้าหมายไปถึงดาวอังคารในสักวันหนึ่ง)นี้ จะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.2011 เมื่อลูกเรือในเที่ยวบินจำลองปฏิบัติภารกิจครบ 250 วัน จะเข้าสู่ภารกิจลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคารเป็นเวลา 30 วัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ในยานโคจรรอบดาวอังคาร 3 คน และกลุ่มที่ลงสำรวจพื้นผิว 3 คน จากนั้นจะเป็นปฏิบัติการเดินทางกลับอีก 240 วัน
จำกัดสิทธิในห้องปิดทึบ 550 ลูกบาศก์เมตร
ตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการเดินทางจำลองนี้ จะมีกล้องวงจรปิดตรวจจับพฤติกรรมทั้ง 6 คนตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นในพื้นที่ส่วนตัวและห้องน้ำพร้อมทั้งมีนักจิตวิทยาเฝ้าดูพฤติกรรมทุกคนตลอดเวลา ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า มีการติดตามผลจากการต้องแยกออกจากโลกภายนอกทั้งด้านจิตวิทยาและกายภาพ อาทิ ความเครียด ระดับฮอร์โมน ประสิทธิภาพในการนอนหลับ อารมณ์และคุณประโยชน์จากอาหารที่บริโภค
ทั้งนี้ทุกคนต้องปฏิบัติงานและใช้ชีวิตเหมือนนักบินบนสถานีอวกาศอยู่ภายในห้องปิดมิดชิดที่มีพื้นที่จำกัดเพียง 550 ลูกบาศก์เมตร ไม่มีโทรทัศน์ให้ชม ไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ ต้องหายใจด้วยอากาศที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีโอกาสสัมผัสกับแสงธรรมชาติ และครบ 10 วันจึงอาบน้ำครั้งหนึ่ง โดยทุกคนมีชั่วโมงทำงานในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และทดลองวิทยาศาสตร์วันละ 8 ชั่วโมง เวลาสันทนาการวันละ 8 ชั่วโมง และเวลานอนหลับวันละ 8 ชั่วโมง
อีกหนึ่งการทดลองสำหรับลูกเรือซึ่งออกแบบโดยองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) คือการทดลองเล่นวิดีโอเกมที่ออกแบบมาเพื่อศึกษาการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับช่วยเหลือนักบินอวกาศระหว่างการเดินทางอันยาวนาน ซึ่งลูกเรือจะเล่นเกมดังกล่าวทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยแต่ละครั้งมีผู้เล่นได้ 3 คน และยังมีเกมจำลองการลงจอดบนดวงจันทร์สำหรับเล่นหลายคนและเล่นคนเดียว รวมถึงแผนสำหรับระบบฝึกความร่วมมือของลูกเรือด้วย
สำรวจยานอวกาศและดาวอังคารจำลอง
นับจากทุกคนได้ก้าวเข้าสู่ประตูของห้องปฏิบัติการมาร์ส500 เพื่อจำลองสภาพคล้ายจริงของการเดินทางสู่ดาวอังคาร จะไม่มีการโหลดสัมภาระใดๆ เพิ่มให้กับลูกเรืออีก ซึ่งห้องปฏิบัติการของโครงการนี้ประกอบด้วยห้องทรงกระบอก 4 ห้อง สำหรับให้ลูกเรือใช้ชีวิตอยู่และทำงานเสมือน “เดินทาง” จากโลกสู่ดาวอังคาร และเดินทางกลับมายังโลก ภายในตกแต่งด้วยไม้เพื่อให้เหล็กทรงกระบอกให้ความรู้สึกคล้ายบ้าน และอีกส่วนสำคัญคือโมดูลจำลองสภาพดาวอังคารซึ่งสภาพพื้นเต็มไปด้วยหินและทราย
สำหรับห้องปฏิบัติการทั้ง 5 ของมาร์ส500 นี้ ประกอบด้วย
- โมดูลห้องพยาบาล (Medical Module) เป็นห้องทรงกระบอกยาว 12 เมตร สำหรับใช้ในการรักษาลูกเรือเมื่อเจ็บป่วย โดยจะให้แยกออกมารักษาตัวที่ห้องนี้
- โมดูลที่อยู่อาศัย (Habitable Module) เป็นที่อยู่อาศัยหลักของลูกเรือ มีความยาว 20 เมตร ภายในโมดูลนี้มีทั้งห้องนอน ห้องศิลปะและพื้นที่สังสรร และยังเป็นห้องควบคุมหลักอีกด้วย
- โมดูลลงจอด (Landing Module) เป็นโมดูลที่ถูกใช้ครั้งเดียวในการลงจอดเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร 30 วัน และเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับลูกเรือเพียง 3 คนที่รับภารกิจนี้
- โมดูลเก็บสัมภาระ (Storage Module) เป็นโมดูลยาว 24 เมตร และแบ่งออกเป็น 4 ส่วน สำหรับเก็บอาหารและเครื่องยังชีพอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นโมดูลสำหรับเรือนเพาะปลูก ตู้แช่เย็นและออกกำลังกาย
- โมดูลพื้นผิวดาวอังคาร (Surface Module) เป็นโมดูลสำหรับเดินไปบนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งลูกเรือที่ลงสำรวจต้องสวมชุดอวกาศออร์แลน (Orlan) ของรัสเซีย เข้าสู่ห้องที่มีความดันต่ำกว่าปกติ
ลุ้นปฏิบัติการสำเร็จหรือล้มเหลว
นักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ต่างจดจ่อกับผลจากปฏิบัติการมาร์ส500 ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าผลที่ได้จะออกมาเป็นเช่นไร โดยสเปซด็อทคอมรายงานว่าทางบริษัทรับพนันออนไลน์ของไอร์แลนด์ได้เปิดให้พนันกันว่าลูกเรือคนใดในปฏิบัติการนี้จะถอนตัวเป็นคนแรกแล้ว
“ความยาวนานของภารกิจและการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นด้านพฤติกรรมและด้านกายภาพเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษาครั้งนี้ อย่างไรก็ดียากที่จะรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ผมได้แค่หวังว่าลูกเรือจะปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ” เดวิด ดิงเจส์ (David Dinges) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนอเมริกันรายเดียวในปฏิบัติการครั้งนี้ให้ความเห็น
แม้เราไม่อาจรู้ได้ว่าการทดลองนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่? แต่ทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จจากการทดลองครั้งนี้ ล้วนเป็นอิฐของฐานรากที่จะปูทางนำมนุษย์ไปเยือนดาวอังคาร เพื่อนบ้านที่อาจจะกลายเป็นบ้านหลังใหม่ของชาวโลก หรืออาจเป็นก้าวแรกในการทำความรู้จักสมาชิกของระบบสุริยะดวงอื่นๆ
ห้องนั่งเล่นภายในห้องปฏิบัติการมาร์ส 500 (Mars500)
ภาพโมดูลต่างๆ ของห้องปฏิบัติการมาร์ส500 ซึ่งมีภาพเงาคนเทียบสัดส่วนขนาดของห้องปฏิบัติการ (อีซา/บีบีซีนิวส์)
ทำไมต้องไป "ดาวอังคาร"?
การไปถึงดวงจันทร์ได้ดูธรรมดาไปเสียแล้วสำหรับการแข่งขันในห้วงอวกาศ ดังนั้นเป้าหมายของการแข่งขันจึงได้ขยับออกไปสู่ดาวเคราะห์เพื่อนบ้านในลำดับที่ 4 ของระบบสุริยะ และอยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวเคราะห์วงนอกอื่นๆ
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบหลักของดาวแดงดวงนี้แล้ว มนุษย์ไม่น่าจะอาศัยบนดาวเคราะห์สีแดงแห่งนี้ได้ โดยชั้นบรรยากาศของดาวอังคารประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 95% รองลงมาคือ ไนโตรเจนและอาร์กอน ต่างจากโลกที่มีไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศเกือบ 80%
ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกเฉลี่ย 78.32 ล้านกิโมเมตร รัศมีเฉลี่ยตรงเส้นศูนย์สูตร 3,397 กิโลเมตรหรือเล็กกว่าโลกมากกว่าครึ่ง วันบนดาวอังคารยาวนานประมาณ 24.6 ชั่วโมง มีจันทร์บริวาร 2 ดวงคือ โฟบอส (Phobos) ดีมอส (Deimos)
สำหรับการสำรวจดวงจันทร์ สหรัฐฯ มีรัสเซียเป็นคู่แข่งรายสำคัญ แต่การสำรวจดาวแดง สหรัฐฯ กลับมีบทบาทเด่น เพราะยานสำรวจดาวอังคารส่วนใหญ่เป็นของนาซา อีกทั้งยานที่ลงจอดได้ทั้งหมดเป็นของนาซาเช่นกัน ซึ่งมียานสำรวจที่ลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงนี้แล้ว 5 ลำ ได้แก่ ไวกิง (Viking) มาร์สพาธไฟน์เดอร์ (Mars Pathfinder) มาร์ส เอกซ์โพลเรชันโรเวอร์ (Mars Exploration Rovers) ฟินิกซ์ (Phoenix) และมาร์ส เรคอนเนซองส์ออบิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter)
ก่อนหน้านี้จอร์จ บุช (George W. Bush) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคารไว้ทีปี 2020 แต่ล่าสุด บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีคนล่าสุด กำหนดเป้าหมายตั้งกล่าวไว้ที่ปี 2035 แม้สหรัฐฯ จะนำโด่งในเรื่องการสำรวจดาวอังคารและตั้งเป้าส่งคนไปดาวดวงนี้เป็นชาติแรก แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารเช่นกัน ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น จีนและรัสเซีย
แม้ดูองค์ประกอบโดยรวม ดาวอังคารน่าจะเป็นบ้านที่แห้งแล้งสำหรับมนุษย์ แต่น่าจะเป็นถิ่นฐานใหม่สำหรับมนุษย์ได้เมื่อดวงอาทิตย์ถึงจุดจบแล้วขยายตัวกลืนกินโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นอีกก้าวของการออกไปสำรวจอวกาศที่ไกลออกไปเพื่อหาบ้านใหม่ที่เหมาะสมกว่า หรือไม่ก็เป็นอีกสนามทดสอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษย์
ดาวอังคารบันทึกภาพโดยกล้องฮับเบิล (อีซา)
เราจะโดดเดี่ยว (ในอวกาศ) ได้นานแค่ไหน?
เราจะทนโดดเดี่ยวในอวกาศได้นานแค่ไหน? เป็นคำถามสำคัญก่อนที่เราจะส่งเพื่อนมนุษย์ออกไปท่องแดนที่ไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน
สเปซด็อทคอมระบุว่าสถิติสูงสุดที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติคือ 6-7 เดือน ส่วนผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศต่อเนื่องยาวนานที่สุดคือ "วาเลรี พอลีอาค็อฟ" (Valery Polyakov) มนุษย์อวกาศรัสเซีย ซึ่งทำสถิติในปี 1995 อยู่บนสถานีอวกาศมีร์ (Mir space station) นานถึง 438 วัน หากแต่การเดินทางสู่ดาวอังคารต้องใช้เวลาปฏิบัติภารกิจยาวนานกว่านั้น
ปฏิบัติการมาร์ส 500 (Mars500) จำลองการเดินทางไป-กลับระหว่างโลกและดาวอังคารนาน 520 วัน จึงเริ่มขึ้นในห้องทดลองที่รัสเซีย ซึ่งรายงานบีบีซีนิวส์ ระบุความเห็นของ ศ.แพดดี โอ'ดอนเนลล์ (Prof. Paddy O'Donnell) นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (Glasgow University) สหราชอาณาจักรว่า จุดที่จะเห็นได้ชัดอยู่ในช่วงเดือนที่ 6-8 ของปฏิบัติการ สภาพตึงเครียดของจิตใจจะเริ่มปรากฏให้เห็น โดยอ้างอิงจากการศึกษาลูกเรือดำน้ำและทีมวิจัยแอนตาร์กติก
สำหรับอันตรายใหญ่หลวงคือความเบื่อหน่าย ลูกเรือจะหลอมรวมพันธะทางอารมณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งจะกัดกร่อนความเป็นมืออาชีพของพวกเขา และในกรณีเลวร้ายที่สุดคือ ลูกเรือเริ่มเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่วิธีที่จะป้องกันปัญหานี้คือจัดตำแหน่งผู้นำอย่างชัดเจน แบ่งแรงงานอย่างชัดเจน และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างเคร่งครัด
การแยกจากคนรักเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญสำหรับนักบินอวกาศ แต่ ศ.โอ'ดอนเนลล์เชื่อว่า การที่ลูกเรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจแต่งเรื่องของตัวเองและมีโอกาสที่ประสาทจะทำงานผิดพลาดต่ำ รวมถึงการมีกล้องจับพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา ย่อมทำให้พวกเขาประพฤติตัวอยู่ในกฎ และเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนพวกเขาอยู่แล้ว
ไม่มีใครตอบได้จริงๆ ปฏิบัติการมาร์ส500 นี้จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ แต่ลูกเรือแสดงความมั่นใจว่าพวกเขาทั้ง 6 คนจะอยู่ครบภารกิจ 520 วัน หากพวกเขาทำได้นั่นหมายความว่า การส่งมนุษย์เดินทางสู่ดาวอังคารกำลังใกล้เข้ามาแล้ว แต่กว่าจะไปถึงวันนั้นต้องพิสูจน์ความแกร่งของจิตใจมนุษย์เสียก่อนว่าจะทนความโดดเดี่ยวได้นานแค่ไหน
ถ้าหากเรารักษาสภาพของโลกเอาไว้ให่ร่มเย็นเหมือนในอดีตเราก็คงไม่ต้องพยายามไปหาที่อยู่อาศัยอื่นๆ นอกจากโลกนี้แน่นอน