นักวิทย์พบสารประกอบในแตงโมมีสรรพคุณคล้ายยารักษาอาการ "นกเขาไม่ขัน" ช่วยหลอดเลือดขยายตัว ที่ผ่านมามีนักวิจัยศึกษาคุณสมบัติพิเศษของแตงโมกันมาบ้างแล้ว และยิ่งศึกษามากขึ้นเท่าไร ยิ่งพบว่ากินแตงโมแล้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น
ดร.พิมู ปาติล ผู้อำนวยการศูนย์ปรับปรุงพันธุพืช และผลไม้เทกซัส เอแอนด์เอ็ม ในมลรัฐเทกซัส สหรัฐ บอกว่า แตงโม และผักผลไม้อีกหลายชนิดมีสารที่เรียกว่า ไฟโตนิวเตรียนท์ หรือพูดให้ฟังดูเป็นภาษาไทยว่า พฤกษเคมี เป็นสารประกอบทางเคมีที่ได้จากธรรมชาติกระตุ้นการตอบสนองของร่างกายให้มี สุขภาพแข็งแรง
สารประกอบพฤกษเคมีพบในแตงโมประกอบด้วย ไลโคปีน เบต้า แคโรทีน และดาวเด่นที่สุดคือ ซิทรูไลน์ (citruline) เป็นกรดอัลฟ่า อะมิโน คำว่า ซิทรูไลน์มาจากภาษาละตินว่า ซิทรูลัส (citrulus) แปลว่า แตงโม สารดังกล่าวถูกสกัดได้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 นักวิจัยพยายามไขความลับของสารซิทรูไลน์จนพบว่า สารเคมีชนิดนี้ช่วยขยายเส้นเลือด คล้ายกับการทำงานของยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
นักวิทยาศาสตร์รู้กันมาพักหนึ่งแล้วว่า หลังจากสวาปามแตงโมเข้าไปแล้ว ซิทรูไลน์จะเปลี่ยนไปเป็นอาร์กิไนน์โดยมีเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งเป็นตัวช่วยย่อย อาร์กิไนน์เป็นกรดอะมิโนที่ช่วยการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ และบำรุงระบบภูมิคุ้มกัน
"ซิทรูไลน์กับอาร์กิไนน์มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน และยังเป็นประโยชน์สำหรับคนเป็นโรคอ้วน และเบาหวานชนิดที่สองด้วย สารอาร์กิไนน์เป็นตัวกระตุ้นไนตริก ออกไซด์ ช่วยขยายหลอดเลือด มีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างเดียวกับไวอากร้า กล่าวคือใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และอาจช่วยป้องกันอาการเสื่อมได้ด้วย" ปาติล เล่าแจ้งแถลงไข
แม้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจมีปัญหามาจากปัญหาทางอารมณ์และจิตใจด้วย แต่ถ้าได้สารไนตริก ออกไซด์เพิ่ม จะช่วยคนที่ต้องการให้เลือดไหลเวียนคล่องขึ้นได้ และยังช่วยรักษาอาการหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นกัน
ถึงกระนั้น นักวิจัยยอมรับว่า แตงโมอาจไม่ออกฤทธิ์เฉพาะส่วนกับอวัยวะเหมือนยารักษาอาการหย่อน แต่ข้อดีของมันคือช่วยขยายหลอดเลือดโดยไม่มีผลข้างเคียงจากยา
สรรพคุณของแตงโมยังไม่หมดแค่นั้น สารอาร์กิไนน์ยังช่วยในกระบวนการที่เรียกว่า วัฏจักรยูเรีย โดยช่วยขจัดแอมโมนีย และสารประกอบที่เป็นพิษออกจากร่างกาย