ทีมวิจัยเยอรมันแย้ง "ตุตันคาเมน" สิ้นพระชนม์ด้วยโรคโลหิตจางไม่ใช่มาลาเรีย

ทีมวิจัยเยอรมันแย้ง "ตุตันคาเมน" สิ้นพระชนม์ด้วยโรคโลหิตจางไม่ใช่มาลาเรีย


ทีมวิจัยเยอรมันแย้ง "ตุตันคาเมน" สิ้นพระชนม์ด้วยโรคโลหิตจางไม่ใช่มาลาเรีย


ที่บรรจุพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อียิปต์ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ (เอเอฟพี)



ปริศนาการสิ้นพระชนม์ของ "ตุตันคาเมน" ยังไม่จบสิ้น แม้นักวิทยาศาสตร์และโบราณคดีอียิปต์ ได้พิสูจน์ดีเอ็นเอและสรุปผลไปแล้วว่า ฟาโรห์หนุ่มแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร ด้วยโรคมาลาเรีย ทว่าทีมนักวิจัยเยอรมันกลับพบร่องรอยโรคบางอย่างจากพระศพที่ขัดแย้งกับผลวิจัยเดิมโดยสิ้นเชิง

ทีมนักวิจัยของสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน แบร์นฮาร์ด (Bernhard Nocht Institute for Tropical Medicine : BNITM) ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เกิดความสงสัยในข้อสรุปของผลการศึกษาเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงสาเหตุที่ทำให้ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณต้องสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร จึงทำการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงนี้อีกครั้งดังรายงานในเอเอฟพี

"พวกเราสงสัยในความน่าเชื่อถือของข้อมูลพันธุกรรม ที่มีการนำเสนอไว้ในผลการศึกษาดังกล่าว และความเป็นเหตุเป็นผลในบทสรุปของผู้เขียน" ทีมวิจัยระบุในวารสารเจอร์นัล ออฟ เดอะ อเมริกัน เมดิคัล แอซโซซิเอชัน (Journal of the American Medical Association) ซึ่งตีพิมพ์ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ในรายงานสรุปผลการวิจัยในครั้งนั้นของซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) ผู้อำนวยการสภาโบราณสถานแห่งอียิปต์ (Supreme Council of Antiquities) และทีมวิจัย ได้พิสูจน์หาสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ตุตันคาเมนด้วยเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอและการเอกซ์เรย์พระศพด้วยเครื่องซีทีสแกน (computerised tomography scan : CT scan)

ผลการศึกษาดังกล่าวสรุปว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย เนื่องจากการติดเชื้อมาลาเรียส่งผลให้พระองค์มีอัตราการไหลของเลือดไปเลี้ยงกระดูกต่ำ ทำให้กระดูกเปราะบางหรือเสื่อมสภาพลง กอรปกับที่พระองค์ทรงประสบอุบัติเหตุล้มจนกระดูกขาหักมาก่อนหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพระองค์มิได้ถูกลอบปลงพระชนม์ตามที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านั้น ดังรายงานในไลฟ์ไซน์ด็อตคอม

ทั้งนี้ ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์เมื่อ 1324 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะมีพระชนมายุ 19 พรรษา หลังจากปกครองอาณาจักร์อียิปต์ได้ประมาณ 10 ปี

ทว่าทีมนักวิจัยเยอรมันตั้งข้อสังเกตว่า ฟาโรห์หนุ่มแห่งไอยคุปต์พระองค์นี้ ทรงมีพระชันษามากเกินกว่าจะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนมากมักมีการพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ต้านทานต่อเชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรค และนอกจากนั้นพระศพของพระองค์ยังปรากฏรอยโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ (sickle cell disease : SCD) ที่บริเวณนิ้วพระบาท

โรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติและทำงานบกพร่อง ซึ่งประชากรอียิปต์เป็นพาหะของโรคนี้สูงถึงร้อยละ 9-22

"ในพื้นที่ที่มีการระบาด โรคมาลาเรียในเด็กจะมีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจะเกิดกับเด็กเล็ก ขณะที่ผู้ใหญ่จะมีภูมิต้านทานบางส่วน (semi-immunity) และแสดงอาการของโรคไม่รุนแรงนัก" คริสเตียน ทิมมันน์ (Christian Timmann) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์โมเลกุล หนึ่งในทีมวิจัยของเยอรมนีชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย

ขณะที่ คริสเตียน เมเยอร์ (Christian Meyer) นักวิจัยอีกคนหนึ่งของทีมบอกว่า ในการยืนยันว่าเป็นโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์ หรือมียีนของโรคนี้อยู่หรือไม่ สามารถทำได้ง่ายและใช้เวลาเพียง 60 นาทีเท่านั้น ซึ่งพวกเขาก็สงสัยว่าทำไมทีมนักวิจัยอียิปต์จึงไม่พิสูจน์เรื่องนี้

หากฟาโรห์ตุตันคามุนประชวรด้วยโรคโลหิตจางชนิดซิกเคิลเซลล์จริง จะสามารถอธิบายเกี่ยวกับภาวะกระดูกอ่อนแอของพระองค์ได้ และพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยภาวะแทรกซ้อน จากการที่กระดูกพระเพลาหักได้อย่างไร

นักวิจัยอธิบายว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางชนิดนี้ จะมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติ โดยมีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว แทนที่จะมีลักษณะกลมเหมือนทั่วไป ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติจะจับกลุ่มกันเป็นก้อน มีผลไปขัดขวางการไหลของเลือดในเส้นเลือดฝอยและทำให้เส้นเลือดใหญ่อุดตันได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยถึงชีวิต

"ยิ่งไปกว่านั้น หากฟาโรห์ตุตันคาเมน มียีนที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซิกเคิลเซลล์จริง พระองค์จะไม่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการป่วยอย่างรุนแรงจากโรคมาลาเรีย" เมเยอร์ อธิบาย ซึ่งทีมวิจัยเยอรมันยังได้เรียกร้องให้ทีมวิจัยอียิปต์ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของฟาโรห์ตุตันคาเมนอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีนักวิจัยที่ไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานและข้อสรุปของนักวิจัยเยอรมัน

ทางด้าน โรเบิร์ต คอนโนลลี (Robert Connolly) นักมานุษยวิทยากายภาค มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ศึกษาพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนและอยู่ในทีมวิจัยเดียวกับฮาวาสส์ โต้แย้งว่า ทีมวิจัยเยอรมันไม่มีหลักฐานทางด้านรังสีวิทยามาแสดงให้เห็นว่ากระดูกของพระองค์ไม่แข็งแรง และไม่มีหลักฐานจากการเอกซ์เรย์ที่บ่งบอกว่าพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคซิกเคิลเซลล์หรือมีความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับเลือดอันเนื่องจากพันธุกรรม และเขายังปักใจเชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์หลังจากพลัดตกจากราชรถ เนื่องจากบริเวณหน้าอกของพระศพเกิดเป็นโพรงและกระดูกซี่โครงหักหลายซี่


บรรยากาศการแถลงข่าวผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอและซีทีสแกนพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.53 ซึ่งในครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์สรุปผลการตรวจดีเอ็นเอและซีทีสแกนว่าฟาโรห์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย (ภาพจาก เอเอฟพี)


Credit: scimovie
9 ก.ค. 53 เวลา 15:10 1,817 4 116
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...