read:http://petmaya.com/10-thai-food-bizarre-name
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมซีอิ๊วขาวถึงมีสีดำ ขนมโตเกียวมีขายที่ญี่ปุ่นหรือไม่ หรือขนมจีนเป็นของจีนจริงหรือ ถ้าคุณเคยสงสัยเกี่ยวกับชื่ออาหารทั้งหลายมาตั้งแต่เด็กแล้วล่ะก็ วันนี้เพชรมายาขอพาทุกท่านมาพบกับคำตอบที่จะทำให้คุณตายตาหลับกันเสียที
1. มะม่วงมีสีเขียวกับเหลือง แต่ทำไมถึงเรียกว่ามะม่วง
หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนที่สุด น่าจะมาจากการเลียนเสียงภาษามาลายู คำว่า Manga ว่า “หมากมางกา” โดยคนไทยสมัยก่อนเรียกผลไม้ที่มีคำนำว่าว่า “มะ” เป็นคำว่า “หมาก” หลังจากนั้นจึงเพี้ยนเสียงมาเรื่อยๆ จนมาเป็นมะม่วงจนถึงปัจจุบันนี้
2. ซีอิ๊วขาว ทำไมสีดำ
ตามปกติของการหมักถั่วเหลือง น้ำซีอิ๊วที่ได้จะเป็นสีดำ แต่น้ำซีอิ๊วขาวจะมีความใสกว่าซีอิ๊วดำ และเวลาเหยาะใส่อาหารต่างๆ จะไม่ค่อยทำให้อาหารเปลี่ยนสีไปมากนัก เหมือนกับใส่สีขาวลงไป ต่างจากซีอิ๊วดำที่ใส่ไปแล้วจะเป็นสีดำทันที
3. ขนมจีน ไม่ใช่ขนม และก็ไม่ใช่ของประเทศจีน
นั่นสิ แล้วทำไมมันถึงกลายเป็นขนมจีนไปได้ ข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ ขนมจีน น่าจะมาจากภาษามอญ โดยคนมอญเรียกขนมจีนว่า “คนอมจิน” เพราะขนมจีนถือเป็นอาหารของคนมอญ โดยคำว่า คนอม แปลว่าจับเป็นกลุ่มก้อน ก่อตัว สร้าง ส่วนจิน แปลว่า ทำให้สุก 2 ครั้ง คือเส้นที่ทำจากแป้งที่ทำให้สุก 2 หน (สุกครั้งที่ 1 ตอนต้มแป้ง สุกครั้งที่ 2 ตอนโรยเส้นในน้ำเดือด)
4. ขนมโตเกียว ไม่มีขายในโตเกียว
เชื่อว่าตอนเด็กๆ หลายคนต้องเชื่อว่ามันเป็นขนมของญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย ข้อสันนิษฐานคือ ขนมโตเกียวน่าจะมีรากฐานมาจากขนมดั้งเดิมในญี่ปุ่น และเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในไทย กลายนเป็นว่าได้มีการดัดแปลงไปเรื่อยๆ และมีการตั้งชื่อว่า ขนมโตเกียว ให้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นนั่นเอง (ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นไม่มีขนมโตเกียวขาย)
5. ข้าวซอย ไม่ใช่ข้าว
มี 2 ข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อข้าวซอย ข้อแรกคือมาจากกรรมวิธีในการทำเส้น ด้วยการนำแป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันและนวดจนเข้ากันดี แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น จากนั้นก็เอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้นๆ เหมือนเอาข้าว (แป้ง) มาซอยจนกลายเป็นข้าวซอย ส่วนอีกข้อคือข้าวซอยเป็นอาหารของชาวเมียนมาร์ที่เรียกว่า “เค่าซแว” และถูกเรียกเพี้ยนกันมาจนเป็น “ข้าวซอย” ในที่สุด
6. ส้มตำ แต่ไม่ได้เอาส้มมาตำ ทำไมเป็นมะละกอ
ส้มตำถือเป็นอาหารยอดฮิตที่เติบโตมาจากทางภาคอีสาน ซึ่งคำว่า “ส้ม” เป็นภาษาถิ่นที่หมายถึงรสเปรี้ยว ส่วน “ตำ” ก็คือการตำแบบที่เราเข้าใจ ดังนั้นคำว่าส้มตำ จึงหมายถึง การตำอาหารรสเปรี้ยว ซึ่งมะละกอดิบ ถือเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับในการหยิบมาตำให้มีรสเปรี้ยวนั่นเอง ส่วนอาหารชนิดอื่นที่เชื่อมโยงคำว่าส้มกับรสเปรี้ยวก็ได้แก่ แกงส้ม ปลาส้ม หมูส้ม และน้ำส้มสายชู
7. ข้าวผัดอเมริกัน ไม่ใช่ของอเมริกา
ข้าวผัดอเมริกันถูกคิดค้นโดยคุณหญิง สุรีพันธ์ มณีวัต เจ้าของนามปากกา “นิตยา นาฎยะสุนทร” ตั้งแต่ที่เธอทำงานเป็นผู้จัดการภัตตาคารในสนามบินดอนเมือง โดยวันดังกล่าวได้มีสายการบินหนึ่งยกเลิกอาหารที่สั่งจองเอาไว้ ทำให้มีอาหารเช้าแบบอเมริกันที่ประกอบด้วย ไข่ดาว แฮม ไส้กรอก เหลือเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นการเสียของ คุณหญิงจึงได้นำอาหารเหล่านั้นมาประกอบกับข้าวผัดที่เตรียมไว้ จนมีนายทหารอเมริกันมาเห็นและถามถึงเมนูข้าวผัดนั้น เธอจึงได้ตั้งชื่อว่า “ข้าวผัดอเมริกัน (American Fried Rice)”
8. ทำไมเรียกพริกเกลือ ทั้งๆ ที่มีน้ำตาลเพียบ
ในสมัยก่อน เครื่องจิ้มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะมีแต่พริกกะเกลือเท่านั้น ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพราะการผลิตน้ำตาลทรายได้เกิดขึ้นมาภายหลัง และเมื่อน้ำตาลแพร่หลายมากขึ้น คนยุคใหม่ก็ติดน้ำตาล จึงมีการใส่น้ำตาลลงไปในพริกกะเกลือ เพื่อให้รสหวานเป็นตัวนำ แต่ก็ยังคงเรียกว่าพริกเกลือเหมือนเดิม
9. ลอดช่องสิงคโปร์ แต่ไม่ใช่ของสิงคโปร์
ลอดช่องถือเป็นขนมไทยแท้มาแต่โบราณ ซึ่งมีความแตกต่างจากลอดช่องสิงคโปร์เล็กน้อยในเรื่องของวัตถุดิบและกรรมวิธีทำ แต่ถึงอย่างนั้นลอดช่องสิงคโปร์ ก็ไม่ได้มาจากสิงคโปร์แต่อย่างใด เพราะมันมาจากสถานที่ๆ ร้านขายลอดช่องตั้งอยู่ นั่นคือหน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราชนั่นเอง
10. ไข่เยี่ยวม้า แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเยี่ยวม้า
บางที่ก็อ้างอิงไปถึงตำนานเรื่องเล่าของจีน เกี่ยวกับชาวนาที่พบไข่เป็ดถูกฝังอยู่ในแกลบและฟางที่ใช้กลบมูลม้านานหลายเดือนโดยไม่เน่าเสีย แถมยังมีรสชาติดีอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงชาวจีนก็ไม่ได้เรียกมันว่าไข่เยี่ยวม้า ส่วนคนไทยที่เรียกแบบนี้ อาจเพราะสีของไข่แดงเป็นสีขี้ม้า และมีกลิ่นของแอมโมเนียที่เหมือนฉี่ เพราเหตุนี้จึงเรียกไข่นี้ว่า ไข่เยี่ยวม้า
ที่มา http://www.thinkbeyondbook.com/site/book/615