โบร่ำโบราณ การแต่งงานแบบไทย...เรื่องของขันหมาก

โบร่ำโบราณ การแต่งงานแบบไทย...เรื่องของขันหมาก 


หลายคนเคยได้ยินแต่ขบวนขันหมากแต่ง แต่ไม่รู้ว่ามีขันหมาก สำหรับพิธีหมั้นด้วยซึ่งพิธี ก็เหมือนเป็นการประกาศว่า ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ  ขบวนขันหมากหมั้น จะมีขันใส่หมาก และขันใส่ของหมั้น



ขันใส่หมาก  จะมีหมากดิบ 8 ผล พลู 4 เรียง (เรียงละ 8 ใบ) หรืออาจใช้มากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ขอแค่ให้เป็นจำนวนเลขคู่





ขันใส่ของหมั้น ซึ่งในสมัยก่อน มักจะเป็นทองรูปพรรณ เครื่องเพชรพลอย สร้อยต่างหูกำไลหรือแหวนทองมรดก จากบรรพบุรุษ ห่อไว้ด้วยผ้าหรือกระดาษสีแดง ให้เรียบร้อย สวยงาม ก่อนบรรจุ ลงในขัน สมัยนี้เปิด ผ้าแดงออกมามีแต่ธนบัตรล้วนๆ หลายปึกเรียงซ้อนกัน ก็นับว่าเข้าทีเหมือนกัน



ขันประกอบ มีการเพิ่มขันที่สามเข้าไปเพื่อเป็นขันประกอบโดยบรรจุใบเงินใบทอง ถุงเล็กถุงน้อยที่ใส่ข้าวเปลือก ข้าวตอก ถั่วเขียว และงา (เป็นจำนวนคู่) ซึ่งจัดไว้เพื่อเอาความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองและความงอกงามในวันข้างหน้า ส่วนขันใส่หมาก ขันใส่ของหมั้น ขันใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา และใบเงินใบทอง ทั้งหมดจัดแต่งอย่างประณีต อาจมีการเย็บใบตองจับจีบประดับด้วยมาลัย ดอกรักและบานไม่รู้โรยแล้วคลุมด้วยผ้าอย่างดีให้เรียบร้อยสวยงาม  





 เมื่อผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายให้คนยกเครื่องขันหมากหมั้นลงจัดวางเรียบร้อยแล้ว จึงเจรจากับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง แจกแจงว่า ของที่นำ มาหมั้นมีอะไรบ้าง พอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเปิดดูข้าวของว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ค่อยให้คนของฝ่ายตัวเองยกของทั้งหมดเข้าไปเก็บ ตามตัวเจ้าสาวออกมารับหมั้น หลังจากนั้นจึงส่งภาชนะถาดขันทั้งหลายเหล่านั้นออกมาคืน ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวฝ่ายหญิงมักเตรียม ของขวัญเล็กน้อยมีมูลค่า ต่างกันไปตามสถานะผู้รับไว้ให้ขบวนของฝ่ายชายครบทุกคนด้วย นอกจากนี้ในสมัยก่อนบ้านฝ่ายหญิงอาจ ต้องเตรียมพานใส่หมากพลูไว้ต้อนรับผู้ใหญ่ฝ่ายชายด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครกินหมาก ก็จะละไว้ไม่ต้องจัดเตรียม  เรื่องของพิธีหมั้น มีบางกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ว่าจัดรวบเสียวันเดียวกับงานแต่งก็ได้ โดยยกขบวนทั้งของหมั้นของแต่งในคราวเดียวเพื่อ ความสะดวก สำหรับกรณีที่ไม่เคร่งครัดจะไม่มีหมากพลูของหมั้นขันถาดอะไรเลย แค่ล้วงหยิบกล่องใส่แหวนออกมาจากกระเป๋า เสื้อเท่านั้นก็ย่อมได้ ถ้าทำความเข้าใจกันไว้แล้วอย่างดีแล้วค่อยไปให้ความสำคัญกับรายละเอียดของงานแต่งเพียงอย่างเดียวก็พอ



        ขันหมากงานแต่งก็คล้ายกันกับขันหมากหมั้น เพียงแต่มีเครื่องประกอบเยอะกว่า มีการจัดหมวดหมู่ต่างออกไป คือต้องจัดแยกเป็นขันหมากเอก และขันหมากโท ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่ยกไป เพื่อมอบให้กับครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว







ขันหมากเอก ประกอบด้วยขันหมากบรรจุหมากพลู หรืออาจจัดแยกเป็นหมากหนึ่งขันและพลูอีกหนึ่งขันก็ได้ จากนั้นต้องมีขันเงินสินสอดตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ โดยบางตำราระบุว่า ควรจะต้องมีถุงเล็ก ถุงน้อยใส่ถั่วงา ข้าวเปลือก ข้าวตอกใสามาในขันนี้ด้วย แต่ธรรมเนียมบางแห่งจัดแยกกัน คือจัดเงินสินสอดใส่ห่อผ้าลงในขันหนึ่ง แล้วจัดถุงข้าวและถั่วงาลงขันอีกใบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งสำคัญคือ ต้องตกแต่งให้เรียบร้อยสวยงาม เช่นประดับ มาลัยดอกรักบาน ไม่รู้โรย ใบตองประดิษฐ์ และมีผ้าคลุมไว้ทุกขันเพื่อความเหมาะสม และต้องจัดให้ขันบรรจุหมากพลูมีขนาดใหญ่กว่าขันอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ขันหมากเอกประกอบด้วยพานผ้าไหว้และเตียบเครื่องคาวหวาน จัดไว้เป็นจำนวนเลขคู่ตามเคย พานไหว้ ได้แก่ พานใส่ผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยมากจัด 3 สำรับ สำรับแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืนและห่ม 1 ผืน เทียนและธูปหอม ดอกไม้อีกกระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายาย ส่วนอีก 2 สำรับใช้ไหว้พ่อและแม่เจ้าสาว ไม่ต้องมีธูปเทียนและดอกไม้ กรณีที่ปู่ย่าตายายยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ต้องจัดพานผ้าไหว้เซ่นบรรพบุรุษ หรือผ้าไหว้สำหรับพ่อตาแม่ยายแทนที่จะใช้ผ้าเป็นผืนอาจเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่ท่านจะนำไปใช้งานได้จริง เตียบ คือภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่เครื่องของกิน เป็นตะลุ่มที่มีปากผายออกและมีฝาครอบ เตียบเครื่องคาวหวานในเครื่องขันหมากเอก มีไว้เพื่อเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายหรือผีบ้านผีเรือนของบ้านเจ้าสาว โดยให้จัดไว้ 4 เตียบ เตียบแรกจะใส่เหล้า 1 ขวด เตียบสองไก่ย่าง 1 ตัว เตียบสามใส่ขนมจีนน้ำยาและห่อหมกปลาเตียบสี่เป็นมะพร้าวอ่อน ส้ม กล้วย รวมกับขนมหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ด้วยแต่ละท้องถิ่นมีธรรมเนียมนิยม เรื่องอาหารต่างกันออกไปอยู่แล้ว ขอเพียงให้มีเหล้า 1 เตียบ และผลไม้ของหวาน 1 เตียบ ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนตัวเตียบนั้นอาจดัดแปลงเปลี่ยนเป็นพานหรือถาดก็ไใช้ได้เช่นกัน แต่ขอให้เตรียมผ้าสวยๆ ไว้คลุมปิดให้เรียบร้อยเป็นพอ (ในบางงานตัดการจัดเตียบออกไปเลยเพราะปู่ย่าตายายก็ยังอยู่กันครบแถมไม่ได้จัดงานที่บ้านจึงไม่ ต้องเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน)





ขันหมากโท เป็นเครื่องของประเภทขนมและผลไม้ บรรจุมาในขันหรือภาชนะอื่น เช่นถาดหรือ พาน ชนิดของขนมและผลไม้ไม่จำกัด ต่ส่วนมากมักใช้ชนิดที่นิยมในงานมงคลมีกล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน ขนมชั้น ฝอยทอง ข้าเหนียวแก้ว กะลาแม จัดเป็นคู่ทั้งจำนวนชิ้นขนม จำนวนภาชนะที่บรรจุ แล้วปักธงกระดาษสีแดงตกแต่งไว้ตรงกลางทุกขันหรือทุกถาด




Credit: http://www.centerwedding.com/
8 ก.ค. 53 เวลา 21:38 15,626 6 98
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...