เสื้อขาหมูแฮม การแต่งกายของราชสำนักฝ่ายใน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแก้ไขวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างเป็น "การใหญ่" โดยเริ่มนำแบบการแต่งกายของชาวตะวันตกมาผสมผสานกับแบบการแต่งกายตามประเพณีเดิม โปรดให้เปลี่ยนการไว้ทรงผมจากทรงมหาดไทยมาไว้ผมยาวแล้วตัดแบบฝรั่ง เพื่อให้เหมาะสำหรับ "การเข้าสมาคมแบบฝรั่ง" เป็นการปรับปรุงตามประเพณีนิยมของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก
หลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการนำแบบอย่างการแต่งกายของสตรียุโรปมาดัดแปลงแก้ไข สตรีชั้นสูงเริ่มใช้เนื้อตัดตามแบบอังกฤษสมัยควีนวิคตอเรีย เป็นเสื้อแขนพองตรงไหล่ แขนยาว และบางครั้งก็นิยมแขนเพียงศอกเรียกว่า "เสื้อแขนหมูแฮม" หรือ "ขาหมูแฮม" ตัวเสื้อประดับประดาอย่างงดงามด้วยลูกไม้หรือติดโบว์ระยิบไปทั้งตัว ตัวเสื้อพอดีตัว คอเสื้อนิยมคอตั้งสูง แต่ยังคงนุ่งโจงกระเบนเป็นผ้าม่วง ผ้าลาย หรือผ้าพื้นเข้ากับสีเสื้อแล้วแต่โอกาส และสะพายแพรสวมถุงน่องรองเท้า
ตอนปลายรัชกาล แบบเสื้อได้เปลี่ยนไปอีก ช่วงนี้นิยมใช้ผ้าแพร ผ้าไหม และผ้าลูกไม้ตัดแบบยุโรปที่นิยมกันในสมัยนั้นคือ คอตั้งสูงแขนยาวฟูพองมีระบายลูกไม้เป็นชั้น ๆ รอบแขนเสื้อ เอวเสื้อจีบเข้ารูปหรือคาดเข็มขัด และยังสะพายแพรสวมถุงเท้าที่มีลายโปร่งหรือปักด้วยดิ้นงดงาม สวมรองเท้าส้นสูงสำหรับแพรสะพายไม่ใช้แพรจีบและตรึงอย่างแต่ก่อน แต่ใช้แพรฝรั่งระบายให้หย่อนพองามแทน เป็นผ้าที่สั่งเข้ามาสำหรับเป็นแพรสะพายโดยเฉพาะ เริ่มใช้เครื่องสำอางที่ส่งมาจากตะวันตกบ้าง เช่น น้ำหอม เครื่องประดับนิยมสร้อยไข่มุกซ้อนกันหลาย ๆ สาย ประดับเพชรนิลจินดามากกว่าแต่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกแบบแล้วสั่งทำจากต่างประเทศ