ดำ หัวแพร
จอมโจรคนดียวในแผ่นดินที่มีอนุสาวรีย์
เดือนที่แล้วมีโอกาสไปทำงานที่พัทลุง ได้ยินมานานว่าโจรผู้นี้โด่งดังนัก
ถึงกับมีคนกราบไหว้ ครั้งหนึ่งเป็นแก็งใหญ่ตั้งตัวเองเป็นท่านขุนชื่อ
ขุนอัสดงไพรวัน
แห่งชุมโจรบ้านดอนทราย ใกล้อำเภอทะเลน้อย
ขนาดท้าตำรวจในสมัย ร.6 ยิง แต่มีสัจจะไม่ทำร้ายเด็กและผู้หญิง
อาวุธที่น่ากลัวของดำ หัวแพร คือ พร้าลืมงอในภาพ
เอาไว้เชือดคอเหยื่อ
พาพวกไปยางแคแต่กลางวัน
ยิงนายยกพลัดตกลงกับที่
อ้ายปากดีฆ่าให้ตายอย่าไว้หมัน
เอาลืมงอเชือดคอเสียเร็วพลัน
คนทั้งนั้นสากลัวไปทั่วเมือง
ท้ายที่สุด เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี มอบดาบอาญาสิทธิไปปราบจนได้
แต่ดำ หัวแพรที่บาดเจ็บไม่ยอมมอบตัว แต่ผูกคอตายหนีอาญา
ภายหลังมีคนทำรูปปั้นนี้ตั้งไว้หน้าเรือนจำพัทลุง
ทั้งนักโทษ ทั้งผู้ตุมต่างนับถือกลัวยืนตากแดดถึงกับทำหลังคาให้
ว่ากันว่าทางการชักรำคาญ เลยทำพิธีแห่เอาไปที้งทะเลเสียเลย
โดยแห่รอบเมืองประจานแล้วล่ามโซ่ให้เหมือนนักโทษ
ตอนแห่มีทั้งพายุเกรี้ยวกราดสมเป็นโจรใจหาญ
ส่วนรูปปั้นที่ถ่ายมาให้ดูนี้ จะทำใหม่หรือไรก็ไม่ทราบ
ชาวบ้านว่าครูใหญ่ รรใ ที่ควนขนุน แหล่งชุมโจรเก่า
เห็นว่ายังไง ดำ หัวแพร ก็คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
จึงเก็บรูปปั้นนี้เอาไว้ในสวนท้าย รร
ไปตามหาห่างจากตัวเมืองเลยห้างโลตัสสัก 5 กม อยู่ทางซ้าย
ระหว่างหลัก 80 – 81 เส้นไปทุ่งสง
ถามหา รร ปัญญาวุธ แยกตรงข้าม สนง. อบต. แพรกษา
ชุมโจรบ้านดอนทราย : ประวัติดำหัวแพร
ชุมโจรบ้านดอนทราย :ประวัติดำหัวแพร
จังหวัดพัทลุง ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เกิดชุมโจร ชื่อดัง ทั้งประเภทนักเลงหัวไม้ และระดับขุนโจรใจดำเหี้ยมโหด สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ประมาณนับได้ไม่น้อยกว่า 30 คน ในจำนวนนี้ปรากฏชื่อดังที่สุดในก๊กโจรด้วยกันได้แก่ รุ่งดอนทราย เป็นหัวหน้า และดำหัวแพรเป็นระดับรอง มีสมญานามเรียกว่า “ ขุนอัสดงไพรวัน “ เลียนแบบ บรรดาศักดิ์ ขุนนาง จากการสืบทราบประวัติส่วนตัว ของดำหัวแพร เกิดที่บ้านข่อยม้า ( ตำบลชะม่วง ) เขตอำเภอควนขนุน ประมาณ ปี พศ. 2428 – 2429 ชีวิตเบื้องต้นไม่มีใครทราบ รู้เพียงแต่ว่ามีนิสัยเป็นนักเลงหัวไม้ ไม่กลัวใคร ตั้งตัวเป็นโจรครบถ้วนสมบูรณ์แบบนับแต่อายุย่างเข้าเบญจเพศเป็นต้นมา
การที่โจรหลายกลุ่มมารวมตัวกัน โดยเฉพาะหัวหน้าโจร รุ่งดอนทราย ได้ปฏิบัติการทำลายล้าง ปล้นจี้ ฆ่าเจ้าทรัพย์ จนกระทั่งบังอาจท้าทายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดวลปืนกันก็เป็นเรื่องหนักใจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่น้อย นายแก้ว บัวขาว หรือ แก้ว เหงือก ได้แต่งกลอนเล่าสภาพบ้านเมืองสมัยนั้นว่า
“ขอแถลงแจ้งเรื่องเมืองลุง
มีนายรุ่ง ดอนทรายหัวไม้ใหญ
ประพฤติแต่การชั่ว
ไม่กลัวใคร ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่ ไม่นำพา
มันยกตัวเป็นใหญ่อยู่ในท
ี ถือว่ามีอำนาจ วาสนา
เที่ยวดุร้ายลำพองถึงวัดวา
ชาวประชาราษฎรพาร้อนใจ
……………ฯลฯ……………………
สาเหตุที่มาของชุมโจรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีผู้วิเคราะห์ว่าเกิดจากสภาพบ้านเมือง โดยสรุปคือ
1. ความหย่อนยานของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ไม่อาจให้ความคุ้มครองชาวบ้านได้ เป็นเหตุให้แต่ละชุมชนพยายามสร้างอิทธิพลเพื่อคุ้มครองหมู่บ้านตนเอง
2. วัฒนธรรมการยกย่องคนมีอิทธิพล เป็นนักเลง หรือร่ำรวย มากกว่าการยกย่องคนพอมีพอกิน แต่เป็นคนดีมีศีลธรรม กลุ่มนักเลงลืมตัวจนกระทั่งประพฤติตนเยี่ยงโจรในเวลาต่อมา
3. ค่านิยมคนพัทลุงในยุคนั้นมีว่า “ เมียฉุด วัวลัก” ยังคงอยู่ในใจชาวบ้านเพราะคนพวกนี้สามารถพาพี่น้อง ครอบครัวให้อยู่รอด ปลอดภัยได้ จึงเท่ากับเป็นการยกย่องคนชั่วไปในตัว
เมื่อรุ่ง ดอนทรายประกาศตัวให้ความคุ้มครองชาวบ้าน ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าพึ่งพาอำนาจรัฐ ประกาศิตขุนโจรถึงตายทุกคน รุ่งดอนทรายถึงกับสร้างปืนปลอกเงินเป็นเครื่องหมายประจำตัวหัวหน้า การสั่งการใดๆ หากไม่ได้ด้วยตนเอง ก็จะมอบปืนปลอกเงินถือไปแทนตัวได้ ใครจะมาอ้างคำสั่ง ถ้าไม่มีปืนดังกล่าวแสดงว่าไม่ต้องฟัง
ฟัง
รุ่ง ดอนทราย ร่วมกับดำหัวแพร ประกาศตนเพื่อแสวงหาแนวร่วมเข้ามาเป็นพวกพ้อง เรียกว่า
“ สัจจะโจร ” กำหนดให้ทุกคนถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด 3 ประการคือ
1. ห้ามทำร้ายเจ้าทรัพย์ที่ไม่ต่อสู้ ขัดขวางการปล้น
2. การปล้นแต่ละครั้ง จะเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่เก็บไว้เท่านั้น เช่น เสื้อผ้า เงินทอง ทรัพย์สินที่ติดตัว ห้ามเด็ดขาด
3. ไม่ทำร้าย สตรีเพศ และเด็ก บ้านหลังใดที่เคยให้การช่วยเหลือ พักพิง หลบแดด หลบฝน หรือร่มเงา จะไม่ทำการปล้นอย่างเด็ดขาด
คุณแม่ ของผู้เขียน ( อายุ 98 ปี ถึงแก่กรรมปี 2541 ) เล่าให้ฟังว่า กลุ่ม โจร รุ่งดอนทราย ประกาศล่วงหน้าว่าจะปล้นบ้านคุณตา ( ขณะนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ) ฤกษ์โจรตอนหัวค่ำ ได้ชักชวน ดำหัวแพร มาร่วมปล้นด้วย ก่อนปล้นได้ปลูกสร้าง ปะรำหน้าบ้านสูงเมตรเศษ แต่เมื่อดำหัวแพรรู้ว่าเป็นบ้านที่ตนเคยหลบแดด หลบฝน ถึงกับประกาศปฏิเสธการปล้นทันที เรื่องของดำหัวแพรคุณแม่จึงรู้จักเป็นส่วนตัวดีพอสมควร
ประมาณปี 2462 รุ่งดอนทรายถูกฆ่าตาย บางกระแสว่าเป็นไข้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่นำศพไปมัดกับต้นตาลที่วัดกุฎ ( วัดสุวรรณวิชัย อ. ควนขนุน ) หลังจากนั้น ดำ หัวแพรได้สืบตำแหน่งหัวหน้าโจร เต็มรูปแบบ เขาได้แผ่อิทธิพลไปทั่วหมู่บ้าน อำเภอตลอดจนต่างจังหวัดใกล้เคียง
เอกลักษณ์ ที่เป็นส่วนตัว ดำหัวแพรมีอาวุธ พร้าลืมงอ ปลายสุดถึงด้ามพร้ายาวประมาณ 120 ซม. ตัวพร้าเป็นเหล็กกล้าคมกริบ ท่าแบกพร้าตรงกลางวางบนบ่า ด้ามชิดลำตัว คมพร้าบังหูมิดพอดี ไม่มีใครโดยเฉพาะชาวบ้านแบกพร้าทำนองนี้ เพราะกลัวเขาจะว่าเป็นพวกโจรดำหัวแพร พร้าลืมงอด้ามนั้น ชื่อว่า “ อ้ายใจดำ ” ดำหัวแพรใช้เชือดคอศัตรูเมื่อล้มลงทุกครั้งไป
ก่อนสิ้นชื่อดำหัวแพร ทางราชการโดย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิคัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปถัมภ์มลฑลปักษ์ใต้ กล่าวกันว่าทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จคือ “ มือขวาถือหวาย มือซ้ายถือถุงเงิน ” ทรงอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้กลางสนาม ทรงรับสั่งให้นายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล ( บุญโกย เอโกบล ) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช
เป็นผู้อำนวยการปราบโจรในท้องที่จังหวัดพัทลุง เริ่มต้นโดยจัดกลุ่มชาวบ้านที่อาสาสมัครร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดูแลความสงบสุขของหมู่บ้าน และประกาศให้โจรอาชีพและระดับนักเลงหัวไม้ธรรมดาเข้ามามอบตัวสะสางยกเว้นคดีให้ ทำหน้าที่ฝึกแถว ฝึกยุทธวิธีการรบ เฝ้าเวรยาม ตลอดจนการหาข่าวรายงานทางราชการ เรื่องนี้กล่าวกันว่า พระวิชัยฯ รู้เรื่องต่างๆของโจรในพื้นที่ได้ดีมาก จนชาวบ้านเข้าใจว่าท่าน หูทิพย์ – ตาทิพย์ ครั้งหนึ่งรู้ว่า ดำหัวแพรกับเพื่อนร่วมวงกินหวาก ( กะแช่ ) ที่บ้านหนองคลอด ( หนองช้างคลอด ) ทุ่งหัวคด ( ตำบลโตนดด้วน) จึงมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ 3 นายไปจับกุมคือ สตต. สิริ แสงอุไร , สตต. นำ นาคะวิโรจน์ และพลตำรวจ ร่วง สามารถ พร้อมอาวุธครบมือไปล้อมจับ ดำหัวแพร ทั้งสองฝ่ายสู้รบยิงปืนเป็นสามารถ จนเวลาพลบค่ำ เล่ากันว่า สตต. สิริ ยิงจนกระสุนเหลือนัดเดียว จึงแกล้งล้มลง ดำหัวแพรเข้าใจว่าเป็นปืนที่ตนยิง จึงวิ่งตะลุยเข้าไปส่งเสียง “ ปีบ” อ้ายเสือ เป็นเสียงตะโกนหวังข่มคู่ต่อสู้ ถือพร้าลืมงอเข้าไปเชียดคอ ทันใดนั้นเสียงปืนนัดสุดท้ายดังก้องถูกตรงปลายคางดำหัวแพรล้มลง ทั้งเจ้าหน้าที่ และฝ่ายโจรวุ่นไม่รู้ใครเป็นใคร สมุนดำหัวแพรคนหนึ่งประคองหัวหน้าหนีนำร่างไปซ่อนไว้ที่กอไผ่
เพื่อเยียวและส่งอาหาร รุ่งเช้าพบว่าดำหัวแพรผูกคอตาย แต่ผู้เขียนยังจำคำบอกเล่าคุณแม่ ที่แต่งเป็นเพลงกล่อมเด็ก ความตอนหนึ่งว่า
“ สิบตรีนำเหอ ยิงดำหัวแพร
ที่หนองช้างคลอด ออกไปสามวา นอนตั้งท่าหงูนหมาน “ ( ท่าหนุมาน )
มีหลักฐานปรากฎ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 38 วันที่ 8 พฤษภาคม 2464 หน้า 316 ประกาศขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นความดีความชอบเจ้าหน้าที่ 3 นายดังนี้
จ่านายสิบตำรวจ สิริ แสงอุไร ได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก
นายสิบตำรวจโท นำ นาคะวิโรจน์ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฏไทย
ว่าที่สิบตำรวจตรี ร่วง สามารถ ได้รับพระราชทานเหรียญทองมงกุฏไทย
ศพของดำหัวแพร ได้ถูกนำไปผูกมัดกับต้นตาลที่วัดกุฎ ประจานไม่ให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง ตลอดจนเป็นการเรียกขวัญชาวบ้าน ให้รู้ถึงการสิ้นชื่อขุนโจรดำหัวแพร ประมาณปี 2462 เช่นกัน ส่วนเรื่องรูปปั้นที่เป็นข่าวนั้น อาจารย์ เทพ บุณยประสาท อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพัทลุง เคยเล่าว่าสมัยพระคณาศัยสุนทร เจ้าเมืองพัทลุง สร้างพระพุทธรูปไว้ที่ถ้ำเขากัง ( ใกล้โรงพยาบาลพัทลุง) บังเอิญปูนเหลือจึงสั่งให้ช่างปั้นรูปผู้ร้าย เรียกว่า “ อ้ายจังกั้ง” ( คนเกเร ) มีข้อความที่ฐานรูปปั้นว่า “อย่าเอาอย่างไอ้จังกั้งโว๊ย” มีรูปปั้นที่บริเวณเขา วังเนียง ( ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะเทศบาล) ได้มีผู้เขียนว่า “ รูปดำหัวแพร “ กลายเป็นความเข้าใจผิดว่าเมืองพัทลุงสร้างอนุสาวรีย์โจร จนเกิดกระแสต่อต้านจากบางกลุ่มคน แต่บางกลุ่มยังสนับสนุนให้คงรูปปั้นไว้ ขณะเขียนต้นฉบับนี้
อาจารย์สมคิด ทองสง ได้นำรูปปั้นไปเก็บไว้ที่ที่ดินส่วนตัว ใกล้ๆ โรงเรียนปัญญาวุธ เป็นการชั่วคราว
ชีวิตครอบครัวของดำหัวแพร ทราบว่ามีภรรยาที่เป็นตัวตน 3 คนชื่อ นางผลี้ นางร่ม ทั้งสองคนไม่ทายาท คนที่สามชื่อนางจัน มีลูกสาว 1 คน ปัจจุบันยังคงมีชีวิต แต่ไม่ทราบประวัติของบิดา เพราะเสียชีวิตตั้งแต่มีอายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น ส่วนคำว่า “ หัวแพร” คุณแม่ผู้เขียนเล่าว่า
เพราะผมดำคล้ายขนกา เป็นคนร่างสูงใหญ่ ผมดำเป็นลอนผิดจากชาวบ้านทั่วไป บางกระแสกล่าวว่า มีผ้าแพรสีดำโพกหัว เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะผ้าแพรอย่างดีนี้จะใช้เวลาคัดเลือด / ห้ามเลือดได้อีกด้วย