แผนที่ในราชอาณาจักรสยาม (Maps of Siam)
แผนที่ของสยามบ้านของเรานั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบฉบับแรก ๆ ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นโดยชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเทศแรก ๆ อย่างฝรั่งเศสซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และแผนที่ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำให้เห็นบ่อยครั้ง ได้แก่“แผนที่ราชอาณาจักรสยาม” หรือ Carte bu Royaume De Siam ที่จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2229 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สำหรับแผนที่ที่ชาวสยามวาดขึ้นเองนั้น โดยมากเป็นแผนที่แสดงอาณาเขตเฉพาะส่วน เช่นเส้นทางการเดินทัพ เส้นทางเรือ แผนที่เมือง และในสมัยก่อนแนวคิดการแบ่งขอบเขตแดนยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก จึงไม่ปรากฏหลักฐานแผนที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผลิตโดยชาวสยามมาก่อน
นับแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชวงศ์จักรีสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ปรากฏว่ามีการทำแผนที่ตัวเมืองกรุงเทพมาก่อนเท่าที่ค้นพบคงมีแต่แผนที่การเดินทัพโบราณซึ่งจะแสดงอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า “แผ่นที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชกาล พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 “ จากหลักฐานที่ปรากฏสันนิษฐานได้ว่าร่างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมาเขียนเป็นแผนที่ฉบับสมบูรณ์อย่างที่เห็นในปัจจุบันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่แล้ว การทำแผนที่ฉบับนี้ใช้วิธีการเขียนแบบใช้มโนภาพ แสดงให้เห็นลักษณะภูมิประเทศ แม่น้ำ ภูเขา ป่า ป้อมค่าย หมู่บ้าน ลงรายละเอียดคล้ายการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง และได้เขียนชื่อทางภูมิศาสตร์กำกับไว้อีกด้วย แนวทางการเดินทัพโยงด้วยเส้นสีดำ เพื่อให้ทราบว่าควรจะเดินไปในทิศทางใดและมีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติอะไรบ้าง การกำหนดระยะเวลาการเดินทางเป็นวันหรือเป็นคืน
หลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่งจะค้นพบไม่นานมานี้ ได้พบแผนที่โบราณในราชสำนักสยามที่เก็บไว้นานหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี2539 โดยข้าราชการสำนักพระราชวังได้พบโดยบังเอิญที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอัพภันตรีชา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ในพระบรมมหาราชวัง แผนที่ดังกล่าวถูกวาดขึ้นบนผ้าดิบสีเนื้อจำนวน 17 ชิ้น หรือในทางศัพท์ทางภูมิศาสตร์เรียกว่าระวาง มีขนาดที่แตกต่างกัน ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดถึง 5.17x3.88 เมตร เมื่อสำรวจอย่างละเอียดแผนที่แต่ละผืนจะถูกวาดลงบนผืนผ้าอย่างสวยงาม แสดงภูมิศาตร์ รวมถึงเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการรบระหว่างไทยกับพม่า ตลอดจนเส้นทางการค้าขายกับจีนในรัชกาลที่ 1 – 3 รวมทั้งแสดงการตั้งป้อมปราการ สถานที่สำคัญทางศาสนา ถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยพืชพรรณ และสัตว์ในบางทิ้งถิ่น จำนวนประชากร ระยะทางและเวลาในการใช้ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้น หลังจากมีการซ่อมแซมบ้างแล้ว แผนที่ทั้ง 17 ระวางได้ถูกเก็บรักษาไว้ณห้องสมุดส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
จากที่กล่าวมาข้างต้นการทำแผนที่ในยุคแรกๆ ของสยามจัดทำขึ้นโดยชนชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยาม ดังนั้น การจัดทำแผนที่ตามแบบตะวันตกของสยาม ได้เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จกลับจากประพาสเกาะชวาแหลมาลยู และประเทศอินเดียในปี พ.ศ. 2416 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายเฮนรี อาละบาสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นราชฑูตอังกฤษประจำประเทศสยาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ด้วย นายเฮนรี อาละบาสเตอร์ ได้กราบบังคมทูลถวายคำแนาะนำการทำนุบำรุงบ้านเมืองแบบตะวันตกหลายประการ รวมทั้งการสำรวจและทำแผนที่ด้วย ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกองทำแผนที่ขึ้น ใน พ.ศ.2418 จากนั้นได้มีการสำรวจทำแผนที่ในกรุงเทพ ฯ เพื่อตัดถนนเจริญกรุง และถนนสายอื่น ๆ อีกหลายสาย นับได้ว่าเป็นแผนที่ตัวเมืองกรุงเทพ ฯ ฉบับแรก แต่ปัจจุบันไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ งานขั้นต่อไปได้แก่การทำแผนที่เพื่อวางสายโทรเลขจากกรุงเทพ ฯ ไปเมืองพระตะบอง แผนที่บริเวณปากอ่าวสยาม เพื่อประโยชน์ ในการเดินเรือ และใช้เป็นแนวทางสำหรับวางแผนป้องกันชายฝั่งทะเล เนื่องจากคาดว่าจะถูกประเทศฝรั่งเศสรุกรานในอนาคต พ.ศ. 2423 รัฐบาลอังกฤษได้ขออนุมัติรัฐบาลสยามให้ กองทำแผนที่ กรมแผนที่แห่งอินเดียซึ่งมีกัปตัน เอช ฮิลล์ เป็นหัวหน้ากับนายเจมส์ แมคคาร์ธี เป็นผู้ช่วย ทำการวางโครงข่ายสามเหลื่อมจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า เข้าเขตประเทศสยามทางจังหวัดราชบุรี เพื่อเข้าบรรจบกับแผนที่ทางทะเลที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและสร้างหมุดหลักฐานทางแผนที่ ที่ภูเขาทอง และที่องค์ พระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นจุดตรวจสอบ ครั้งนั้นข้าราชการไทยพากัน หวั่นวิตกมาก เนื่องจากประเทศทางตะวันตก ที่ล่าอาณานิคม ก่อนจะเข้ายึดครองประเทศใด มักจะขอเข้าสำรวจทำแผนที่เสียก่อน นายเฮนรี อาละบาสเตอร์ ได้กราบบังคมทูลเสนอแนะว่า ถ้าทรงเห็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานงานทำแผนที่ของประเทศสยามตามแบบอย่างประเทศตะวันตกแล้วควรอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามที่ร้องขอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเห็นชอบด้วยการวางโครงข่ายสามเหลี่ยมในครั้งนั้นจึงเป็นพื้นฐานการทำแผนที่ของประเทศไทยในปัจจุบัน พร้อมกันนั้น นายเฮนรี อาละบาสเตอร์ ได้กราบบังคมทูลเสนอให้เชิญ นายเจมส์ แมคคาร์ธี เข้ามารับราชการในประเทศสยามด้วย เมื่อติดต่อกับนายเจมส์ แมคคาร์ธี แล้วไม่ขัดข้อง จึงทรงติดต่อกับรัฐ บาลอังกฤษ เพื่อขออนุญาตให้ นายเจมส์ แมคคาร์ธี เข้ามารับราชการในประเทศสยาม โดยสังกัด ฝ่ายพระกลาโหม ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา
การทำแผนที่เฉพาะทางบกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่ทรงสถาปนากรมทำแผนที่ขึ้นแล้วนั้น เริมต้นด้วยการสำรวจภูมิประเทศรอบเขตแดนเพื่อทำแผนที่แสดงเขตพระ ราชอาณาจักรขึ้นเป็นหลัก พร้อมไปกับการจัดทำแผนที่เฉพาะบริเวณย่อย ๆ เพื่อจุดประสงค์เฉพาะทาง เช่น แผนที่ปักปันเขตแดน แผนที่เสด็จประพาส แผนที่มณฑล และ แผนที่ผังเมือง แผนที่หลักระวางแรกที่กรมแผนที่รวบรวมข้อมูลทั้งจากการสำรวจ และจากแผนที่ของชาวต่างประเทศในยุคนั้น จัดทำขึ้นได้สำเร็จ เป็นแผนที่พระราชอาณาจักรสยาม "Map of The Kingdom of Siam and its Dependencies" นิยมเรียกแต่สั้น ๆ ว่า " แผนที่แมคคาร์ธี " ตามชื่อของเจ้ากรมทำแผนที่ในระหว่าง นั้น แผนที่ระวางนี้ ได้ส่งไป พิมพ์ที่อังกฤษคราวเดียวกันกับที่รัฐบาลสยามส่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรประการ (พระยศในขณะนั้น) ไปร่วมงานยูบิลี (งานฉลองสุวรรณาภิเศกสมโภช ครบรอบ 50 ปี ของการครองราชย์) ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย เมื่อ พ.ศ.2430 แต่พิมพ์สำเร็จใน พ.ศ. 2431 ภายในแผนที่ระวางนี้เองมีส่วนแทรกเป็นแผนที่ผังเมืองขนาดย่อ ๆ ไว้ ถึง 3 เมือง ด้วยกัน ได้แก่ Plan of Bangkok, Plan of Chieng Mai และ Plan of Luang Prabang เข้าใจว่าเพราะทั้ง 3 เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญอันดับต้น ๆ ของราชอาณาจักรสยาม (ก่อนเสียดินแดนริมฝั่งซ้าย แม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสใน ร.ศ.๑๑๒) แต่ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือแผนที่ผังเมืองดูเหมือนได้รับความสนใจและเป็นที่ต้อง การ เป็นอย่างมากและพื้นที่ที่ได้มีการทำแผนที่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ก่อนบริเวณอื่นใดมากที่สุด ก็คือ บริเวณกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนั่นเอง
จากการค้นพบแผนที่ในราชสำนักสยามครั้งล่าสุดเมื่อปี 2539 นับว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งถือเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สามารถนำมาหักล้าง หรือความเชื่อที่ว่า ชาวสยามไม่ใคร่ชอบจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในยุคเก่าก่อนเรามักจะอาศัยหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติอ้างอิงอยู่ล่ำไป อีกทั้งการค้นพบในครั้งนี้ทำให้รู้ซึ้งถึงพระปรีชาชาญสายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลทรงเข้มแข็งและกล้าหาญได้เห็นความสามารถของทหารโบราณที่มีความสามารถรอบด้านทั้งทางบกและทางน้ำได้เห็นการทำงานด้วยหลักการไม่ว่าจะทำอะไรล้วนแล้วแต่ตั้งวางแผน และที่สำคัญกว่นั้นในแผนที่นี้แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราทำงานแล้ว คนรุ่นหลังตรวจสอบได้ และถือเป็นงานศิลปะที่วาดแบบจิตรกรรมฝาผนังแบบโบราณอันทรงคุณค่า ให้ลูกหลานได้ศึกษาและร่วมสืบสานตามรายบรรพบุรุษของเรา
ด้วยเหตุนี้เอง “ร้านรักสยามหนังสือเก่า” มีหนังสือที่เกี่ยวกับแผนที่ที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ อยู่จำนวนหนึ่งที่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและทรงคุณค่า การพิมพ์ในแต่ละครั้งพิมพ์จำนวนจำกัดด้วยเหตุที่ต้นทุนที่ใช้ในการพิมพ์แต่ละครั้งราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งการจัดรูปเล่มค่อนข้างความยุ่งยากที่จะต้องแนบแผนที่ที่มีขนาดใหญ่พับให้ได้ขนาดเท่ากับขนาดของหนังสือและต้องใช้ความประณีต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หนังสือตำนานแสดงการเคลื่อนที่ของไทยแต่โบราณจนถึงปัจจุบันจัดทำโดยกรมแผนที่พิมพ์แจกในงานพระ กฐินหลวงพระราชทาน ณ วัดบพิตร์ภิมุข จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480
เนื้อหาภายในโดยย่อ
ได้กล่าวถึงการเคลื่อนที่ของไทยตั้งแต่ครั้งโบราณที่สำคัญ ๆ จำนวน 3 ครั้งด้วยกันอีกทั้งภายในเล่มยังมีตำนานต่าง ๆ ประกอบตลอดทั้งเล่ม อาทิเช่น ประกาศการตั้งแคว้นโยนกการตั้งอาณาจักรหนองแส ,สุโขทัย, อยธยา,กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ มีภาพโบราณสถานที่สำคัญประกอบ การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ได้จัดพิมพ์แผนที่แสดงการเคลื่อนที่ของไทยตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันขนาดใหญ่ และ แผนที่แสดงที่อยู่ของประชากรชาติไทยในปัจจุบัน แยกต่างหากจากหนังสือ (ภาพสี)
ประวัติย่อดินแดนไทยที่เสียแก่ฝรั่งเศส จัดพิมพ์ขึ้นโดยกระทรวงธรรมการ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีกรุง สะพานมอญ เมื่อปี พ.ศ. 2483
เนื้อหาภายในโดยย่อ
ได้กล่าถึงการเสียดินแดนของไทยให้แก่ประเทศฝรั่งเศสในแต่ละครั้ง เริ่มตั้งแต่ครั้งแรก เสียประเทศเขมร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2046 จนถึงครั้งที่ 5เสียพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ในส่วนท้ายยังมีรายการดินไทยที่เสียแก่ฝรั่งเศล คิดเป็นตารางกิโลเมตร และ จำนวนพลเมืองทั้งหมดที่ได้สูญเสียไปให้แก่ฝรั่งเศสปกหลังมีแผนที่แสดงดินแดนไทยที่เสียแก่ฝรั่งเศสประกอบ
หนังสือแผนที่ ประกอบ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2503ปกแข็งหน้าปกเขียนด้วยลายทองตัวอักษรแบบโบราณ
เนื้อหาภายในโดยย่อ
ได้รวบรวมแผนที่แสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยแย่งการแสดงแผนที่เป็นเรื่อง ๆ อาทิเช่นระบบทิว เขาและแม่น้ำที่สำคัญ , แสดงชื่อเกาะในน่านน้ำไทย, ความหนาแน่นของประชากรในปี 2503ระบบ ทางหลวงแผนดินสายประธาน เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ พับให้ได้ขนาดเท่ารูปเล่มแล้วเย็บรวมเป็นเล่ม เป็นภาพสีและภาพขาวดำ
หนังสือ แผนที่กรุงเทพฯ (Maps of Bangkok) พ.ศ. 2431 – พ.ศ. 2475 จัดพิมพ์โดย กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2527 ปกแข็ง มีลักษณะตัวเล่มขนาดใหญ่พิเศษ กว้าง 35 ซ.ม.ยาว 40 ซ.ม
เนื้อหาภายในเล่มโดยย่อ
ได้จัดพิมพ์สำเนาแผนที่กรุงเทพฯ จากต้นฉบับเดิมที่มีชื่อว่า “Plan of Bangkok and District เมื่อ ปีพ.ศ. 2431 - 2474 การพิมพ์ในครั้งนี้เลือกพิมพ์เฉพาะที่มีความสำคัญทางประวัติ และมีลักษณะเด่นเชิงเทคนิค 7 ระวาง มีแผนที่ขนาดใหญ่มากพับแนบเท่ากับขนาดตัวเล่ม พิมพ์ด้วยสีและขาวดำ มีคำอธิบายไทยและอังกฤษ ประกอบทั้งเล่ม
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญเรื่องแผนที่ เนื่องจากการจัด ทำแผนที่เป็นงานที่ต้องกระทำเสมอด้วยเหตุที่ลักษณะภูมิและเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามความเจริญของบ้านเมือง รายละเอียดในแผนที่สมัยต่าง ๆ จึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศและตัวเมือง ดั้งนั้น แผนที่ในทุกยุคสมัย จึงได้ถูกเก็บไว้เป็นหลักฐานในการวางแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ
“เหนือสิ่งอื่นใด คือความภาคภูมิใจร่วมกันของคนไทยถึงความสามารถทางด้านนี้ของบรรพบุรุษ ชาวสยามในอดีต ที่ไม่แพ้ชาติไหนในโลก”