อายุกับการออกกำลัง โดย นายแพทย์อวย เกตุสิงห์
เด็กต้องกินยาอย่างเด็ก ผู้ใหญ่ต้องกินยาอย่างผู้ใหญ่ คนแก่ต้องกินยาอย่างคนแก่ ทั้งนี้เพราะสภาพร่างกายแตกต่างกันไปตามวัย เพราะเหตุผลอย่างเดียวกัน การออกกำลังกายก็ต้องเหมาะกับวัย มิฉะนั้นอาจเกิดโทษ กล่าวโดยสังเขปการออกกำลังสำหรับคนวัยต่างๆ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
วัยเด็ก
วัยหนุ่มสาว (อายุ ๑๘-๒๕ ปี)
วัยผู้ใหญ่หรือวัยฉกรรจ์ (อายุ ๒๖-๓๕ หรือ ๔๐ ปี)
วัยกลางคน (อายุ ๓๕ หรือ ๔๐-๕๕ ปี)
วัยสูงอายุ (อายุ ๕๕ ปีขึ้นไป)
วัยเด็ก
เด็กๆ ก่อนวัยอนุบาลควรปล่อยให้เล่นตามใจชอบ การวิ่ง กระโดด ปีนป่ายเป็นวิธีของธรรมชาติสำหรับส่งเสริมการเติบโต ผู้ใหญ่คอยแต่ระวังป้องกันอันตราย เด็กที่ไม่ชอบเล่นควรกระตุ้นและชักจูงให้ออกกำลังบ่อยๆ จนเปลี่ยนนิสัยได้
ในวัยอนุบาลเด็กๆ ควรหัดท่ากายบริหารง่ายๆ อาจจัดในรูปของการฟ้อนรำหรือการเล่นสนุก การปีนป่ายเป็นเรื่องของธรรมชาติและมีประโยชน์ ควรระวังเพียงไม่ให้กระทำอย่างเสี่ยงอันตราย การออกกำลังหนักยังไม่ควรให้ทำเพราะหัวใจยังเจริญไม่เต็มที่ ควรปล่อยให้วิ่งเล่นตามใจโดยไม่พยายามบีบบังคับ การพักผ่อนภายหลังเล่นควรจะกำหนดให้พอเพียงเสมอ
เด็กในวัยประถม (อายุ ๗-๑๒ ปี) ควรมีเวลาเรียนพลศึกษาสัปดาห์ละ ๒-๓ ชั่วโมง และเล่นกีฬาที่ยากขึ้นเป็นลำดับ ให้เหมาะกับสภาพของสมองและร่างกาย การวิ่งและกระโดดช่วยเสริมการเติบโตและทำให้ความอดทนดีขึ้นเรื่อยๆ ในวัยนี้ยังไม่ต้องแยกเด็กชายกับเด็กหญิง แต่ต้องระวังการเล่นหนักเกินไปและต้องแน่ใจว่าได้รับอาหารและการพักผ่อนเพียงพอ
เด็กในวัยมัธยม (อายุ ๑๓ ปีขึ้นไป) ควรแยกระหว่างหญิงกับชาย เพราะความแตกต่างระหว่างเพศเริ่มปรากฏชัดเจน เด็กหญิงควรให้เล่นกีฬาที่ส่งเสริมทรวดทรงให้สวยงาม การเคลื่อนไหวนุ่มนวลชดช้อยนาฎศิลป์ (ซึ่งเป็นการออกกำลังแบบหนึ่ง) ของไทยเรามีประโยชน์ในเรื่องนี้ไม่แพ้การเต้นรำปลายเท้าหรือบัลเล่ต์ของฝรั่ง กีฬาของเด็กชายบางอย่างก็ใช้ได้สำหรับเด็กหญิง แต่บางอย่างก็ไม่เหมาะสม เช่น ตะกร้อฟุตบอล ซึ่งนอกจากไม่เหมาะในเรื่องความงดงามทางจิตใจแล้ว ยังอาจทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย สำหรับเด็กชายในวัยนี้กล่าวโดยสรุปว่าเล่นได้เหมือนผู้ใหญ่เว้นแต่ ต้องลดความหนักและรุนแรงลงบ้าง ต้องระวังการตกจากที่สูงและหกล้มรุนแรง เพราะอาจทำอันตรายต่อแนวงอกของกระดูก ทำให้การเติบโตชะงักงัน
เด็กวัยอนุบาลเล่นสนุกปีนป่าย
วัยหนุ่มสาว (อายุ ๑๘-๒๕ ปี)
ระยะนี้เป็นเวลาที่สมรรถภาพทางกายดีที่สุด การออกกำลังกายจะใช้วิธีใดก็ได้ทั้งนั้น แต่พึงระวังไม่ให้หนักหรือมากเกินสมควร ในปัจจุบันนี้มีความโน้มเอียงที่ผู้หญิงจะทำตนเสมอกับผู้ชาย ในเรื่องอื่นๆ เป็นการสมควรอยู่ แต่ในเรื่องการกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นการไม่สมควรเพราะธรรมชาติสร้างผู้หญิงมาเป็น "แม่" มีความอ่อนหวานนุ่มนวล จิตใจอ่อนโยน ส่วนผู้ชายนั้นเป็น "พ่อ" ผู้ต้องหาอาหารและปกป้องครอบครัว ร่างกายบึกบึนและมีจิตใจเข้มแข็ง องอาจ การที่ผู้หญิงจะเล่นกีฬาเหมือนผู้ชายไปเสียทั้งหมด นอกจากขัดกับประเพณีนิยม ยังอาจมีผลร้ายต่อร่างกายเนื่องจากความรุนแรง ความหนัก หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะและผลทางใจอีกด้วย
วัยผู้ใหญ่หรือวัยฉกรรจ์ (อายุ ๒๖-๓๕ หรือ ๔๐ ปี)
ในครึ่งระยะเวลาแรกร่างกายกำลังแข็งแกร่งเต็มที่ พ้นจากนั้นแล้วก็เริ่มเสื่อม ในระยะแข็งแกร่งจะเล่นกีฬาอะไรก็ได้ รวมทั้งกีฬาแข่งขันต่างๆ แต่ใน ระยะหลังต้องลดความหนักลงและงดการแข่งขันในประเภทหนักมากๆ
วัยกลางคน (อายุ ๓๕ หรือ ๔๐-๕๕ ปี)
ในวัยนี้กำลังความคิดขึ้นสูงเต็มที่ แต่กำลังกายและสมรรถภาพทางกายลดลงเรื่อยๆ ผู้ที่เคยออกกำลังมาก่อนแล้วพึงระลึกถึงความจริงข้อนี้ มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายเนื่องจากออกกำลังหนักเกินไป เพราะคิดว่ายังแข็งแรงเช่นแต่ก่อน
วัยสูงอายุ (อายุ ๕๕ ปีขึ้นไป)
เมื่ออายุย่างเข้าขั้นนี้ความตกต่ำของร่างกายมักปรากฏชัดเจน แต่ก็ยังออกกำลังได้ และจำเป็นต้องออกกำลัง เพื่อรักษาสภาพและ "ชะลอชรา" การออกกำลังและการกีฬาของคนปูนนี้จำเป็นต้องกำหนดเป็นพิเศษ ให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นในร่างกาย มีข้อที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ
(๑) หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีการแบ่งหรือออกแรงหนักอย่างกะทันหัน เช่น ยกน้ำหนัก กระโดด ฯลฯ
(๒) หลีกเลี่ยงการแข่งขันแม้แต่ฉันมิตร (ยกเว้นผู้ที่เคยแข่งขันติดต่อมาตั้งแต่ยังหนุ่ม)
(๓) หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วสูง
(๔) หลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หนักและติดต่อไปเป็นเวลานาน