สุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา ก้าวพ้นความฝันเฟื่องสู่นวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต ด้วยสิ่งประดิษฐ์ รถยนต์พลังไฮโดรเจน ประหยัดพลังงาน 56 กิโลเมตรต่อลิตร
จาก ช่างเทคนิคลูกทัพฟ้าสู่พ่อมดแห่งนาซา นักประดิษฐ์ผู้ไม่ยอมแพ้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ พัฒนาอุปกรณ์แยกไฮโดรเจนจากน้ำที่สามารถไปติดตั้งไว้ในรถยนต์ได้เลย ทำให้รถยนต์สามารถใช้พลังน้ำแทนน้ำมันในการขับเคลื่อนได้สำเร็จ
" จุดประสงค์ที่คิดค้นเกิดจากอยากให้โลกรู้ว่า น้ำสามารถเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ตัวนี้ขึ้นมา นอกจากนี้รีแอคเตอร์ยังเป็นตัวแก้ปัญหามลพิษ สภาวะปัญหาของโลกในปัจจุบันที่เกิดสภาวะโลกร้อน เพราะการใช้น้ำมาเป็นพลังงานเป็นเชื้อเพลิง จะทำให้ลดภาวะโลกร้อนและแก้ปัญหามลพิษไปด้วย ผลงานชิ้นนี้จะไม่ใช่ชิ้นแรกและชิ้นสุดท้าย ขอให้คนไทยเป็นกำลังใจให้ผมและทีมงานทำหน้าที่ต่อไปให้สำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป" นายสุมิตรกล่าว
"สุมิตร" เล่าถึงที่มาของแนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อนำเอาพลังงานน้ำมาใช้ว่า ตั้งใจทำให้คนไทยและโลกรู้ว่าน้ำเป็นพลังงานทดแทนได้ เพราะน้ำมีพลังงานมหาศาล แต่ยังไม่มีใครนำพลังงานของน้ำมาใช้อย่างเต็มที่
เทคโนโลยี พลังงานไฮโดรเจน อาศัยหลักการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้ได้ก๊าซไฮโดรเจน 2 อะตอม และ ออกซิเจน 1 อะตอม โดยใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า "รีแอคเตอร์" เป็นตัวแยก เมื่อนำไปติดตั้งกับรถยนต์จะใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอรี่รถ 12 โวลต์ เข้ามาทำการแยกโดยขั้วบวกจะมีปฏิกิริยาของออกซิเจน ขั้วลบจะเป็นปฏิกิริยาของไฮโดรเจนในการแยกโมเลกุลน้ำ และได้ไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิง แล้วส่งเข้าไปสันดาปในเครื่องยนต์
จุด เด่นของ "รีแอคเตอร์" คือ ปฏิกิริยาการแยกน้ำจะเกิดขึ้นทีละน้อย ตามความต้องการของเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องนำไฮโดรเจนที่ได้ไปเก็บไว้ในถังเก็บ เมื่อผลิตไฮโดรเจนออกมาได้แล้วก็ส่งออกไปยังเครื่องยนต์ ทำให้เกิดการจุดระเบิดขึ้น เพราะคุณสมบัติที่ดีของไฮโดรเจนก็คือมีการเผาไหม้ได้สูงและมีการจุดระเบิด ที่ต่ำมาก เหมือนเครื่องยนต์ที่ใช้กันในปัจจุบัน เทคโนโลยีทุกวันนี้ในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้วิธีการคล้ายๆ กัน จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อิเล็กโทรไรท์เตอร์" ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กันหมด
"ปฏิกิริยาแยกน้ำจะเกิดความ ร้อนสูง ยากแก่การควบคุม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่รีแอคเตอร์ที่พัฒนาขึ้น สามารถควบคุมความร้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ที่สำคัญใช้น้ำเป็นวัตถุดิบต้นกำเนิดของเชื้อเพลิง ซึ่งหาได้ง่าย ราคาถูก และประการสุดท้าย คือ ไอเสียที่เกิดจากการสันดาปนั้น จะปนออกมารวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นไอเสียบริสุทธิ์"
"รีแอคเตอร์ 2" ขณะนี้ได้ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นตัวทำหน้าที่ตรวจสอบความผิดปกติ ของการทำงานในระบบทั้งหมด วงจรนี้จะทำงานร่วมกับ ไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่จะเป็นตัวควบคุมการทำงานของรีแอคเตอร์กับเครื่องยนต์ เพื่อให้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่น้อยลง และได้ผลผลิตคือ ไฮโดรเจนในปริมาณที่เป็นสัดส่วนกับความต้องการของเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด