วัตถุไคเปอร์บังดาวฤกษ์ เผยพื้นผิวขาวผิดปกติ
คณะนักดาราศาสตร์จากหลายประเทศได้ร่วมสำรวจวัตถุไคเปอร์ชื่อ 55636 ด้วยวิธีใหม่ และได้พบว่าวัตถุดวงนี้สว่างกว่าวัตถุไคเปอร์ทั่วไป
55636 เดิมชื่อ 2002 TX300 โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยรัศมีวงโคจร 48 หน่วยดาราศาสตร์ วัตถุไคเปอร์ เป็นวัตถุในระบบสุริยะ คล้ายดาวพลูโต โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในแถบไคเปอร์ ซึ่งอยู่ไกลพ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป
การสำรวจครั้งนี้ใช้เทคนิคใหม่ นั่นคือใช้วิธีสังเกตการบังดาวฤกษ์ จากเส้นทางโคจรของวัตถุไคเปอร์ที่ทราบอยู่ก่อนแล้ว ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ล่วงหน้าว่าวัตถุดวงนี้จะบังดาวฤกษ์ที่อยู่ฉากหลังดวงใด ณ วันเวลาใด จึงเตรียมการได้ตั้งแต่ล่วงหน้า
55636 บังดาวฤกษ์ฉากหลังไปเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที แม้เวลาจะสั้นมาก แต่ก็ทำให้นักดาราศาสตร์คำนวณหาขนาดและอัตราสะท้อนแสงของวัตถุนี้ได้ และค่าทั้งสองค่าที่ได้มาก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องประหลาดใจ
55636 มีขนาดเล็กกว่าที่เคยคิดไว้มาก ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 300 กิโลเมตร นั่นก็ย่อมแปลว่าพื้นผิวของวัตถุดวงนี้สะท้อนแสงได้ดีกว่าที่เคยคิดไว้ด้วย และตัวเลขที่ได้แสดงว่าวัตถุดวงนี้ขาวจนเชื่อว่าพื้นผิวปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง
วัตถุไคเปอร์ส่วนใหญ่มีสีคล้ำ ซึ่งเป็นผลจากการถูกอาบรังสีคอสมิกสะสมมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการที่ 55636 มีความสว่างมากแสดงว่ามีกระบวนการสร้างพื้นผิวใหม่อยู่ หรือไม่ก็ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่คงอยู่ได้ในบริเวณขอบนอกระบบสุริยะได้นานนับพันล้านปี
วัตถุหลายดวงในระบบสุริยะก็มีพื้นผิวสว่างเหมือนกัน เช่นพลูโต เอเซลาดัส พื้นผิวของวัตถุเหล่านี้ขาวโพลนไปด้วยละอองน้ำแข็งที่ควบแน่นมาจากน้ำในบรรยากาศที่พ่นขึ้นมาจากพุน้ำแข็ง กระบวนการนี้คล้ายการปะทุของภูเขาไฟ ต่างตรงที่สิ่งที่พ่นออกมาคือน้ำแทนที่จะเป็นลาวา แต่ 55636 มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้
ก่อนหน้านี้ในปี 2552 เคยมีการพบวัตถุไคเปอร์จากการสังเกตการบังดาวมาก่อนแล้ว แต่ในครั้งนั้นเป็นการสำรวจโดยการค้นหาข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลย้อนหลัง ซึ่งในครั้งนั้นก็พบวัตถุไคเปอร์มีขนาดเล็กมากเพียง 975 เมตร และอยู่ห่างออกไปถึง 6,700 ล้านกิโลเมตร แต่ครั้งนี้เป็นการสำรวจการบังดาวที่มีการคำนวณวันเวลาการบังไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของการสำรวจแบบนี้
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า 55636 เป็นชิ้นส่วนที่หลุดออกมาจากการชนกันระหว่างดาวเคราะห์แคระชื่อ เฮาเมอา (Haumea) กับวัตถุดวงอื่นเมื่อราวหนึ่งพันล้านปีก่อน