https://www.meekhao.com/history/common-ancient-writings
ไม่มีหนทางใดที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ถ่องแท้มากไปกว่าการอ่านงานเขียนที่มาจากยุคสมัยนั้นจริงๆ โดยเฉพาะงานเขียนของชาวบ้านร้านตลาดที่ใช้ชีวิตแบบธรรมดาสามัญ
นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ นักโบราณคดี และคนทั่วไปอาจสนใจแต่งานเขียนลึกซึ้งของนักปราชญ์อย่างเพลโตหรืออริสโตเติล จนทำให้บางครั้งเราก็ลืมไปว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ได้อย่างครอบคลุมที่สุดก็คือบันทึกที่มาจากปลายปากกาของ “ประชาชนคนทั่วไป” และนี่คือ 10 ตัวอย่างบันทึก จดหมาย หรืองานเขียนที่น่าสนใจ ของคนธรรมดาที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน
ทหารชาวอียิปต์ที่อยากกลับบ้านเกิด
ย้อนกลับไปในคริสต์ศักราช 214 ชายชาวอียิปต์คนหนึ่งชื่อ Aurelius Polion ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปร่วมรบกับกองทหารโรมัน ที่ที่เขาอยู่นั้นห่างไกลจากบ้านของตนถึง 1,600 กิโลเมตร แน่นอนว่าความห่างไกลนี้ทำให้เขาหวาดกลัว ไม่ใช่แค่เพราะสงครามที่ต้องต่อสู้แต่เป็นเพราะเขารู้สึกว่าครอบครัวได้ลืมเขาไปแล้ว “ผมส่งจดหมายไป 6 ฉบับแต่พี่ไม่เคยตอบกลับมาเลย ถ้าเมื่อไหร่ที่พี่คิดถึงผม ผมจะไปหาพี่และพี่จะได้รู้ว่าผมยังเป็นน้องชายของพี่เสมอ”
จดหมายร้องเรียนพ่อค้าผู้มีอิทธิพล
ชายชาวบาบิโลเนียนชื่อ Nanni ได้รับการยกย่องเนื่องจากเขาเป็น “คนแรกที่เขียนจดหมายร้องทุกข์” ย้อนกลับไปราว 1750 ปีก่อนคริสตกาล Ea-nasir พ่อค้าทองแดงคนหนึ่งได้หลอกขายสินค้าคุณภาพต่ำให้กับ Nanni เมื่อเขาได้รับสินค้าจึงบ่นกับคนส่งของ แต่คนส่งของก็ตอบแค่ว่า “ไม่อยากได้ก็ไปซะ!” โดยไม่คืนเงินให้เขา Nanni ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเพราะ Ea-nasir เป็นพ่อค้าผู้มีอิทธิพล จึงเขียนจดหมายร้องเรียนส่งไปว่า “ผมขอแจ้งให้ทราบว่า ผมจะไม่ซื้อทองแดงจากคุณอีกต่อไป! เพราะมันไม่ใช่ทองแดงคุณภาพดีแบบที่คุณบอก”
นักบวชและหญิงชาวจีน
ในคริสต์ศักราช 313 หญิงชาวจีนคนหนึ่งชื่อ Miwnay อาศัยอยู่ในเมือง Dunhuang อย่างยากจนข้นแค้นและไม่สามารถเดินทางกลับไปหามารดาได้ เพราะหลังจากสามีของเธอเสียชีวิตญาติๆ ของเขาก็เอาเงินไปจนหมดและไม่อนุญาตให้เธอเดินทางกลับบ้าน แถมยังไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย Miwnay จึงเขียนจดหมายไปบอกกับแม่ว่า “หนูใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีเงิน” โชคดีที่เธอได้พบกับนักบวชคนหนึ่งที่สัญญาว่าจะยกอูฐให้เธอและพาเธอกลับบ้าน แต่โชคร้ายที่จดหมายฉบับนั้นเดินทางไปไม่ถึงบ้านเกิดและถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในป้อมปราการของกองทัพจีน
คนงานชาวสุเมเรียนกับเบียร์
ย้อนกลับไปเมื่อ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวสุเมเรียนหลายคนเดินทางจากบ้านเพื่อไปทำงานให้กับผู้มีอำนาจ ส่วนค่าจ้างที่พวกเขาได้รับนั้นไม่ใช่เงินทองแต่เป็น “เบียร์” และพนักงานบัญชีก็ได้จดบันทึกการจ่ายค่าตอบแทนไว้ เราจึงได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคที่ยังไม่มีการคิดค้นเงินตรา
พระเยซูมีศีรษะเป็นลา
Alexamenos คือชายผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่มีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ.200 แต่ขณะนั้นชาวบ้านในชุมชนเดียวกับเขาไม่ได้นับถือพระเจ้า ชายคนหนึ่งที่ไม่ถูกกับ Alexamenos จึงวาดภาพพระเยซูที่มีศีรษะเป็นลากำลังถูกตรึงไม้กางเขนกับชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ด้านล่าง และเขียนข้อความว่า “Alexamenos กำลังบูชาพระเจ้าของเขา”
แม้ว่านี่จะเป็นการกระทำที่เลวร้ายเพราะแสดงถึงการไม่เคารพความเชื่อของคนอื่น แต่การกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคนั้น เพราะมีชาวบ้านหลายคนคิดว่ากลุ่มคริสตศาสนิกชนนั้นเป็นมนุษย์กินคน และบางคนก็คิดว่าพระเยซูมีศีรษะเป็นลาจริงๆ
คนงานผู้ทุ่มเท
ย้อนกลับไปเมื่อ 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีบันทึกกระดาษปาปิรุสฉบับหนึ่งเขียนเล่าเรื่องราวของคนงานชาวอียิปต์คนหนึ่งในเมือง Deir el-Medina ใกล้กับหุบเขากษัตริย์ บันทึกเล่าว่าเขาป่วยแต่ปฏิเสธที่จะหยุดงานแม้ว่าจะมีสวัสดิการค่ารักษาและสามารถลาพักได้ คนงานคนนี้ตั้งอกตั้งใจทำงานเพื่อสร้างถนนในสุสานฟาโรห์ จนกระทั่งไม่สามารถทำต่อไปได้จึงยอมรับการรักษาแต่ไม่นานก็รีบกลับมาทำงานต่ออีกครั้ง
จิตรกรรมฝาผนังของชาวปอมเปอี
ก่อนที่มหานครปอมเปอีจะถูกลาวาภูเขาไฟเผาไหม้และจมอยู่ใต้เถ้าถ่าน ผู้คนในเมืองนี้นั้นรักสนุกและชื่นชอบการปาร์ตี้ อาคารบ้านเรือนต่างๆ ของพวกเขาเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังและคำขวัญแสบๆ คันๆ มากมาย เช่น “ฉันเจาะไข่แดงสาวบาร์” หรือ “Celadus the Thracian ทำให้ผู้หญิงครวญคราง” หรือ “ร้องไห้ไปเถอะ ผู้หญิง!” นอกจากนี้ยังมีคำพูดหวานซึ้งเช่น “ถ้าใครไม่เชื่อว่าเทพีวีนัสมีจริงก็ลองมองหน้าแฟนผมดูสิ” และผู้หญิงคนหนึ่งเขียนว่าเธอจะไม่ยอมขายสามีของตัวเองแม้จะ “เอาทองทั้งโลกมาแลก” ก็ตาม
นักท่องเที่ยวชาวกรีกคิดถึงแม่
ในช่วง 278 ปีก่อนคริสต์ศักราช นักท่องเที่ยวชาวกรีกและอิตาลีจำนวนมากนิยมเดินทางมาเยือนหุบเขากษัตริย์ในประเทศอียิปต์ และนักท่องเที่ยวบางคนก็ได้ทิ้งร่องรอยแห่งความทรงจำไว้บนประติมากรรมหรือรูปปั้นหลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่นที่ Colossi of Memnon นักท่องเที่ยวคนหนึ่งได้เขียนข้อความรำพึงถึงแม่บังเกิดเกล้าว่า “ผมคิดถึงแม่ โอ้ แม่ของผม และผมหวังว่าแม่ก็จะได้ยินเขาเหมือนกัน” ซึ่งเขาหมายถึงเสียงหวีดหวิวของลมที่พัดผ่านรอยแตกของรูปปั้น Colossi
จารึกของผู้สร้างพีระมิด
ในอดีตประชาชนชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในบ้านเกิดของตนและไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกมาเผชิญโลกกว้าง จนกระทั่งมีการก่อสร้างพีระมิดขนาดใหญ่และมีการเกณฑ์แรงงานหลายคนเข้ามาทำงาน ทำให้แรงงานเหล่านั้นได้ออกมาเปิดหูเปิดตา ใช้ชีวิตกับคนจำนวนมาก พบเห็นอะไรใหม่ๆ บางคนก็บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะทำงาน คนงานหลายคนจึงตัดสินใจวาดภาพเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยสร้างพีระมิดที่ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วยสองมือของตัวเอง
ลายเซ็นของคนนับข้าวบาร์เลย์
“ชื่อ” ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยถูกจารึกไว้ไม่ใช่ชื่อของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ หรือมั่งคั่ง แต่เป็นชื่อของคนธรรมดาที่แค่อยากทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง ลายเซ็นที่เก่าแก่ที่สุดถูกจารึกไว้เป็นรายลักษณ์อักษรนั้นถูกจารึกไว้ตั้งแต่ 3100 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งก็คือลายเซ็นของ “Kushim”พร้อมข้อความว่า “ข้าวบาร์เลย์ 29,086 เกวียน ภายในเวลา 37 เดือน ทาสสองคนถูกนำตัวมาโดย Gal-Sal: En-pap X และ Sukkalgir”
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นการจดบันทึกการทำงานทั่วๆ ไปของ Kushim ที่มีหน้าที่นับข้าวบาร์เลย์ กับ Gal-Sal คนค้าทาสที่นำตัวทาส 2 คนชื่อ En-pap X และ Sukkalgir มาส่ง
ที่มา: ListVerse