10 สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับถูกพบเห็นอีกครั้ง

read:http://petmaya.com/10-extinct-animal-sightings

ในแต่ละวัน มีสัตว์จำนวนมากมายที่ต้องสูญพันธุ์ลงไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ในอีก 40 ปีต่อจากนี้ จะมีสัตว์ป่าสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นมากถึง 50% เลยทีเดียว แต่ในบางครั้ง เรากลับได้พบสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งวันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านไปชมสัตว์เหล่านี้กัน

1. สุนัขป่า นิวกินี ไฮแลนด์ – เกาะนิวกินี

เป็นเวลากว่า 50 ปี ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถยืนยันการดำรงอยู่ของสุนัขป่าสายพันธุ์นี้ได้ จนกระทั่งในปี 2016 พวกเขาได้พบรอยเท้าของพวกมันบริเวณที่ราบสูงบนเกาะนิวกินี และตั้งกล้องจับภาพพวกมันได้อย่างน้อย 15 ตัว รวมถึงตัวเมียที่กำลังตั้งท้องและลูกน้อยอีกด้วย นี่ถือเป็นสัตว์สายพันธุ์สุนัขโบราณที่หายากที่สุดในปัจจุบันนี้

2. เสือทัสมาเนีย – ออสเตรเลีย

ยังไม่มีใครสามารถถ่ายภาพพวกมันได้ แต่มีชาวออสเตรเลียหลายคนที่ยืนยันการพบเห็นเสือทัสมาเนีย ที่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 ถึงแม้มันจะได้ชื่อว่าเป็นเสือ แต่มันกลับดูเหมือนสัตว์ตระกูลสุนัข แต่มันก็ไม่ใช่สัตว์ตระกูลสุนัขอยู่ดี เพราะมันถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์กินเนื้อที่มีกระเป๋าหน้าท้อง เหมือนกับจิงโจ้และโคอาล่านั่นเอง

3. นกกะรางแก้มแดง – เนปาล

นกกะรางแก้มแดง ไม่เคยถูกพบในภาคตะวันออกของเนปาลมานานกว่า 178 ปี จนกระทั่งหลายๆ คนคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ มันกลับถูกพบโดยกลุ่มผู้ศึกษานกวิทยา ในระหว่างการทัวร์ชมนก 10 วันในเนปาล ซึ่งตอนแรกพวกเขาพบนกกะรางแก้มแดงเพียงแค่ 2 ตัว และในวันถัดมาก็เจอเพิ่มเป็น 8 ตัว

4. กบต้นไม้ลายด่าง – ออสเตรเลีย

หลังจากนักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันสูญพันธุ์ไปนานกว่า 15 ปี กบต้นไม้ลายด่าง ก็ถูกพบอีกครั้งในอุทยานแห่งชาติ Kosciuszko ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ถูกพบคือในปี 2001 เนื่องจากพวกมันต้องล้มตายไปเพราะเชื้อรา Chytrid ที่มีฉายาว่า คริปโตไนท์ของกบ (เหมือนกับซุปเปอร์แมนที่อ่อนแอลงเพราะคริปโตไนท์)

5. ปลาแซลมอนซ็อกอาย – นิวซีแลนด์

ถ้าคุณมีโอกาสเดินทางไปยัง Mackenzie Basin เกาะทางตอนใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ คุณอาจได้เห็นแซลมอนซ็อกอายหลายร้อยตัวได้ไม่ยาก ในขณะที่ก่อนหน้านี้ มันถูกเชื่อว่าสูญพันธ์ไปแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกมันกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1,000 ตัว บริเวณทะเลสาบ Pukaki และตอนนี้มันถูกจัดให้เป็นสัตว์คุ้มครองของนิวซีแลนด์

6. ค้างคาวลิตเติลบราวน์ – สหรัฐอเมริกา

หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกมันสูญพันธุ์ไปแล้วจากโรคจมูกขาว ซึ่งเป็นเชื้อราที่เติบโตบริเวณรอบๆ จมูก ปาก และปีก ในขณะที่พวกมันกำลังจำศีล แต่ปัจจุบันมีการพบเห็นเจ้าค้างคาวชนิดนี้มากขึ้น และคาดว่าอาจใช้เวลานานถึง 30-40 ปี ที่พวกมันจะกลับมามีจำนวนเท่าเดิมอีกครั้ง ก่อนที่จะเจอภาวะโรคจมูกขาว

7. โลมาแม่น้ำจีน – จีน

โลมาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงตอนกลางและตอนล่างของประเทศจีน จนได้ฉายาว่า “เทพธิดาแห่งแม่น้ำแยงซีเกียง” ซึ่งโลมาชนิดนี้เคยอาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงมากกว่า 1,000 ตัวในช่วงทศวรรษที่ 1950 ก่อนที่จะถึงช่วงภาวะอดอยาก และก็ไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลยตั้งแต่ปี 2007 จนกระทั่งกลุ่มนักอนุรักษ์สมัครเล่นได้บังเอิญพบพวกมันเข้า และเชื่อว่าพวกมันยังคงมีอยู่น้อยนิดในแม่น้ำแยงซีเกียงแห่งนี้

8. ฟิชเชอร์ – สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้มันจะเป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกับพังพอนและนาก แต่กลับไม่มีใครพบเจ้าฟิชเชอร์อีกเลยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1800 เป็นต้นมา จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 พวกมันถูกพบอีกครั้งผ่านกล้องวีดีโอที่ถ่ายเอาไว้ในป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของมินนิโซตา และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีจากรัฐไอโอวา ว่ามันคือเจ้าฟิชเชอร์ตัวจริงเสียงจริง

9. ทากเบียร์ – เยอรมนี

เจ้าทากเบียร์ชนิดนี้ ไม่เคยถูกพบในเยอรมนีมานานตั้งแต่ปี 1935 จนผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว แต่เมื่อเดือนเมษายน 2017 นี้ได้มีการพบเจ้าทากเบียร์เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปี นี่ถือเป็นการค้นพบสัตว์ที่เชื่อว่าสูญพันธ์ไปแล้วล่าสุดในขณะนี้

10. เสือโคร่งอินโดจีน – ไทย

เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า มีเสือโคร่งอินโดจีนกว่า 1 แสนตัว แต่หลังจากการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งอินโดจีน ทำให้พวกมันมีจำนวนลดลงจนใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ล่าสุดได้มีการพบเสือโคร่งอินโดจีนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้นักอนุรักษ์เริ่มมีความหวังที่จะเพิ่มจำนวนของเสือโคร่งอินโดจีนในไทยให้มากขึ้น

ที่มา http://www.oddee.com/item_100024.aspx

Credit: http://www.oddee.com/item_100024.aspx
11 เม.ย. 60 เวลา 03:52 12,758
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...