หลู่ซวิ่น : ความรักของนักเขียน บทเรียนของนักคิด

       

ความรักของนักเขียน บทเรียนของนักคิด 
โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา 


 
Lu Xun (Lu Hsun) (1881-1936) 

25 กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันเกิดของ หลู่ ซวิ่น นักคิดนักเขียนคนสำคัญของจีน ผู้ซึ่งถ้ามีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบันก็จะมีอายุครบ 126 ปี เป็น 126 ปีที่แผ่นดินจีนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทั้งการล่มสลายของราชวงศ์ชิง การเกิดสงครามกลางเมืองชิงความเป็นใหญ่ระหว่างกลุ่มขุนศึก การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยในปี 1949 การปฏิวัติวัฒนธรรมโดยแก๊งสี่คนอันนำไปสู่ความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมเพิ่งสร้างอย่างจีนคอมมิวนิสต์ การปรับเปลี่ยนประเทศให้ทันสมัยภายหลังการสรุปบทเรียนในยุคคืนสู่อำนาจของเติ้ง เสี่ยว ผิง การปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียน อัน เหมิน ในปี 1989 การได้เกาะฮ่องกงคืนสู่มาตุภูมิในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 ไม่กี่เดือนหลังจากเติ้ง เสี่ยว ผิง ปิดเปลือกตาอำลาโลก และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับเกือบร้อยละสิบต่อปีมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ จนจีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก ผู้ผลิตสินค้าและบริการราคาถูกให้กับประเทศตะวันตกที่ใช้ชีวิตสุขสบายราคาแพงจนชักจะแข่งขันไม่ได้ 

ทั้งหมดนี้ทำให้จีนเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ทั้งที่อยากจดจำบันทึกและที่อยากลืมเลือนละเลย 

 
Lu Xun



ทั้งประวัติศาสตร์ของประเทศและประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็มักถูกหยิบยกขึ้นมาชำระสะสาง ดังกรณีของท่านประธานเหมา เจ๋อ ตง ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการวางตำแหน่งไว้ในใจปวงชนชาวจีนดั่งเทพเจ้า แต่เมื่อความจริงแห่งชีวิตส่วนตัวเริ่มเป็นข่าวรั่วสู่สาธารณะ รวมถึงความมั่วในการดำเนินนโยบายในช่วงบั้นปลายของชีวิต เทพเจ้าอย่างท่านประธานเหมาก็ถึงคราวต้องกลับมาเป็นประชาชนธรรมดาที่มีความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความกลัวดังคนปกติ อันนำไปสู่ความผิดพลาดมากบ้างน้อยบ้างไปตามเหตุปัจจัยในชีวิต 

เผอิญท่านประธานเหมามีฤทธิ์และอำนาจมาก เมื่อก่อความผิดพลาดผลเสียหายจึงร้ายแรงกว่าความพลาดผิดของสามัญชน เสียงก่นด่าวิจารณ์จึงต้องรุนแรงกว่าเป็นธรรมดาโลก 

เฉิน หยุน นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ให้ข้อสังเกตว่า "ถ้าประธานเหมาตายลงเสียตั้งแต่ปี 1956 เหมาจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของจีน ถ้าเหมาตายลงสิบปีหลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ก็ยังคงยกย่องอย่างสูง" น่าเสียดายที่เหมาอายุยืนยาวอยู่มาได้จนถึงปี 1976 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงจำเป็นต้องเงียบเฉยและละเลยความผิดพลาดมากมายของเหมา เพื่อเห็นแก่ความดีที่เหมาเคยได้สร้างไว้อย่างใหญ่หลวง 

เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคนหนึ่งในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมและน่าจะเป็นคนที่ตามล้างตามเช็ดประธานเหมาในทางประวัติศาสตร์หลังสามารถกลับมากุมอำนาจได้อีกครั้ง กลับเป็นผู้เข้าใจเหมาและเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งจนถึงกับกล่าวสรุปไว้ว่า "ถ้าไม่มีประธานเหมา ก็ไม่มีประเทศจีนใหม่" เหมาจึงกลายเป็นชายชราผู้จากไปโดยยังคงเหลือที่ยืนในประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่แต่ก็ไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเหมือนอย่างผู้นำคอมมิวนิสต์อื่นๆ ที่มักจะถูกผู้นำรุ่นหลังทำลายความชอบธรรมจนแทบจะกลายเป็นตัวตลก ดังกรณีผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหลาย ที่ถูกเหล่าสหายร่วมกันถอนหงอกจนผมบาง 

เมื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกาศรีบูรพา นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของไทย เดินทางไปเยือนแผ่นดินจีนเพื่อสานสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรมและมีโอกาสพบปะกับท่านประธานเหมาในวัยชรา ประธานเหมาได้กล่าวทักว่า ท่านนี้หรือที่เขาว่าคือ หลู่ ซวิ่น ของเมืองไทย คำกล่าวสั้นๆ เช่นนี้เล่นเอาคณะล่ามชาวจีนดีใจกันยกใหญ่ เพราะในเวลานั้น หลู่ ซวิ่น ถือเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคจีนใหม่ก็ว่าได้ ดังประธานเหมาเองได้เคยกล่าวถึงเขาไว้ว่า "หลู่ ซวิ่นคือขุนพลแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน เขาไม่เพียงแต่เป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นนักคิดและนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่อีกด้วย" ผลงานเรื่องเด่นของหลู่ ซวิ่น คือ เรื่องของอาคิว ได้รับการยกย่องอย่างสูงในจีนและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างกว้างขวางรวมทั้งในภาษาไทยหลายสำนวน 

หลู่ ซวิ่น เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1881 ในครอบครัวปัญญาชนผู้มีฐานะ แซ่หลู่ ในนามปากกาน่าจะมีที่มาจากแซ่ของมารดา คือ หลู่ รุ่ย ส่วนบิดาของเขานั้นแซ่โจว ชื่อ โจว ปั๋วอี้ ชื่อเดิมของหลู่ ซวิ่น คือ โจว ซู่เหริน ซึ่งคนทั่วไปแทบจะไม่รู้จักแล้วหลังนามปากกาสร้างความยอมรับอย่างแพร่หลาย หลู่ ซวิ่น มีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก มีโอกาสได้เรียนวรรณกรรมคลาสสิคของจีนตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ชีวิตต้องมาพลิกผันเมื่อปู่ของเขาซึ่งเป็นขุนนางถูกกล่าวหาว่าทุจริต ทำให้ทั้งครอบครัวต้องอพยพหลบหนีเพราะเกรงอาญา จนบ้านแตกสาแหรกขาดและพ่อผู้ช้ำใจของเขาต้องจากไปก่อนวัยอันควร 

ด้วยเหตุปัจจัยในครอบครัว หลู่ ซวิ่น ในวัย 18 จึงตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านไปยังเมืองนานจิงเพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนทหารเรือที่มีค่าเทอมถูก เมื่อไม่รู้สึกประทับใจจึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนการรถไฟและเหมืองแร่ แม้จะยังไม่ตรงใจนัก แต่หลู่ ซวิ่น ก็มุ่งมั่นตั้งใจเรียน 

ช่วงเวลานั้นจีนกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากมหาอำนาจทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย ออสโตร-ฮังกาเรียน รวมทั้งญี่ปุ่น แต่แทนที่จะลุกขึ้นสู้ ราชวงศ์ชิงกลับกดขี่ซ้ำประชาชนด้วยการสมยอมกับตะวันตก หลู่ ซวิ่น ได้รับความกระทบกระเทือนใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องร่วมชาติมาก หลังเรียนจบและได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเริ่มเขียนหนังสือโดยแปลงานเป็นตอนๆ ลงตีพิมพ์ในนิตยสารและได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนด้านการแพทย์แทนด้วยเชื่อว่าวิทยาศาสตร์น่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในสังคมจีนได้ หลังจากเขาอ่านงานเขียนด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งสร้างผลสะเทือนต่อสังคมตะวันตกมากมาย 

หลู่ ซวิ่น น่าจะได้เป็นแพทย์มากกว่าเป็นนักเขียน จนเมื่อเขาได้เห็นการฆ่าเสียบหัวประจานคนจีนโดยทหารญี่ปุ่นในภาพยนตร์สารคดีที่ถูกฉายขั้นเวลาในระหว่างเรียน หลู่ ซวิ่น จึงฉุกคิดว่าลำพังการแพทย์คงรักษาได้แต่ร่างกายที่ป่วยไข้ หากแต่ไม่สามารถรักษาจิตใจที่อ่อนแอของคนจีนได้ เพราะในภาพยนตร์นั้นชาวจีนผู้แข็งแรงที่เรียงรายอยู่โดยรอบกลับวางเฉยเย็นชาต่อการทารุณกรรมเพื่อนร่วมชาติโดยไม่คิดจะต่อสู้ช่วยเหลือ

จึงหาใช่ร่างกายหากแต่เป็นจิตใจของชาวจีนที่อ่อนแอป่วยไข้จนถึงขีดสุด ถ้าไม่ปลุกจิตสำนึกคนในชาติให้ลุกขึ้นสู้ พลเมืองจีนมากมายก็ไม่อาจรับมือกับการรุกรานของต่างชาติได้ มิพักต้องเอ่ยถึงการหลอมรวมใจเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่หลังความล่มสลาย 

ในภาวการณ์เช่นนี้ หลู่ ซวิ่น คิดว่าวรรณคดีน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการปลุกจิตสำนึกของพี่น้องร่วมชาติ เขาจึงเริ่มใช้ปากกาถ่ายทอดความคิดอันแหลมคมวิพากษ์วิจารณ์ระบบศักดินา รวมทั้งความอยุติธรรมในสังคมอย่างไม่ทดท้อ จนกลายเป็นนักปฏิวัติคนสำคัญของจีนผู้มีปัญญาและปากกาเป็นอาวุธ 

หลู่ ซวิ่น ใช้ทั้งการเขียนเรื่องสั้น การผลิตนิตยสาร ตลอดจนถึงการเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความคิดของเขา ความแหลมคมทางความคิดทำให้เขาถูกรัฐบาลขณะนั้นเล่นงานจนต้องลี้ภัยการเมืองลงสู่ภาคใต้และได้งานสอนที่มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน ก่อนจะทนการคอร์รัปชั่นในมหาวิทยาลัยไม่ได้ และต้องย้ายไปเป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจงซาน 

ระหว่างนั้นเอง สวี่ กวาง ผิง อดีตนักศึกษาวิทยาลัยครูสตรีปักกิ่ง ซึ่งเป็นคนรักของหลู่ ซวิ่น ได้เดินทางมาอยู่ร่วมกับเขา โดยเป็นผู้ช่วยคนสำคัญทั้งด้านการงานและชีวิต แม้ว่าขณะนั้นหลู่ ซวิ่น จะมีภรรยาที่แต่งงานถูกต้องตามประเพณีจีนโบราณอยู่แล้ว แต่สวี่ กวาง ผิง ก็ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมต่อสู้ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองของจีนกับหลู่ ซวิ่น เป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และน่าจะจัดได้ว่าเป็นภรรยาที่แท้จริงของเขา ส่วนภรรยาที่แต่งงานกันทางประเพณีนั้น หลู่ ซวิ่น เรียกว่าเป็นภรรยาของแม่ ที่เขาต้องให้ความรักและเอาใจใส่เป็นพิเศษ 

ความเสียสละและความยิ่งใหญ่ของหลู่ ซวิ่น ทำให้คนรุ่นหลังเว้นพื้นที่ส่วนตัวอันเป็นเหมือนสวนหลังบ้านของเขาไว้ให้ค่อนข้างกว้าง เช่นเดียวกับผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่มักจะมีข้อผิดพลาดในรายละเอียดของชีวิตเสมอ แต่ก็ใช่ว่าสังคมจะต้องทำหน้าที่พิพากษาความผิดพลาดเหล่านั้นด้วยมาตรฐานของตน โดยปราศจากความเข้าใจในความหลากหลายแห่งรายละเอียดของชีวิต 

ถ้าสังคมจีนเรียนรู้ที่จะอยู่กับหลู่ ซวิ่น และอดีตของเขาได้อย่างนุ่มนวล เติ้ง เสี่ยว ผิง เรียนรู้ที่จะอยู่กับความทรงจำทั้งหวานและขมที่มีต่อประธานเหมาได้อย่างสุขุม สังคมไทยก็ควรเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เราไม่ชอบนัก ทั้งประวัติศาสตร์ของประเทศและประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล รวมทั้งประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์เองอย่างมีเมตตา ด้วยเราทุกคนล้วนยังเป็นมนุษย์ธรรมดาผู้ชอบมองหาความผิดของผู้อื่นและปกปิดความผิดของตนเองอย่างยิ่งยวด 

ท่ามกลางความวุ่นวายและเปลี่ยนแปลงอย่างสูงของสังคมไทยในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยหมกหมุ่นครุ่นคิดและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถกเถียงเทียบเคียงความจริงกับตำราที่ต่างคนต่างเล่าเรียนมาจากหลากหลายสำนัก จนแทบจะลงมือเข่นฆ่ากันให้ตายตกเพียงเพราะผู้อื่นคิดต่าง เมื่อฝ่ายตรงข้ามพลาดพลั้งพลพรรคพลอยพยักต่างซัดอาวุธเข้าใส่อย่างไม่รั้งรอ จนแทบจะลืมประวัติศาสตร์ที่แต่ละฝ่ายเคยมีร่วมกันมา รวมทั้งลืมสิ่งล้ำค่าที่มนุษย์พึงมอบต่อกันเพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ของเราไว้ 

นั่นคือความรักความเมตตาอย่างธรรมดาสามัญ ทั้งความเมตตาต่อตนเองและความเมตตาต่อผู้อื่น ผู้หยิบยื่นทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบให้แก่เรา เพราะหากไร้ซึ่งความรักและความเมตตาต่อกัน ไม่เพียงแต่สวนหลังบ้านเขาที่เราอยากรุกราน แม้แต่ห้องนอน ห้องน้ำ ตู้เสื้อผ้าของเขาเราก็ไม่อาจละเว้น 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพียงแค่ใส่เสื้อสีผิดหรืออยากใช้ชีวิตในสวนหลังบ้านก็อาจถูกทารุณกรรมจนมิอาจมีที่อยู่ที่ไปในสังคมไทยได้ 

ทั้งนี้ โดยที่สังคมส่วนใหญ่มองการทารุณกรรมเพื่อนร่วมชาติอย่างน่าตาเฉย อีกทั้งจำนวนไม่น้อยร่วมผสมโรงด้วยอย่างรื่นรมย์ จนเชื่อว่าเราน่าจะสร้างนักเขียนใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยได้ในเร็วๆ นี้ แม้จะต้องสูญเสียแพทย์ดีๆ ไปจำนวนหนึ่ง 

 
Lu Xun

หลู่ซวิ่นยังไม่ตาย 
โดย...กรกิจ ดิษฐาน 

 

"จีนในยุคของหลู่ซวิ่นถูกเรียกขานอย่างเย้ยหยันว่า คนป่วยแห่งเอเชีย แต่รุ่นต่อมาของคนป่วยได้สร้างจีนขึ้นมาใหม่จากเถ้าถ่านของสงครามกลางเมือง ไทย ในยุคของเราอาจกำลังอ้าแขนรับฉายานามนั้นอย่างไม่รู้ตัว" 


ชาวโลกรู้จักตัวตนของอดีตนักเรียนแพทย์ โจวซู่เหริน ในนามปากกาของนักเขียนผู้ยิ่งยง หลู่ซวิ่น 

และชาวโลกรู้จักชื่อของหลู่ซวิ่นจากตัวละครที่โด่งดังที่สุดจากปลายปากกาของเขา นั่นคือ อาคิว ตัวเอกของเรื่องราวแห่งความอยุติธรรมขมขื่นทุกรูปแบบ 

ด้วยชีวิตของ อาคิว และตัวละครอีกหลายสิบตัวบนหน้ากระดาษ หลู่ซวิ่นได้เปิดเผยเนื้อแท้อันเหลวแหลกของประเทศจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ประเทศจีนที่เคยยิ่งใหญ่ได้ล้มพังพาบลงอย่างสิ้นเชิง แผ่นดินถูกแบ่งออกเป็นฝั่งฝ่ายด้วยความกระหายอำนาจของคนจีนด้วยกัน และความกระหายในอิทธิพลของผู้รุกรานจากต่างแดน 
แต่ไม่มีอะไรที่จะกัดกร่อนประเทศหนึ่งๆ ใด นอกเสียจากความเหลวแหลกในจิตวิญญาณของมนุษย์ 

“บันทึกของคนวิกลจริต” (ควงเหริน ยึจี) เรื่องสั้นเรื่องแรกของหลู่ซวิ่น สะท้อนให้เห็นถึงแผ่นดินที่สิ้นหวัง ผ่านเรื่องราวของชายหนุ่มที่เพ้อคลั่ง มองเห็นโลกที่คุ้นเคย เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นโลกที่มนุษย์หันมาเสพเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง 


เรื่องราวนี้ไม่เพียงสะท้อนยุคสมัยหนึ่งที่จีนต้องเผชิญกับความแร้นแค้นจนถึงขั้นต้องประทังชีวิตด้วยเนื้อหนังของเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ยังสะท้อนถึงการพยายามเอาชีวิตรอดอย่างสิ้นหวัง ในยุคสมัยที่ผู้คนแทบไม่เหลือความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน 

แต่หลู่ซวิ่นไม่ได้มอบความสิ้นหวังในสารที่เขาส่งผ่านมาทางเรื่องราวเหล่านี้ 

ตรงกันข้าม การเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของสังคมที่โทรมทรุด กลับไม่ต่างกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุด หลู่ซวิ่น นักเขียน กวี และผู้สื่อข่าว คือแพทย์ที่ปราศจากหูฟังสเตโทสโคป แต่เป็นผู้เยียวยาจิตวิญญาณผ่านความจริงและความคิดอ่านของมวลชน 

จิตวิญญาณของหลู่ซวิ่นไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับตัวเขา แต่เป็นสิ่งที่ตกผลึกจากประสบการณ์อันปวดร้าว ที่เห็นคนในชาติกำลังกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา 

โจวซู่เหริน ในช่วงวัยก่อนการน้อมรับนามปากกา หลู่ซวิ่น ถือกำเนิดในครอบครัวที่ร่ำรวยด้วยโอกาสทางการศึกษา แต่ด้อยโอกาสด้วยความมั่งคั่ง ในอารัมภบทของหนังสือรวมเรื่องสั้น Call to Arms หลู่ซวิ่นเปิดเผยถึงมูลเหตุที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งเริ่มสั่งสมปณิธานอันแรงกล้า สิ่งนั้นคือการเทียวไปเทียวมาระหว่างสถานที่ 2 แห่ง นั่นคือ โรงรับจำนำและร้านขายยา โรงรับจำนำคือความจำเป็นของชีวิตที่ยากไร้ ขณะที่ร้านขายยาแผนโบราณคือสถานที่ต่ออายุบิดาที่ป่วยกระเสาะกระแสะ 

แต่ร้านขายยาแผนโบราณไม่อาจยื้อชีวิตบิดาได้นานนัก แม้เจ้าของร้านจะพยายามเจียดตัวยาที่ดีที่สุดอย่าง “รากว่านหางจระเข้ที่ขุดในฤดูหนาว ลำอ้อยที่ยืนต้นแช่ในความหนาวเหน็บยาวนาน 3 ปี จิ้งหรีดคู่ ฯลฯ” 

ความล้าหลังของระบบการรักษานี่เองที่โจวซู่เหรินพยายามเข้าใจกับตัวเองว่า การจะเปลี่ยนแปลงประเทศต้องเริ่มจากการรักษาเยียวยาสุขภาพที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นสามารถพลิกโฉมในเวลาชั่วพริบตา ด้วยการรับแนวการรักษาแบบตะวันตกพร้อมๆ กับการปฏิรูป ระบอบการเมืองครั้งใหญ่ 

หน้าที่อย่างหนึ่งของการเป็นแพทย์คือการเป็นกระบอกเสียงของวิทยา ศาสตร์และชำระล้างความงมงาย 

โจวซู่เหรินมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยแพทย์แห่งเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนี้ไม่เพียงอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าจีนในทุกด้าน แต่ยังถือเป็น “ชาติตะวันตก” ในดินแดนด้อยพัฒนาของแดนตะวันออก 

แต่แล้วที่เซนไดนี่เองที่โจวซู่เหรินตระหนักได้ว่า การักษาสุขภาพประชาชนเพื่อเป็นรากฐานของประเทศที่แข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอเสียแล้ว ในอารัมภบทของ Call to Arms อันโด่งดัง เจ้าของนามปากกาหลู่ซวิ่นบันทึกไว้ว่า 

“เรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เราจึงมีภาพถ่ายเกี่ยวกับสงครามเป็นจำนวนมากมานำแสดง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่คอยตบมือและส่งเสียงร้องชื่นชมร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ในห้องบรรยายเวลามีการแสดงภาพเหล่านั้น เวลานั้นนานมากแล้วที่ผมไม่ได้พบหน้าเพื่อนร่วมชาติ แต่วันหนึ่งสิ่งที่ผมเห็นคือชาวจีนในภาพถ่าย มีคนหนึ่งถูก|พันธนาการ ขณะที่คนจีนที่เหลือยืนมองด้วยสีหน้าเฉยเมย พวกเขาคือชาวจีนที่ดูแข็งแรงกำยำ แต่กลับแลดูไร้จิตวิญญาณอย่างสิ้นเชิง จากคำบรรยายภาพทำให้ทราบว่า ชายที่ถูกมัดเป็นสายลับให้กับฝ่ายรัสเซีย และกำลังจะถูกทหารญี่ปุ่นตัดศีรษะเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู ขณะที่ชาวจีนโดยรอบกำลังเฝ้าชมด้วยอารมณ์แช่มชื่น” 

สำหรับหลู่ซวิ่นและมนุษย์ที่มีสติปัญญาครบถ้วน ไม่มีอะไรเจ็บปวดใจเท่ากับการเห็นคนชาติเดียวกันเอง ชื่นชมการฆ่าฟันคนเชื้อชาติเดียวกันเอง 

สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการรักษาความไม่รู้ของประชาชน และการรักษานี้ใช้ตัวยาที่ชื่อว่าความรู้ และความรู้ที่จะเผยแพร่ได้เร็วที่สุดต้องผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวผ่านตัวอักษร-วรรณกรรม 

หลู่ซวิ่น ประสบความสำเร็จกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่นั้น ความยิ่งใหญ่และเป็นเอกภาพของจีนย่อมเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด 

ในความคิดของหลายคน แม้ เหมาเจ๋อตง จะเป็นผู้สถาปนาเสาหลักแห่งประเทศจีนยุคใหม่ แต่คือ หลู่ซวิ่น ที่สถาปนาจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อสลัดตัวเองจากความกักขฬะแห่งยุคสมัย 

วันนี้ ตัวตนของหลู่ซวิ่นย่อมสูญสิ้นไปแล้วนับทศวรรษ แต่สิ่งที่ยังไม่เสื่อมสลายไปจากโลกใบนี้คือจิตวิญญาณอันแกร่งกล้าของนักเขียนผู้ธำรงความยุติธรรม มนุษยธรรม และเยียวยาประเทศที่แตกสลายด้วยตัวอักษรจากปลายปากกา ในห้วงเวลาที่แผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ และประชาชนอ่อนล้าลำเค็ญจากการกดขี่รอบด้าน 

จีนในยุคของหลู่ซวิ่นถูกเรียกขานอย่างเย้ยหยันว่า คนป่วยแห่งเอเชีย 

แต่หลู่ซวิ่นกลับไม่ท้อแท้แต่กลับแสวงหาความหวังอย่างไม่ระย่นระย่อ เหมือนกับบางบรรทัดสุดท้ายของ “บันทึกของคนวิกลจริต” ที่คล้ายจะบอกถึงแสงสว่างในตอนท้ายของเรื่องราวอันมืดมิดของมนุษยชาติ 

“บางทีอาจยังมีเด็กๆ ที่ยังไม่เคยกินเนื้อมนุษย์ เราต้องช่วยกันปกป้องเด็กๆ” 

จีนในยุคของหลู่ซวิ่นถูกเรียกขานอย่างเย้ยหยันว่า คนป่วยแห่งเอเชีย แต่รุ่นต่อมาของคนป่วยได้สร้างจีนขึ้นมาใหม่จากเถ้าถ่านของสงครามกลางเมือง 

ไทย ในยุคของเราอาจกำลังอ้าแขนรับฉายานามนั้นอย่างไม่รู้ตัว 

แต่เราจะไม่มีวันสูญสิ้นจิตวิญญาณของหลู่ซวิ่น 

ใช่หรือไม่? 



โดย...กรกิจ ดิษฐาน

 

 

 









 

Credit: http://www.artgazine.com
6 ก.ค. 53 เวลา 22:24 3,884 1 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...