ท่อง 3 ตลาดเก่ากลางกรุง อดีตที่ยังมีลมหายใจ
หนึ่งในปัจจัยสี่ที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดฉันว่าก็คือเรื่อง"อาหาร" คนเราหากเกิดอาการหิวขึ้นมาเมื่อไร เรื่องอื่นก็ต้องพักไว้ ต้องหาอะไรใส่ปากใส่ท้องให้อิ่มเสียก่อนถึงจะทำการงานอย่างอื่นต่อไปได้ และหากไม่มีอาหารตกถึงท้องเกิน 7 วันก็เตรียมม่องเท่งได้เลย เรื่องอาหารการกินจึงเป็นเรื่องแรกๆที่คนให้ความสำคัญ
ท้องหิวขึ้นมาเมื่อไรสถานที่แรกๆที่ฉันคิดถึงเป็นที่แรกก็ต้องเป็น "ตลาด" ซึ่งเป็นแหล่งรวมของอาหารสดแห้งและขนมของกินอร่อยๆหลายชนิด แหม...พูดขึ้นมาแล้วก็ท้องก็ร้องจ๊อกๆ ทันทีเลยเชียว เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า ไปเป็นพระยาน้อยชมตลาดด้วยกันดีกว่า เดี๋ยวฉันจะพาไปชมตลาดที่น่าสนใจ 3 แห่งด้วยกัน ซึ่งถือเป็นตลาดเก่าในกรุงเทพฯ แต่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป ที่แน่ๆ ของกินเพียบเหมือนกัน
เริ่มชมตลาดกันที่ "ตลาดวัดทอง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ตลาดสุวรรณาราม" อยู่หลังสำนักงานเขตบางกอกน้อยใกล้กับวัดสุวรรณาราม ตลาดแห่งนี้มีอายุกว่าร้อยปีเลยทีเดียว และยังเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชุมชนบ้านบุ ชุมชนใกล้กับวัดสุวรรณารามมาเป็นเวลานานแล้วด้วย แต่เดิมตัวตลาดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย แต่ต่อมาในปีพ.ศ.2467 ก็มีการย้ายพื้นที่มาตั้งอยู่ในบริเวณที่เห็นอย่างในปัจจุบัน
ภายในตลาดวัดทองก็มีพ่อค้าแม่ขายขายของทั่วๆไปอย่างผักสดผลไม้สด เนื้อสัตว์ต่างๆ แถมยังมีขนมและอาหารสำเร็จรูปให้เลือกซื้อกัน แม้อาหารอาจจะดูธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาต้องดูที่รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวตลาดที่สร้างด้วยไม้ เป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ มีเพียงเสารอบและโครงหลังคาไม้รองรับน้ำหนัก โดยที่ไม่ต้องอาศัยคานและเสากลาง บางคนจึงเรียกตลาดแห่งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ตลาดไร้คาน"
ฉันลองเงยหน้าแหงนมองโครงหลังคาของตลาดก็พบว่าไร้คานจริงๆด้วย มีเพียงขื่อทรงโค้งวางขวางตัวอาคารจากหัวเสาด้านหนึ่งไปยึดกับหัวเสาอีกด้าน หนึ่ง ซึ่งขื่อที่เห็นนี้เกิดจากการนำไม้ท่อนสั้นๆมาประกอบกันด้วยหมุดเหล็ก มองเห็นเป็นแถวโค้งไปตลอดความยาวของตัวตลาด ซึ่งการที่ไม่มีคานและเสากลางนี้ก็ทำให้ภายในตลาดดูโล่งโปร่งและดูมีพื้นที่ กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม อันนี้ต้องนับถือฝีมือคนสร้างจริงๆ
หากได้ไปชมตลาดแล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะไปเยือนวัดสุวรรณาราม เข้าไปกราบหลวงพ่อศาสดา พระประธานสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย และชมจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดในยุคต้นรัตน โกสินทร์ และต้องไปชมวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านบุ ชุมชนเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสืบทอดอาชีพการทำขันลงหินมาจาก สมัยอยุธยามาจนปัจจุบัน จะขอชมกรรมวิธีการผลิตหรือจะซื้อขันลงหินกลับบ้านไปด้วยก็ได้
ตลาดเก่าแห่งที่สอง ไปดูกันที่ "ตลาดนางเลิ้ง" ตลาดเก่าแก่อายุร้อยกว่าปีอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยเปิดเป็นตลาดให้ชาวบ้านจับจ่ายซื้อของกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2442
ภายในตลาดนางเลิ้งนอกจากจะเป็นตลาดสดขายอาหารสดต่างๆแล้ว ก็ยังมีร้านอาหารและขนมของกินสารพัดเปิดขายในรูปแบบของโรงอาหารอีกด้วย ซึ่งร้านอาหารขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อยและความเก่าแก่ของนางเลิ้งก็มี อยู่หลายร้านด้วยกัน ทั้งบะหมี่เกี๊ยว ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ขนมเบื้องและขนมไทยชนิดต่างๆ เรียกว่าถ้ามาที่ตลาดนางเลิ้งแล้วไม่มีหิวหรือท้องว่างกลับไปเด็ดขาด
นอกจากในเรื่องของกินที่โดดเด่นแล้ว เสน่ห์ของตลาดนางเลิ้งอีกอย่างหนึ่งก็อยู่ที่ตึกแถวเก่าแก่ที่เป็นอาคารของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีการสร้างต่อเติมให้ผิดแผกไป แถมในตอนนี้ตึกแถวเหล่านั้นยังถูกทาด้วยสีโอลด์โรสสดใสเป็นแบบเดียวกันหมด สร้างความสวยงามให้กับย่านนางเลิ้งได้มากเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าสนใจหากได้มาเยือนที่ตลาดนางเลิ้งแล้วไม่ควรพลาดก็คือ "ศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" ที่ตั้งอยู่ใจกลางตลาด เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวตลาดที่นั่น เหตุที่มีศาลของพระองค์อยู่ก็เนื่องจากในที่ดินบริเวณชุนชมริมคลองผดุงกรุง เกษมใกล้กับบริเวณที่เป็นย่านค้าขายตุ่มนางเลิ้ง เป็นที่ตั้งของ "วังนางเลิ้ง"วังของพระองค์ แต่ปัจจุบันพื้นที่ตั้งของวังนี้ได้ใช้เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร
อีกทั้งยังมีโรงหนังเก่าแก่อย่าง "โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "โรงหนังนางเลิ้ง" เป็นอาคารไม้สองชั้นอายุเกือบๆร้อยปีแล้วเช่นกัน แต่ในวันนี้ที่ไม่มีการฉายหนังอีกต่อไป โรงหนังจึงกลายเป็นโกดังเก็บของเท่านั้น
มากันที่ตลาดเก่าแห่งสุดท้าย "ตลาดเก่าเยาวราช" ที่อาตี๋อาหมวยอาม่าอาอึ้มต้องรู้จักกันดี เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่ชาวเยาวราชไปจับจ่ายหาซื้อสินค้ากันมานาน ตลาดเก่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ริมถนนเยาวราชทางฝั่งสำเพ็ง หรือบริเวณซอยมังกรไปจนถึงถนนเยาวพานิช ที่ตลาดนี้จะขายสินค้าประเภทอาหารทะเล อย่างปลาสดๆ ปูเป็นๆ รวมไปถึงของแห้งอย่างปลาเค็ม นอกจากนั้นก็ยังมีพวกอาหารแห้งที่นำเข้าจากประเทศจีน เช่น กระเพาะปลาแห้ง เม็ดบัว เครื่องยาจีนต่างๆ โดยเมื่อก่อนนี้ตลาดเก่าจะเปิดขายเกือบทั้งวัน แต่ในปัจจุบันช่วงเที่ยงๆตลาดก็จะวายแล้ว
ในบริเวณตลาดเก่านี้ยังมีศาลเจ้าแห่งสำคัญคือ "ศาลเจ้าพ่อกวนอู" ศาลเจ้าเก่าแก่เกือบร้อยปี ภายในประดิษฐานองค์เทพเจ้ากวนอูและยังมีเจ้าพ่อแส้ม้าซึ่งเป็นที่เคารพของคน ในย่านนั้นมานาน ส่วนมากคนจะไปขอพรในเรื่องเกี่ยวกับบริวารหรือลูกน้องให้เชื่อฟังอยู่ใน โอวาท
เมื่อมีตลาดเก่าแล้วก็ต้องมี "ตลาดใหม่" ซึ่งก็มีความเก่าไม่แพ้กัน (เอ๊ะ...ยังไง) ตลาดใหม่ที่ว่านี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนเยาวราช หรือในตรอกอิสรานุภาพ ตลาดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน แต่สร้างทีหลังตลาดเก่า คนส่วนใหญ่จะเรียกตลาดใหม่นี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ตลาดเล่งบ๊วยเอี้ย" เพราะมีศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี้ยะ ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในเยาวราชอยู่ในบริเวณตลาดด้วย
ข้าวของในตลาดใหม่นี้ก็คล้ายกับตลาดเก่า คือมีของแห้งนำเข้าจากประเทศจีน แต่จะพิเศษกว่าตรงที่มีร้านอาหารให้เลือกกินมากมายหลายร้านไม่ว่าจะเป็นร้าน ติ่มซำ บะหมี่เป็ด หมูกรอบ ฯลฯ และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของร้านเครื่องเทศชื่อดังอย่างร้านง่วงสูน ที่ทุกคนรู้จักกันดี
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลกินเจ ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่นี้ก็จะเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาจับจ่ายหาซื้อของสด ของแห้งไว้ทำอาหารจนตลาดแน่นแทบไม่มีที่เดินกันเลยทีเดียว
เดินตลาดเก่ามา 3 ตลาดแล้วรู้สึกว่าท้องยังพอมีที่ว่างเหลือ เพราะฉะนั้นอาทิตย์หน้าเราไปเดินตลาดกันต่อ แต่เปลี่ยนบรรยากาศเป็นตลาดใหม่ไฮโซกว่าเดิมบ้างดีกว่า
"ตลาดวัดทอง" ตั้งอยู่หลังสำนักงานเขตบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม มีรถประจำทางสาย 40, 42, 57, 68, 79, 80, 108, 146 ผ่านบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ต้องเดินเท้าเข้ามาอีกประมาณ 500 เมตรเข้ามาถึงวัด และสามารถเดินต่อมายังตัวตลาดได้
"ตลาดนางเลิ้ง" ตั้งอยู่ที่ ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีรถประจำทางสาย 2, 5, 8, 10 ผ่าน
"ตลาดเก่าเยาวราช" ตั้งอยู่ในซอยมังกร ริมถนนเยาวราช ส่วน "ตลาดใหม่" ตั้งอยู่ในตรอกอิสรานุภาพ ระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนเยาวราช มีรถประจำทางสาย 1, 4, 7, 25, 35, 40, 53, 73, 507 ผ่าน
สุวิมล เชื้อชาญวงศ์: รายงาน