10 หนังสือเด็กที่เคยโดนแบนมาแล้ว

มาดูหนังสือเด็กที่เคยถูกแบน (หรือยังโดนแบนอยู่ในบางที่) ทุกคนอาจจะแปลกใจว่า "เอ๊ะ? หนังสือเด็ก?" หนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อเด็กเหล่านี้เคยถูกแบนด้วยเหตุผลบางอย่าง และหลายเล่มในนี้ก็เป็นหนังสือที่แปลให้ เด็กอ่านไปแล้วทั่วโลก

Where the Wild Things Are [Maurice Sendak]

 

เรื่องนี้เป็นนิทานภาพ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับแม็กซ์จอมดื้อที่เล่นซนทำข้าวของพังจนแม่บอกไม่มีข้าวเย็นให้กิน เข้าห้องไปเลย พออยู่ในห้องเขาก็โกรธแม่เลยจินตนาการว่าตัวเองได้ไปผจญภัยในป่าที่มีแต่ตัวประหลาด พอเล่นไปสักพักเขาเบื่อและหิว ก็เลยกลับมาที่ห้อง พบว่าแม่ทำข้าวรอไว้ให้แล้ว

ฟังจากเนื้อเรื่องแล้วก็ดูไม่มีอะไรใช่ไหม แต่นิทานเรื่องนี้ถูกแบนเนื่องจากแม็กซ์ก้าวร้าวเกินไป อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็ก

Winnie the Pooh [A.A.Milne]

 

แปลกใจใช่ไหมว่าทำไมการ์ตูนหมีอ้วนที่แสนน่ารักมุ้งมิ้งแบบนี้ถึงได้โดนแบน อย่าเพิ่งคิดว่าหมีพูห์ไม่ใส่กางเกงหรือ ถึงได้โดนแบน (อันนั้นอาจจะเป็นเหตุผลของบ้านเรา)

เหตุที่มันโดนแบนด้วยหลายเหตุผลและหลายประเทศมาก ที่จีนกับประเทศแถบยุโรปจะแบนด้วยสาเหตุหลักๆว่า เป็นเพราะตัวละครในเรื่องนี้เป็น "สัตว์" และสัตว์ไม่ควร "พูด" สัตว์พูดได้ถือเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า และสำหรับประเทศตุรกี เจ้าพิกเล็ท หมูพูดได้ ถือเป็นการดูหมิ่นชาวมุสลิม ส่วนในรัสเซียก็มีเหตุผลว่าผู้ชายคนหนึ่งที่เชื่อว่าสนับสนุนพรรคนาซี ดันมีรูปหมีพูห์กับสัญลักษณ์สวัสติกะของพรรคนาซี พวกเขาเลยพาลเกลียดหมีพูห์ซะงั้น

The Wonderful Wizard of Oz [L. Frank Baum]

 

วรรณกรรมสุดคลาสสิกอย่างพ่อมดออซก็โดนกับเขาด้วย บางรัฐในประเทศอเมริกาแบนวรรณกรรมเรื่องนี้เองกับมือด้วยเหตุผลว่า ผิดหลักความเชื่อทางศาสนาที่ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำ (อ้าว) บางที่ก็บอกว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ดูถูกเด็กในยุคปัจจุบัน (เอ๊า?)

แต่คิดว่าเขาพลาดแล้วล่ะ เพราะวรรณกรรมของโบม เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กที่อเมริกาจ๋ามากๆ เรียกว่าเป็น "โอท็อป" ของอเมริกาเลยก็ว่าได้ ไม่ได้เป็นอย่างซินเดอเรลล่าหรือสโนไวท์ที่นำเข้าจากฝั่งยุโรป

Charlotte’s Web [E.B. White]

 

เรื่องราวของแมงมุมเพื่อนรักกับน้องหมูที่ทำให้เราร้องไห้กับมันมาแล้วตอนเด็ก ในไทยเรานี่มีเต็มห้องสมุด ที่อังกฤษเขาถอดออกจากห้องสมุดเพราะกลัวว่าน้องหมูวิลเบอร์จะทำให้นักเรียนที่เป็นมุสลิมรู้สึกไม่ดี (ซึ่งพวกเขาก็ออกมาบอกแล้วว่าช่างมันเหอะ)

Alice in Wonderland [Lewis Carroll]

 

วรรณกรรมคลาสสิกอีกเรื่องที่โดนเอามารีเมค และอ้างอิงบ่อยๆ ก็ยังโดนแบนด้วยเหตุผลนานับประการ เช่น มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ก็มีชี้นำเรื่องการใช้ยาแล้วทำให้เกิดภาพหลอน คือเขาตีความว่าที่อลิซ กินยาแล้วโผล่เข้าไปในแดนมหัศจรรย์ เห็นสัตว์แปลกๆ หรือกระต่ายพูดได้เป็นภาพหลอนที่เกิดจากการเสพยา (พอดีช่วงนั้นฝิ่นระบาด)

และประเด็นสุดท้ายที่โดนเหมือนกับเรื่องอื่นๆ คือสัตว์พูดได้นั่นเอง

Charlie and the Chocolate Factory [Roald Dahl]

 

อันที่จริงหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ล หลายเล่มมีเนื้อหาที่...คงไม่ถูกใจผู้ใหญ่หลายๆ คนนัก เพราะให้ภาพเด็กเกเรไปหน่อย แต่สำหรับเรื่องนี้ที่โดนแบนก็ดูสมเหตุสมผลดี เพราะชาวอุมป้าลุมป้า คนงานในโรงงานช็อกโกแลตแต่แรกเขาเขียนให้เป็น ชาวแอฟริกัน เผ่าปิ๊กมี คนอ่านรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ภายหลังเลยมีการแก้ใหม่เป็นคนขาวผมทองตัวเตี้ยซะเลย

Anne Frank: The Diary of a Young Girl [Anne Frank]

 

เชื่อว่าหลายคนได้อ่านบันทึกของ แอนน์ แฟรงก์ ฉบับตัดทอนแล้ว และคงสงสัยว่าเรื่องนี้มีอะไรให้แบนด้วยหรือ? แต่ฉบับที่โดนแบนเป็นฉบับเต็มที่มีฉากแอนน์ค้นพบ...ความเป็นสาว...ของตัวเอง (โอเค พอ จบ) คือถ้าโตหน่อย ก็พออ่านได้หรอก แต่หนังสือเรื่องนี้ดันเป็นเรื่องที่เด็กเกรด 7 (ม. 1) ในอเมริกาต้องอ่าน แล้วเขาดันเอาเวอร์ชั่น ยังไม่ได้ตัดให้อ่าน พอผู้ปกครองรู้เลยกลายเป็นเรื่อง

คิดว่าที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อเอาเข้ามาแปลน่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ตัดแล้ว แต่ที่พี่มีในมือเป็นเวอร์ชั่น "includes previously unpublished material" ของ Puffin Books (ปกตามรูปเลย) ไม่รู้ว่าเนื้อหาที่ไม่เคยได้ตีพิมพ์หมายถึงฉากที่โดนแบนหรือเปล่า

The Giver [Lois Lowry]

 

แม้แต่วรรณกรรมเยาวชนรางวัลเหรียญทองนิวเบอร์รี่ก็โดนจ้า แต่ถ้าเรื่องนี้โดนพี่ก็ไม่แปลกใจ เพราะ "ไอเดีย" ของเรื่องนี้มันค่อนข้างหนักสำหรับเด็กจริงๆ

แต่เอาเป็นว่ามันคือหนังสือที่ให้เด็กเกรด 8 ในอเมริกาอ่าน แต่ผู้ปกครองมองว่าเรื่องนี้มีพูดถึงการกินยาระงับ อารมณ์ทางเพศ การฉีดยาเด็กทารกหรือคนแก่เพื่อทำให้ตาย (ในเรื่องใช้คำว่า "ปลดปล่อย" ฟังดูไม่แรงเท่าไร) เขาเลยมองว่ามันเกินไปสำหรับเด็กม.ต้นนะ

Harriet the Spy [Louise Fitzhugh]

 

วรรณกรรมนักสืบเยาวชนเรื่องนี้โดนแบนเพราะนางเอกของเรื่องดันชอบทำตัวเป็นนักสืบมากไปหน่อย เลยเหมือน ชี้นำให้เด็กรู้สึกว่า "การโกหก" "การสะกดรอย" หรือ "การสบถ" เป็นเรื่องดี ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ต้องดูว่า ทำไปเพื่ออะไรด้วยนะ

Harry Potter [J.K. Rowling]

 

มาถึงวรรณกรรมเยาวชนที่ดังที่สุดในโลกกันบ้าง หลายคนคงพอได้ยินมาบ้างที่เรื่องนี้โดนแบนเพราะชี้นำการใช้ "เวทมนตร์คาถา" ว่าเป็นเรื่องดี บ้านเราคงไม่รู้สึกอะไร แต่ฝั่งตะวันตกหลายคนยังไม่ชอบเรื่องพวกนี้อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันขัดกับความเชื่อทางศาสนาของเขา และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันดูงมงาย อาจทำให้เด็กลุ่มหลงกับเรื่องจนอาจเกิดเหตุการณ์แบบที่ซาเล็มขึ้นอีก

ยังมีวรรณกรรมสำหรับเด็กอีกหลายเรื่องที่โดนแบน ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลคล้ายๆ กันคือมีเนื้อหาที่ผู้ปกครองเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่เด็กต้องรู้ หรือมีเนื้อหาที่ไปหมิ่นความเชื่อ หรือเหยียดเชื้อชาติศาสนาใครหรือเปล่า จะเห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ใหญ่บ้านเขาก็เหมือนบ้านเรานี่แหละ บางทีก็ดูหัวโบราณสำหรับเด็กรุ่นใหม่ บางทีก็ทำเกินกว่าเหตุ แต่เราต้องเข้าใจว่าเขาทำเพราะรักเราจริงๆ อยากให้เราได้ "รู้" เมื่อ "พร้อม" จริงๆ

ขยายความเข้าใจนิดนึง

คำว่า "แบน" ในที่นี้หมายถึง ไม่ให้มีหนังสือพวกนี้ในห้องสมุดตามโรงเรียนต่างๆ หรือบางเล่มหมายถึงการถอดออกจากหนังสืออ่านนอกเวลา ในอเมริกากับอังกฤษ นักเรียนชั้นประถม (เทียบกับบ้านเรา) เขาก็มีหนังสือนอกเวลาให้อ่านเหมือนกัน ซึ่งก็คือวรรณกรรมสำหรับเด็กพวกนี้นี่แหละ แต่ไม่ได้หมายความว่า "ห้ามจำหน่ายหรือห้ามอ่าน" แต่อย่างใดนะจ้ะ แค่ "จำกัดไม่ให้เด็กเข้าถึงก่อนวัยอันควร" เท่านั้น

มันมี 2 สาเหตุใหญ่ๆ ที่หนังสือถูกแบนคือ

1. โป๊เกิน รุนแรงเกิน เนื้อหาหนักเกิน ฯลฯ พวกนี้เป็นเหตุผลด้านความ "เหมาะสมสำหรับวัย" บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดบางแห่งเลยคิดว่าอย่าเอาเข้าห้องสมุดดีกว่า หรือบางทีผู้ปกครองเจอเด็กเอาหนังสือพวกนี้กลับมาอ่านเพราะครูให้อ่าน เขาก็คิดว่ายังไม่เหมาะ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกจำหน่าย แค่คิดว่าโตกว่านี้แล้วค่อยอ่านดีกว่า

2. ประเด็นเรื่อง "ความเชื่อและความต่างวัฒนธรรม" อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเด็ก แต่เกี่ยวกับเนื้อหาบางอย่างในหนังสือสำหรับเด็กพวกนี้ที่อาจกระทบต่อจิตใจของคนอ่านบางคน และทำให้เกิด "ความไม่สบายใจ" เขาเลยต้องแบนไว้ก่อนเพราะไม่อยากให้มีปัญหาทีหลัง (กันไว้ดีกว่าแก้) หนังสือของผู้ใหญ่เล่มอื่นๆ ก็โดนแบนเพราะสาเหตุนี้กันเยอะ

เราหลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม มาตัดสินใจแทนได้ยังไงว่าเราพร้อมหรือไม่พร้อม พวกเราคิดเองได้ แต่ไม่ต้องตัดพ้อไป วันหนึ่งเมื่อเราพร้อมเราก็ต้องได้อ่านอยู่ดี ใช่ว่าผู้ใหญ่เขาจะพรากหนังสือพวกนี้ไปจากเราเสียเมือไร เขาแค่เก็บหนังสือพวกนี้ไว้ รอวันส่งมอบให้เราเท่านั้นเอง

ขอบคุณที่มา: http://www.cmxseed.com/cmxseedforumn/index.php?topic=134665.0

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก:

http://listverse.com/2012/12/09/10-stupidly-banned-childrens-books/

http://www.pajiba.com/station_agents/30-banned-and-challenged-kids-books-that-will-make-you-feel-terrible-about-humanity.php

http://www.buzzfeed.com/spenceralthouse/classic-childrens-books-that-have-been-banned-in-america

http://aphelis.net/american-author-illustrator-maurice-sendak-dies-1928-2012/

http://mookseandgripes.com/reviews/2009/02/20/aa-milnes-the-complete-tales-of-winnie-the-pooh/

http://bookcoverupdate.blogspot.com/2013/09/wizard-of-oz-book-cover.html

http://flavorwire.com/146497/the-evolution-of-alice-in-wonderland-a-book-cover-odyssey/

http://litstack.com/best-selling-books-that-were-originally-rejected/3/

http://literarytreats.wordpress.com/2011/11/15/review-the-giver-the-gift-edition-lois-lowry-illustrated-by-bagram-ibatoulline/

http://npr.org/templates/story/story.php?storyId=87779452

Credit: https://board.postjung.com/1017630.html
8 มี.ค. 60 เวลา 05:51 1,335 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...