เพ็ชร วงค์คำ ผู้เป็นนักการมากกว่าภารโรง





เพ็ชร วงค์คำ นักการผู้เป็นมากกว่าภารโรง ช่างไม้ชั้น 3 โรงเรียนบ้านศรีนาป่าน จ.น่าน : เขต 5
(นิตยสาร ฅ คน)
          
          ช่วงแรกที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ในตำแหน่งนักการภารโรง เมื่อ 20 ปีก่อน"เพ็ชร วงค์คำ" ยังมีความเชื่อเหมือน ๆ กับคนทั่วไป

          ชายร่างเล็กคิดว่าการเป็นภารโรงคืองานที่ต้อยต่ำ ไม่มีอะไรดี และหากชีวิตมีทางเลือกมากกว่านี้ เขาคงไม่มีวันที่จะมาจับไม้กวาด ล้างส้วม ถูพื้นตามอาคาร หรือทำงานเยี่ยงกุลีให้เหนื่อยยากจนถึงปัจจุบัน

          แรก ๆ เราคิดว่ามันเป็นงานที่ตำต้อย ไม่มีเกียรติ ไม่มีคุณค่า เพื่อน ๆ เราที่เรียนมาด้วยกัน แต่ละครเขาเติบโตไปเป็นหมอเป็นครูกันหมด บางคนเป็นถึง ผอ. แต่เราบ้านจนเลยไม่ได้เรียนต่อ ต้องมาตระเวนทำงานก่อสร้างอยู่ในจังหวัดน่าน รายได้มัน ก็ไม่ค่อยแน่นอน สุดท้ายเห็นเขาเปิดรับนักการก็เลยมาสอบดู คิดว่าอย่างน้อยถ้าเราทำงานราชการมันก็น่าจะมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่"ปัจจุบัน เพ็ชรเป็นภารโรงเพียงคนเดียวของโรงเรียนบ้านศรีนาป่าน อ.เมือง จ.น่าน บนพื้นที่ 17 ไร่ 2 งาน พร้อมด้วยอาคารเรียนอีก 5 หลัง ชายวัย 51 ปี ต้องทำงานทุกอย่างตั้งแต่งานเล็กงานน้อยอย่างเปิด-ปิดประตูโรงเรียน กวาดขยะ ตัดหญ้า ยกของแบกของ ไปจนถึงงานใช้ฝีมืออย่างการเป็นช่างไม้ เดินสายไฟฟ้า ซ่อมก๊อกน้ำ ฯลฯ เรียกได้ว่าหากทางโรงเรียนมีปัญหาอะไร คนแรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือ เพ็ชร วงค์คำ

          ทุก ๆ วัน เพ็ชรจะเดินทางมาเปิดโรงเรียนในตอนดีห้าครึ่ง หลังจากไปช่วยภรรยาขายเมี่ยงที่ตลาดในเมืองตั้งแต่ตีหนึ่ง โดยกว่าจะได้เลิกงานอีกทีต้องรอจนถึงหกโมงเย็น ซึ่งตลอดเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เขาจะมาทำงานเป็นคนแรกและกลับบ้านเป็นคนสุดท้ายเช่นนี้เสมอ

          การใช้เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตอยู่กับการทำงานเพียงลำพัง ทำให้เพ็ชรเริ่มเกิดความคุ้นชินและรู้สึกว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเขา นักการร่างเล็กต้องการให้บ้านหลังใหม่ของตัวเองสวย สะอาด งดงาม น่าอยู่ เขาค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการงานจากที่เคยคิดว่าการเป็นภารโรงคืออาชีพที่ไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี เพ็ชรกลับค้นพบความสุข และมองเห็นคุณค่าว่ามันคืองานที่มีความสำคัญเช่นกัน หากตั้งใจจะทำให้ดี

          "เราว่างานทุกงานทุกอาชีพมันมีคุณค่าในตัวของมันนะ ถ้าเราตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่มันมีประโยชน์ทั้งหมดแหละ อย่างงานภารโรงนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำแบบเช้าชามเย็นชาม โรงเรียนมันก็คงไม่เป็นโรงเรียน มีแต่ความสกปรก แต่หากเราเอาใจใส่ทำให้มันเป็นเหมือนกับบ้านของเรา ทุกอย่างมันก็จะดีทุกวันนี้เวลามีงานอะไรที่เกี่ยวกับโรงเรียน อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเหลือคุณครูหรือเด็ก ๆ ได้ ผมทำหมดไม่มีเกี่ยง"

          ภารโรงอย่างเพ็ชรไม่ได้สนใจแค่เรื่องของความสะอาดหรือการชำรุดทรุดโทรมของอุปกรณ์ภายในโรงเรียน หากแต่ยังก้าวไปไกลกว่านั้นด้วยการนำนักเรียนมาทำกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจพอเพียงและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากเป็นช่างตัดผมประจำสถาบัน พ่วงด้วยหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ในกรณีที่ครูประจำชั้นไปทำธุระนอกสถานที่

          ทุกวันนี้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนบ้านศรีนาป่าน ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.6 จะมีคาบเรียนวิชาเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุอยู่ในตารางเรียนทุก ๆ สัปดาห์ ไม่ต่างอะไรจากวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ โดยครูผู้สอนก็คือคนคนเดียวกับที่เดินถูกพื้นตามอาคาร กวาดขยะในตอนเช้า ตัดหญ้าในสนามเวลากลางวัน ฯลฯ

          ทุก ๆ วันอาจารย์ในร่างของภารโรงผู้อ่อนน้อมจะทำการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักกับการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม เพาะเห็ด ปลูกพืช ทำปุ๋ยชีวภาพ ไปจนถึงการอนุรักษ์ป่า แยกขยะมลพิษ รวมทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การทำงานเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบทบาทนอกเหนือไปจากภาระหน้าที่เดิมซึ่งหนักหน่วงอยู่แล้วนั้นยิ่งทำให้เพ็ชรมีเวลาส่วนตัวน้อยลงกว่าเก่า หลายครั้งหลายหนที่ลูกชายและภรรยาของเขาต้องมาช่วยทำงานในโรงเรียนเมื่อว่างจากการขายของในตลาด

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหน้าที่การงานให้ต้องเหนื่อยหนักกันมากขึ้น แต่เพ็ชรและคอรบครัวก็ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน ในทางกลับกันเขายังขันอาสาที่จะสละทรัพย์สินและความสุขส่วนตัวร่วมกับเพื่อน ๆ ในวิชาชีพเดียวกัน เพื่อตอบแทนโรงเรียนอีกหลาย ๆ แห่งใน จ.น่าน อีกด้วย

          "เรารวมตัวกับเพื่อน ๆ ภารโรงอีก 8 คน ตั้งกลุ่มชมรมนักการขึ้น ซึ่งถ้าแต่ละโรงเรียนเดือดร้อนหรือมีงานอะไรที่ต้องทำต้องใช้กำลังคน เราก็จะไปช่วยกัน อย่างที่ผ่านมาผมก็ไปสร้างโรงอาหาร ติดตั้งไฟฟ้า แล้วก็สร้างอาคารที่โรงเรียนอื่น ซึ่งงบประมาณ เราก็จะออกกันเองเดือนละ 100-200 บาทต่อคนไว้สำหรับเป็นเงินกองกลาง"

          ในฐานะภารโรงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง สิ่งที่เพ็ชรสร้างขึ้นได้ก่อประโยชน์ยิ่งกว่าตำแหน่งหน้าที่ของเขามากมายนัก ไม่น่าเชื่อว่าจากคนคนหนึ่งที่เคยดูแคลนอาชีพตัวเองว่าไร้ค่าไร้ความหมาย มาวันนี้ชายวัย 51 จะเป็นข้าราชการชั้นดีที่ใครหลายคนยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเขา

          เพ็ชร วงค์คำ ทำงานทุกอย่างด้วยความรัก และแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการเขาก็สัญญาว่ายังยินดีที่จะกลับมาทำอะไรดี ๆ เพื่อบ้านหลังนี้อยู่เหมือนเดิม

          "เราจะเกษียณในอีก 9 ปีข้างหน้า มันดูเหมือนนานนะ แต่เอาเข้าจริงเราว่าแค่แป๊บเดียวเอง เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าถ้าเกษียณไปแล้วชีวิตจะเป็นยังไง เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เพราะเราอยู่ที่นี่มาตลอด แต่เราก็คิดว่ายังจะไม่ไปไหนไกลหรอก ถ้าโรงเรียนจะให้เรากลับมาสอนในสิ่งที่เราทำอยู่เราก็ยินดี"

          ดูเหมือนตลอดเวลา 20 ปี เพ็ชร วงศ์คำ ได้เอาหัวใจของตัวเองฝังรากไว้บนผืนดินของโรงเรียนบ้านศรีนาป่านเรียบร้อยแล้ว


Credit: http://hilight.kapook.com/view/49596
3 ก.ค. 53 เวลา 20:44 2,758 7 68
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...