โกศและพิธีกรรมทำศพ ตั้งแต่ยุคแรกสุด ราวหมื่นปีมาแล้ว จนปัจจุบัน

คัดจากหนังสือ พระเมรุ ทำไม ? มาจากไหน สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ 




จัดพิมพ์โดย กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ Knowledge Dissemination Fund (KD Fund) สนับสนุนโดย TOYOTAวางตลาดแล้ว ราคา 110 บาท โกศ มีพัฒนาการจาก "พิธีศพครั้งที่ 2" ราว 3,000 ปีมาแล้ว ร่องรอยเก่าสุดเห็นได้จากไหหินในลาว และภาชนะดินเผาใส่ศพแบบ "แค็ปซูล" ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน 

พิธีศพ ก็คือพิธีกรรมความตาย เป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดของมนุษย์ อย่างน้อยตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว สืบถึงปัจจุบัน 


 

 

มนุษย์อุษาคเนย์เชื่อว่าคนเรามาจากบาดาลทางน้ำที่อยู่ใต้พื้นดิน เมื่อคนตาย (ที่ยุคนั้นเข้าใจความตายต่างจากยุคนี้) ก็คือการกลับไปสู่ถิ่นเดิมในบาดาลที่มีนาคพิทักษ์อยู่ คนมีฐานะทางสังคม เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือหมอผี เมื่อตายไป คนทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีศพใหญ่โต แต่ถ้าคนทั่วไปตายลงก็ทิ้งให้แร้งกากิน 

พิธีศพของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืนเพื่อส่งวิญญาณ โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้าแล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเผ่าพันธุ์ พิธีศพของไทยที่เก็บศพไว้ฉลองนานวัน ก็มาจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง 

เมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันก็แห่ศพที่อาจหุ้มหรือห่อด้วยเครื่องจักสานอย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนดรู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะ ซึ่งมักเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ ต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้างใหญ่บ้างตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้คนปัจจุบันเรียกหินตั้ง ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่าเสมาหิน หรือใบเสมาในปัจจุบัน 

ขบวนแห่ศพมีเครื่องประโคม เช่น ฆ้อง กลอง หรือมโหระทึก และอื่นๆ (มีรูปวาดที่ถ้ำตาด้วง จังหวัดกาญจนบุรี) 

เมื่อเอาศพลงหลุมต้องเอาเครื่องมือเครื่องใช้ใส่ลงไปด้วย เชื่อว่าจะได้ติดตัวไปใช้ในบาดาล ฉะนั้นในหลุมศพจึงมีสิ่งของมากมายล้วนแสดงฐานะของผู้ตายว่าเป็นคนสำคัญ เช่น ภาชนะดินเผาลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ไม่ได้ทำไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน แต่ทำไว้ฝังไปกับศพเท่านั้น 

คนบางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือใกล้ทะเล เคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ มีภาพลายเส้นที่ผิวมโหระทึก แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือหรือรางเลี้ยงหมูปัจจุบัน เอาศพวางในรางแล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ้ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พบที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ฯลฯ (รางระนาดปัจจุบันก็ได้มาจากโลงไม้ยุคนี้)



แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือพิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยยุ่ยสลายไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหินในลาว หม้อดินเผาใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแบบ "แค็ปซูล" ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดี พบภาชนะใส่กระดูกทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือโกศ 

แม้แต่การเก็บกระดูกคนตายไว้ตามกำแพงวัดก็สืบเนื่องจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง 

คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้วบางกลุ่มมีประเพณีฝังศพงอเข่าไว้กับอก บางทีเอาศพงอเข่าใส่ไหไปฝัง ฯลฯ อย่างนี้เรียกกันภายหลังว่าประเพณีศพนั่ง สืบเนื่องมาถึงสมัยหลังคือศพเจ้านายในพระบรมโกศ 

แหล่งฝังศพยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจสะพรึงกลัวอย่างทุกวันนี้เรียก ป่าช้า ป่าเลว (เห้ว, เปลว) หรือสุสาน ฯลฯ แต่คนเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ยกย่องพื้นที่ฝังศพเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ เมื่อรับพุทธศาสนาในภายหลังต่อมาแล้วเลยยกบริเวณนั้นสร้างสถูปเจดีย์เป็นพุทธสถานก็มี เช่น ปราสาทหินพิมายที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และวัดชมชื่นที่เมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ 

@@@@@ 

10,000 ปีมาแล้ว ฝังศพเหยียดยาว ไม่งอเข่า 

ในดินแดนประเทศไทยมีพิธีฝังศพแบบวางราบเหยียดยาวเก่าแก่สุดราว 10,000 ปีมาแล้ว เช่น พบที่จังหวัดกระบี่, จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ (แต่บางท้องถิ่นในบางประเทศอาจนานกว่านี้) 

พิธีฝังศพนี้มีบางท้องถิ่นเรียก "พิธีทำศพ" เริ่มพิธีเมื่อมีคนตายจนถึงเอาศพไปฝังเป็นเสร็จพิธี แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่ามีครั้งแรกเมื่อไร? 

ฝังศพ เป็นพิธีกรรมของชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ และมีบริวารมากพอจะทำพิธีได้ หากเป็นสามัญชนคนทั่วไปไม่มีอำนาจ ไม่มีบริวาร ก็ทิ้งศพไว้ในที่ทั่วไปให้แร้งกาจิกกิน


ลายเส้นจำลองลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ บรรจุอยู่ในพระบรมโกศทองใหญ่ ภายหลังเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ.2409 (ค.ศ.1866) 

ภาพนี้อยู่ในหนังสือเดินทางรอบโลก (VOYAGE AUTOUR DU MONDE) ของเคาน์โบวัว (LE COMTE DE BEAUVOIR) ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่ปารีสเมื่อ พ.ศ. 2411 (ค.ศ.1868) ภายหลังการเดินทางรอบโลก โดยแวะเยือนกรุงเทพฯ วันที่ 11-19 มกราคม พ.ศ.2409 (ค.ศ.1866) เนื่องจากท่านเคาน์ติดตามราชนิกุลฝรั่งเศส 3 คนเข้ามา จึงได้รับการต้อนรับจากรัชกาลที่ 4 เป็นพิเศษ เพราะทรงมีความสนิทสนมกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 อยู่ก่อนแล้ว ภาพในหนังสือของท่านเคาน์จึงมีลักษณะพิเศษ จากสิ่งที่ผมเห็นหรือได้รับการบอกเล่ามาเอง 

เบื้องหลังภาพ เชื่อได้ว่าเป็นพระดำรัสตรัสเล่าโดยรัชกาลที่ 4 เกี่ยวกับพิธีพระบรมศพของพระปิ่นเกล้าฯ ที่เพิ่งสวรรคตไปก่อนหน้านั้นไม่นาน ในทรรศนะของผู้วาด จึงต้องการถ่ายทอดให้ชาวตะวันตกด้วยกันเห็นว่าธรรมเนียมการเก็บพระศพของพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ต้องบรรจุพระบรมศพใส่ในพระโกศพร้อมด้วยเครื่องราชูปโภคต่างๆ คือ :- พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกรชัยพฤกษ์, พระสังวาล, พระธำมรงค์, ฉลองพระบาทเชิงงอน พร้อมด้วยฉลองพระองค์เต็มยศในท่าประทับนั่งยองๆ ภายในที่จำกัด ตามพระราชประเพณีที่กระทำกันสืบต่อมาแต่โบราณกาล 

หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อต้นปี พ.ศ.2411 ก่อนหน้ารัชกาลที่ 4 สวรรคต ถึง 10 เดือน (สวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411) จึงนับเป็นเอกสารร่วมสมัยพร้อมด้วยข้อมูลสดๆ ร้อนๆ ของเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลนั้น ที่แม้แต่คนไทยทั่วไปในสมัยนั้นก็เข้าไม่ถึงมาก่อน เพราะหนังสือพิมพ์จำหน่ายอยู่ในยุโรปเท่านั้น 

ไกรฤกษ์ นานา เขียนคำอธิบาย



สถานที่ทิ้งศพเรียกกันภายหลังว่า ป่าเลว, ป่าเห้ว, เปลว เพราะคำว่าเลวหมายถึงไม่ดี บางท้องถิ่นออกเสียงเป็นเห้ว แต่บางพวกออกเสียงว่าเปลว ส่วนคนภาคกลางเรียกป่าช้า เป็นคำเดียวกับเลว มักใช้ควบว่า เลวทรามต่ำช้า 

3,000 ปีมาแล้ว เริ่มฝังศพงอเข่า ต้นเค้าโกศ 

พบทั่วไปในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลุ่มน้ำโขงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ไทย, ลาว, เขมร, เวียดนาม ต่อเนื่องถึงมณฑลกวางสีในจีน (ที่อาจเป็นแหล่งฝังศพงอเข่าแบบเก่าสุด) 

คนยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าคนตายคือคนกลับคืนสู่บ้านเก่า คือท้องแม่ที่ต้องงอเข่าเข้าด้วยกัน 

ต่อมาคนดึกดำบรรพ์คิดทำภาชนะใส่ศพงอเข่าไปฝังดิน เช่น ไหดินเผา (หรือ "แค็ปซูล"), หม้อดินเผา, จนถึงไหหินยุคสุวรรณภูมิในลาว, ไหหินยุคทวารวดีในพม่าและไทย ฯลฯ ล้วนเป็นต้นเค้าเก่าสุดของโกศทุกวันนี้ 

ชุมชนบางแห่งของบางกลุ่มชาติพันธุ์ เชื่อว่าขวัญคนตายแล้วต้องกลับถิ่นเดิมทางน้ำ จึงเอาศพใส่ภาชนะคล้ายเรือไปไว้ในแหล่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ, เพิงผา ฯลฯ บางพวกสลักรูปเรือไว้บนภาชนะสัมฤทธิ์ใส่ศพก็มี 

1,500 ปีมาแล้ว เผาศพตามแบบอินเดีย แต่ทำศพอย่างอื่นด้วย 

เผาศพเป็นพิธีของชมพูทวีป (อินเดีย) ที่แพร่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมศาสนาพราหมณ์-พุทธ เมื่อราว พ.ศ.1000 หรือราว 1,500 ปีมาแล้ว บางทีเรียกยุคทวารวดี 

นับแต่นี้ไปจะมีคติทำศพเรียกปลงศพ มี 4 อย่าง ปะปนกันไปหรือต่างกันตามฐานะของคนตาย ได้แก่ ปลงด้วยดิน คือ ฝัง, ปลงด้วยน้ำ คือ โยนทิ้งในแม่น้ำ, ลำคลอง, ปลงด้วยนก คือ ให้แร้งกากิน, ปลงด้วยไฟ คือ เผา 

คนพื้นเมืองที่มีอำนาจรับแบบแผนชมพูทวีปมาปรับใช้ โดยเอาศพงอเข่าใส่ภาชนะ แล้วยกลงเรือไปเผาบริเวณที่กำหนด ถือเป็นพระราชพิธีของกษัตริย์สืบมาจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา มีเอกสารระบุว่าถวายพระเพลิงพระศพกษัตริย์อยุธยาบางพระองค์ในเรือนาค ช่วง พ.ศ.2000 หรือก่อนหน้านั้น 

400 ปีมาแล้ว แรกมีเมรุเผาศพเจ้านาย 

เมรุเผาศพ แรกมีราวหลัง พ.ศ.2100 มีเหตุชวนให้เชื่อได้ว่าจะเริ่มสร้างเมรุ (อ่านว่า เมน) หรือเขาพระสุเมรุ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ.2181 หลังจากนั้นถึงใช้สร้างชั่วคราวด้วยไม้ เผาศพเจ้านายเท่านั้น 

เมรุยุคแรกใช้เผาศพเจ้านาย เรียก "พระเมรุ" หรือ "พระเมรุมาศ" ใช้งาน "ถวายพระเพลิงพระศพ" ส่วนคนทั่วไปเผาบนเชิงตะกอนอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นยาจกยากจนก็โยนให้แร้งกากิน 

เมรุ หรือพระเมรุ เมื่อแรกมียุคกรุงศรีอยุธยา สร้างเลียนแบบนครวัด "วิษณุโลก" ที่จำลองเขาพระสุเมรุ โดยจินตนาการขึ้นจากภูเขาหิมาลัย 

200 ปีมาแล้ว แรกมีเมรุถาวรในวัด เรียกเมรุปูน 

รัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2411-2453) โปรดให้สร้างเมรุเผาศพอย่างถาวรด้วยปูนไว้ในวัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ 

เมรุถาวรแห่งแรกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาส ราวเกือบ 100 ปีมาแล้ว ยังสืบเนื่องใช้งานพระราชทานเพลิงศพสืบจนทุกวันนี้ 

แต่เอกสารบางเล่มระบุว่ามี "เมรุปูน" วัดสระเกศ ใช้เผาศพแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 กว่าเมรุเผาศพจะเริ่มมีในวัดอื่นๆ เฉพาะในกรุงเทพฯก็ต้องใช้เวลาอีกนานมากเกือบ 100 ปี 

คนแต่ก่อนเคยสร้าง "เมรุลอย" ถอดได้ (knock-down) เลียนแบบ "เมรุหลวง" ของเจ้านาย ให้คนมีฐานะเช่าไปใช้เผาศพที่ต่างๆ แต่คนฐานะด้อยกว่าก็ทำเชิงตะกอนประดับประดาด้วยเครื่องแกะสลักเป็นลวดลาย เช่น จักหยวก-แทงหยวก เป็นต้น 

50 ปีมาแล้ว มีเมรุเผาศพ อยู่ในวัดทั่วประเทศไทย 

เมรุเผาศพ ค่อยๆ แพร่เข้าไปอยู่ในวัดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯช่วงเรือน พ.ศ.2500 หรือก่อนนั้นไม่นานนัก 

ครั้นหลัง พ.ศ.2500 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับแรกแล้ว พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ลดลง ชนชั้นกลาง "กระฎุมพี" มีบทบาทสูงขึ้น จึงต้องการเผาศพบรรพบุรุษบนเมรุแบบเจ้านายและชนชั้นสูง เลยยกเอาเมรุเจ้านายเป็นแบบสร้างเลียนแบบไว้ตามวัดสำคัญๆ นานเข้าก็กระจายไปวัดราษฎรเล็กๆ ตามชานเมือง จนถึงวัดสำคัญของจังหวัดแล้วมีไปทั่วประเทศ 

 

 

 

 

 

 

Credit: มติชน
3 ก.ค. 53 เวลา 01:08 3,664 4 86
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...