เลข 0 สำหรับเราแล้วเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะให้ความหมายในเชิงลบ ไม่ใช่แค่ความว่างเปล่าเท่านั้น บางคนยังมองมันในแง่ของความสูญเสียอีกด้วย เชื่อกันไหมว่าในประวัติศาสตร์ของชาติอเมริกานั้น มีประธานาธิบดีถึง 7 คน ที่ต้องเสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่งเพราะเลข 0
"ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย" ถือเป็นอมตะวาจาที่มีคนนิยมพูดกันมากที่สุดประโยคหนึ่ง และการซ้ำรอยดังกล่าวก็มักจะหมายถึงซ้ำรอยในแง่ร้ายมากกว่าในแง่ดี (กรณีหลังนี่ เรียกโชคสองชั้นจะดูเชยไปมะ?) ดังนั้น คำว่าเพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงเป็นคำพูดยอดนิยมอีกประโยคหนึ่ง ซึ่งเรามักพูดกันในตอนที่เตรียมตัวป้องกันเรื่องร้ายๆ อะไรสักอย่าง ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตและมีแนวโน้มว่าเรื่องในทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้ หากเราไม่เตรียมการล่วงหน้า
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เองก็มีเรื่องที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นต้นว่า การเปลี่ยนรัชกาลในประเทศจีนโบราณหรือกรณีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง หรือแม้กระทั่งการเมืองของไทยเองที่สมัยก่อนเรียกกันว่าวงจรอุบาทว์ สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกกันว่ากงล้อแห่งประวัติศาสตร์ เพราะมันวนเวียนเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบางทีเราสามารถประเมินเหตุการณ์ในอนาคตจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ แต่การย้อนรอยประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้ คงจะไม่มีตัวอย่างใดน่าทึ่งและน่าพิศวงเท่ากับตัวอย่างของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่สองท่าน คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ กับ อับราฮัม ลินคอล์น
บางท่านที่สนใจอเมริกันศึกษาหน่อยอาจจะชักงง เอ๊ะ สองท่านนี้เหมือนกันที่ตรงไหนฟะ เพราะลินคอล์นเป็นคนค่อนข้างขี้เหร่ เงียบขรึม เยือกเย็นและไม่เจ้าชู้ ตรงข้ามกับ จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี้ ที่หล่อเหลาเอาการ เลือดร้อนจนขึ้นชื่อ (ขนาดครุสชอฟของรัสเซียที่บ้าบิ่นถอดรองเท้าตบโต๊ะในที่ประชุมสหประชาชาติ ต้องยอมสยบให้ในกรณีปัญหาขีปนาวุธของรัสเซียในคิวบา ซึ่งตอนนั้นทั่วโลกถึงกับหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกัน คิดว่าสงครามระหว่างสองมหาอำนาจต้องเกิดแล้วแน่ๆ) ข้อสำคัญ คือ เคนเนดี้เป็นคนเจ้าชู้ขนาดคาสโนวายังอายเลย
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประธานาธิบดี 2 ท่านนี้ ช่างคล้ายคลึงกันจนแทบจะแนบเป็นรอยสนิท นี่คือกงล้ออันมหัศจรรย์ของประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนถึงกันมานักต่อนัก เราลองมาดูกันซิว่า เจ้ากงล้อประวัติศาสตร์ดังกล่าวเนี่ย มันเป็นมาและเป็นไปอย่างไร
ประธานาธิบดีทั้ง 2 ท่าน ถูกลอบสังหารเหมือนๆ กัน และการลอบสังหารทั้งสองครั้งนี้ คนร้ายใช้ปืน แถมซัดเข้ากลางหัวเหมือนกันทั้งสองครั้งด้วย ลินคอล์นและเคนเนดี้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ในขณะที่ประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง โดยประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องของสีผิว
นี่เป็นเพียงส่วนน้อยของความคล้ายกัน ลองอ่านต่อไปอีกนิดสิ แล้วท่านจะเห็นว่าบางทีประวัติศาสตร์ก็เล่นตลกร้ายได้จนขำไม่ออกเหมือนกันแหละ
อับราฮัม ลินคอล์นเดินทางเข้าสู่สภาคองเกรสหรือสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี ค.ศ. 1847 โดยได้รับเลือกจากประชาชนรัฐอิลลินอยส์ เช่นเดียวกัน... จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ก็ได้รับเลือกจากรัฐแมสซาจูเสทเดินทางเข้าสู่สภาคองเกรสในปี ค.ศ. 1947 หรืออีกหนึ่งร้อยปีต่อมาพอดี๊พอดี
อีก 13 ปีให้หลัง ลินคอล์นก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1860 และมันก็ช่างเหมือนกันเหลือเกิน เคนเนดี้ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกาในอีก 13 ปีต่อมา หลังจากที่เข้าสภาคองเกรส แต่เป็นปี 1960 ซึ่งห่างกันร้อยปีพอดีเหมือนกัน
ในปี 1856 ที่ประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เข้าคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนก็คือ อับราฮัม ลินคอล์น ถึงทั้งคู่จะไม่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งประธานาธิบดีและรอง แต่อีก 4 ปีต่อมา ลินคอล์นกลับได้รับเลือกให้เป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่ง
นับจากปี 1856 อีกหนึ่งร้อยปีต่อมา เคนเนดี้ก็ได้รับการเสนอชื่ออย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อนให้เข้าร่วมชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดี จากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชิคาโกและก็เป็นไปดังที่ท่านคาดนั่นแหละ เคนเนดี้และผู้ร่วมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตกกระป๋องไปเรียบร้อย แต่ประวัติศาสตร์ที่ลอกเลียนตัวเองก็เกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อเคนเนดี้ได้รับเลือกเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกับลินคอล์นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน
บังเอิญหรือ? ก็อาจจะใช่ แต่เราลองมาดูรายละเอียดพวกนี้กันก่อนดีมั้ยเอ่ย?
ในช่วงต้นของการนับคะแนนเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1860 ลินคอล์นมีคะแนนเสียงนำคู่ต่อสู้คือ สตีเฟน เอ. ดักลาส แต่เมื่อผลของคะแนนจากรัฐทางใต้ถูกส่งเข้ามา ลินคอล์นก็เริ่มแพ้ และในที่สุดเขาก็มีคะแนนเสียงเป็นรองดักลาสอยู่เล็กน้อย ตามระบอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐจะมีการลงคะแนนเสียงอีกครั้งหนึ่ง โดยการใช้คะแนนเสียงของคณะผู้แทนเลือกประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชนในมลรัฐต่างๆ เรียกว่า อีเล็คโทรัลคอลเลจ( Electoral College) ผลปรากฏว่า อับราฮัม ลินคอล์น ชนะผลการโหวตจากอีเล็คโทรัลคอลเลจ เขาจึงได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งเรา (หรือเขา?) เรียกประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกในลักษณะนี้ว่า "Minority President"
ทางเคนเนดี้นั้น ในปี 1960 คะแนนเสียงของเคนเนดี้ในช่วงต้นๆ นำมาตลอด แต่เมื่อการนับคะแนนจากรับทางใต้ขึ้นกระดาน เคนเนดี้ก็มีแววจะล่องจุ๊น เมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลงปรากฏว่าเคนเนดี้แพ้ Popular Vote แต่ก็อีกนั่นแหละ เขากลับไปชนะจากคะแนนเสียงของอีเล็คโตรัลคอลเลจ กลายเป็น "Minority President" เหมือนกับลินคอล์นเปี๊ยบเลย ซึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐมีอยู่ไม่กี่คน
ข้อสังเกตที่น่าทึ่งต่อไปก็คือ ทั้งเคนเนดี้และลินคอล์นในตอนที่เข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งสองมีผู้ร่วมทีมในการแข่งขันเพื่อเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีชื่อท้ายเหมือนกันอีกคือ "จอห์นสัน" ของลินคอล์นนั้นมีชื่อเต็มว่า แอนดรู จอห์นสัน ส่วนรายของเคนเนดี้นั้นคือ ลินดอน บี. จอห์นสัน ถึงแม้ชื่อจะต่างกันอยู่บ้าง (ถ้าเหมือนกันหมดนี่ ประวัติศาสตร์ก็ชักจะเล่นตลกเกินไปหน่อยแล้ว) แต่วิถีทางการเมืองของทั้งคู่ก็คล้ายๆ กัน แอนดรูและลินดอนต่างก็เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต ผู้มีชื่อเสียงจากรัฐทางตอนใต้ ทั้งเคนเนดี้และลินคอล์นเลือกจอห์นสัน (โอย...งง) ก็เพราะหวังที่จะดึงคะแนนจากรัฐทางตอนใต้
แอนดรู จอห์นสัน เกิดปี ค.ศ. 1808 ส่วน ลินดอน จอห์นสัน เกิดปี 1908 ต่างกันร้อยปีพอดีเป๊ะ (อีกแล้ว ^^)
วันศุก์ที่ 14 เมษายน ปี 1865 อันเป็นวันมรณะของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ผู้ประกาศการเลิกทาสของสหรัฐอเมริกา ท่านประธานาธิบดีจำใจต้องไปนั่งดูละครเรื่อง Our America Cousin ที่โรงละครฟอร์ดในวอชิงตัน เนื่องจากทนการรบเร้าของศรีภริยาไม่ได้ และที่โรงละครแห่งนี้เอง หนุ่มชาวใต้คนหนึ่งนาม John Wilkes Booth ก็มาถึง บูทเป็นหนุ่มหัวรุนแรงที่มีเพลิงแค้นสุมอกจากการพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง เนื่องจากบูทเป็นคนมีชื่อเสียงและสามารถเข้าออกโรงละครได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อทราบข่าวว่าลินคอล์นจะมา แผนฆาตกรรมปริศนาที่ไม่ต้องอาศัยคินดะอิจิหรือโคนันมาคลี่คลายจึงได้เริ่มต้นขึ้น
ในขณะที่ละครกำลังดำเนินไปนั้น ฆาตกรผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ผู้นี้ได้ย่องเข้าไปด้านหลังของประธานาธิบดีลินคอล์นในระยะประชิด ปืนพกที่ถูกซ่อนมาถูกเล็งไปที่ศีรษะของท่านอย่างบรรจง ไกปืนเหนี่ยวโป้งส่งกระสุนเข้าเป้าอย่างไม่มีพลาด ท่ามกลางความตกตะลึงของทุกฝ่ายที่อยู่ในเหตุการณ์ จากนั้นบูทอาศัยความชุลมุนวิ่งหนีออกจากโรงละคร โดยมีตำรวจไล่ตามอย่างกระชั้นชิด การไล่ตามจะสร้างความโกลาหลบนท้องถนน สิ่งที่เราทราบก็คือฆาตกรผู้นี้หนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในโรงเก็บของ (ซึ่งใช้เก็บบุหรี่) และถูกตำรวจจับตัวได้ในที่สุด
ข้างฝ่ายท่านประธานาธิบดีนั้นเล่า ท่านได้ถูกส่งตัวสู่การผ่าตัดฉุกเฉินโดยนายแพทย์มือหนึ่งของประเทศ แต่ก็ไม่อาจรั้งชีวิตท่านกลับจากอ้อมกอดของมัจจุราชได้ ข่าวการอสัญกรรมของประธานาธิบดีลินคอล์นจึงกระจายไปทั่วประเทศและถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไว้ในลักษณะนี้
ส่วนตัวของบูทเอง เขาถูกฆาตกรปริศนาลอบยิงถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ซึ่งจนปัจจุบันนี้ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่า การฆ่าบูทนั้นเกิดจากความแค้นของคนที่รักประธานาธิบดีลินคอล์นหรือเป็นเพียงการฆ่าตัดตอนเพื่อไม่ให้มีการสืบสาวราวเรื่องไปจนถึงตัวผู้บงการได้
กาลเวลาผ่านมาถึงวันที่ 22 พ.ย. 1963 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ผู้มีแผนจะหาเสียงจากรัฐทางตอนใต้ ซึ่งฐานเสียงของเขาไม่ค่อยดีนักและเพื่อหวังผลการเลือกตั้งอันจะมีขึ้นในปีถัดไป คือ ค.ศ. 1964 ท่านประธานาธิบดีจึงขึ้นเครื่องเดินทางไปยังรัฐเท็กซัส เครื่องบินของกองทัพอากาศร่อนสู่สนามบินดัลลัสในเช้าวันนั้น ท่ามกลางประชาชนที่มาต้อนรับกันอย่างคับคั่ง ขบวนรถแล่นเข้าสู่ตัวเมืองโดยมีท่านประธานาธิบดีนั่งรถเปิดประทุนเคียงคู่กับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มาดามเคนเนดี้ โดยหารู้ไม่ว่า กงล้อประวัติศาสตร์กำลังหมุนมาบรรจบครบวาระอีกรอบ ณ วันนั้น
ลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ (Lee Harvey Oswald) คือผู้ร้ายรายนั้น!!!
ออสวัลด์ต่อต้านนโยบายเกี่ยวกับคิวบาของประธานาธิบดีเคนเนดี้อย่างรุนแรง และเมื่อสบโอกาส ชายหนุ่มจึงเตรียมสมนาคุณพิเศษให้กับมหาบุรุษที่เขาแอนตี้
บนยอดตึกโรงแรมของโรงเรียนมัธยมเท็กซัส ออสวัลด์ยึดจุดนี้เป็นทำเลลอบสังหารและเมื่อรถของประธานาธิบดีเคลื่อนเข้ามาในระยะหวังผล ออสวัลด์ก็กระชับไรเฟิลเล็งเป้า ตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งที่เป็นช่องโหว่ของตำรวจคุ้มกัน กระสุนจึงพุ่งเข้าเป้าอันเป็นศีรษะของท่านประธานาธิบดีอย่างตรงเผง ขณะนั้นเป็นเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น เคนเนดี้ถูกนำเข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน ศัลยแพทย์มือหนึ่งของประเทศถูกระดมตัวมาให้ความช่วยเหลือ ถึงกระนั้นก็ไม่อาจช่วยชีวิตของประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ ทั่วโลกถึงกับตกตะลึงในข่าวการอสัญกรรมของมหาบุรุษผู้นี้
ส่วนออสวัลด์ถูกตำรวจไล่ล่าอย่างกระชั้นชิด เขาหนีตำรวจเข้าไปหลบอยู่ในโรงละคร แต่ก็ไม่สามารถหนีพ้นเงื้อมมือของตำรวจที่แห่กันมาตามล่าได้ ออสวัลด์ถุกคุมขังไว้ได้ไม่นานนัก มือมีดอีกรายก็โผล่มาร่วมสังฆกรรมจนได้
ฆาตกรมือที่สามมีนามว่า แจ็ค รูบี้ - เขาซัดออสวัลด์ลงนรกขณะที่มีการย้ายตัวผู้ต้องหา เพื่อทำการเปลี่ยนที่คุมขัง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า นี่คือการล้างแค้นให้ท่านประธานาธิบดี หรือการฆ่าตัดตอนเพื่อป้องกันการสาวไปถึงตัวผู้บงการ
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือเหตุการก่อนอสัญกรรมของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่สองคน ที่มีที่มาที่ไปและเรื่องราวคล้ายคลึงกันมาก แล้วเชื่อไหมว่า ตอนที่ลินคอล์นจะออกไปดูละครที่โรงละครฟอร์ดนั้น เลขานุการส่วนตัวของท่านได้ทักท้วงมิให้ลินคอล์นออกไป เลขานุการคนนั้นชื่อเคนเนดี้!!! และก่อนที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้จะเดินทางไปพบจุดจบที่ดัลลัส เลขานุการส่วนตัวก็ได้ทักท้วงอ้อนวอนมิให้เคนเนดี้เดินทางไปเช่นกัน เลขานุการผู้นั้นชื่อลินคอล์น !?
นอกจากนั้นดูเหมือนว่ากงล้อประวัติศาสตร์เล่นตลกกับชะตาของผู้เกี่ยวข้องอย่างเหลือเชื่อ ลินคอล์นถูกมือสังหารลอบยิงที่โรงละครแล้วหนีไปจนมุมที่โรงเก็บของ ในขณะที่เคนเนดี้ถูกลอบยิงจากหลังคาโรงเก็บของแล้วหนีไปจนมุมที่โรงละครอย่างกับฟิล์มฉายกลับกัน ประธานาธิบดีทั้งสองท่านถูกยิงฟุบในอ้อมอกศรีภรรยา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐทั้งคู่...
ส่วนมือปืนทั้งสองรายต่างก็ไปรายงานตัวกับยมบาลด้วยน้ำมือของมือที่สาม โดยไม่มีโอกาสไปแก้ต่างหรือฟังคำพิพากษาจากศาลในคอกจำเลยเลยแม้แต่น้อย ...และจนบัดนี้ความมืดมนของคดีฆาตกรรมสะเทือนโลกทั้งสอง ก็ยังคงดำมืดทิ้งเบาะแสอันมิอาจไขให้กระจ่างให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดกันต่อว่า อะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารมหาบุรุษทั้งสองท่านนี้
ความตายที่คล้ายๆ กับการฉายซ้ำของประวัติศาสตร์นี้ หลายคนเชื่อกันว่ามันมิได้เกิดขึ้นแต่กับลินคอล์นและเคนเนดี้ เรื่องของทั้งคู่เป็นเพียงห่วงโซ่ 2 วง ในห่วงโซ่มรณะของตัวร่วมหมายเลขศูนย์ (Zero Factor)
ตัวร่วมหมายเลข 0 คืออะไร?
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1840 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีทุกคนของสหรัฐที่ได้รับการเลือกตั้งในปีที่ ค.ศ. ลงท้ายด้วย "0" นั้น ไม่มีใครมีชีวิตรอดในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแม้สักคนเดียว!!!
- ค.ศ. 1840 วิลเลียม เฮนรี แฮริสัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่หนึ่งเดือนภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แฮริสันก็ลาโลกไปด้วยโรคปอดบวม
- ค.ศ. 1860 อับราฮัม ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก และมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงสมัยที่ 2 ซึ่งในที่สุดลินคอล์นก็ถูกลอบสังหารดังเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
- ค.ศ. 1880 เจมส์ เอ. การ์ฟิลด์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ท่านดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ก่อนจะถูกมือปืนลอบยิงดับดิ้นสิ้นชีวาไปอีกหนึ่งท่าน
- ค.ศ. 1900 วิลเลี่ยม แมคคินเลย์ ครองตำแหน่งประธานาธิบดี และอาศัยอยู่ในทำเนียบขาวได้ไม่ถึงปี ก็ถูกคู่ปรปักษ์ทางการเมืองบุกเข้าพบ บุกไม่บุกเปล่าพี่แกดันถือปืนเข้ามาด้วย แมคคินเลย์เลยสิ้นชีพไปในลักษณะนี้
- ค.ศ. 1920 วาร์เรน จี. ฮาร์ดิ้ง เดินทางสู่ทำเนียบขาวบ้าง แต่แล้วก็ล้มป่วยลง อาการของท่านมีแต่ทรุดกับทรุด ในที่สุดฮาร์ดิ้งก็ถึงแก่อสัยกรรมไปด้วยโรคร้าย ถึงกระนั้น หลายๆ ฝ่ายก็ยังอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า อาการป่วยอันผิดธรรมชาติของประธานาธิบดีท่านนี้ น่าจะเกิดจากการฆาตกรรมมากกว่า
- ค.ศ. 1940 แฟลงคลิน เดอลาโน รูสเวลท์ ทำลายประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีสหรัฐด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 3 แล้วก็เข้าร่วมห่วงโซ่ Zero Factor เข้าจนได้ รูสเวลท์ป่วยเป็นโรคโปลิโอมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนพิการ แต่มาคราวนี้ท่านโดนกาฬโรคเล่นงานจนมิอาจทนทานต่อไปได้ ประธานาธิบดีรูสเวลท์เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 3
- ค.ศ. 1960 มาถึงยุคของเพลย์บอยคนดัง ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ซึ่งกลายเป็นเหยื่อของตัวร่วมหมายเลข 0 อีกเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า คดีลอบสังหารเคนเนดี้ เป็นคดีลือลั่นสั่นประสาทที่สุดเท่าที่เคยมีการลอบสังหารประธานาธิบดีมา
สหรัฐอเมริการ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ 4 ปี ดังนั้นทุกๆ 20 ปีจะมีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วยเลข 0 ซึ่งก็นับว่าประกหลาดมาก เพราะตั้งแต่ปี 1840 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งในปีที่ลงท้ายด้วยเลข 0 ต่างก็สิ้นชีพในระหว่างอาศัยอยู่ในทำเนียบขาวทั้งสิ้น
นักนิยมไสยศาสตร์ก็กล่าวกันว่า ความพิสดารของลูกโซ่ประวัติศาสตร์นี้ เป็นเพราะอาถรรพ์ของตัวร่วมหมายเลขศูนย์ หรือ Zero Factor ซึ่งเจ้าตัวร่วมนี้เป็นที่เข้าใจกันดีในทางโหราศาสตร์ของตะวันตกว่าคือจุดหนึ่งในเส้นทางของดวงดาว ที่วงโคจรของดาวพฤหัสมาตัดกับดาวเสาร์ โดยจะเกิดขึ้นในทุกๆ 20 ปีเช่นเดียวกันกับความตายของประธานาธิบดีสหรัฐ
ทว่า... ห่วงโซ่หมายเลข 0 นั้นขาดลงแล้วหรือไร?
ปี ค.ศ. 1980 อดีตพระเอกหนังคาวบอยของฮอลลี่วู้ดที่ชื่อ โรนัลด์ ดับลิว เรแกน พลิกความคาดหมายชนะ จิมมี่ คาร์เตอร์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ห่วงโซ่หมายเลขศูนย์ก็เริ่มการทำงานของมันอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ค.ศ.1981 หนุ่มชาวโคโรลาโดชื่อ จอห์น ดับลิว ฮิคเลย์ ได้แหวกฝูงชนหน้าโรงแรมวอชิงตันฮิลตัน ในวอชิงตัน ดี.ซี. ตรงเข้ากำนัลกระสุนให้ประธานาธิบดีเรแกนที่เพิ่งเดินออกมาจากโรงแรม ด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการเป็นข่าวดังแข่งกับดาราภาพยนตร์สาวที่ตัวเองหลงรัก
ประธานาธิบดีเรแกนถูกนำส่งโรงพยาบาลในทันที กระสุนมรณะตัดเข้าอกเฉียดอวัยวะสำคัญของท่านไปแบบเฉียดฉิว ด้วยความพยายามของแพทย์และวิทยาการสมัยใหม่ ประธานาธิบดีเฒ่ากระดูกเหล็กจึงรอดมาได้อย่างหวุดหวิด กล่าวได้ว่า การรอดชีวิตของเรแกนในครั้งนี้ เป็นลางอันอาจบอกได้ว่า ลูกโซ่อาถรรพณ์ที่เป็น Zero Factor นี้ได้ขาดลงแล้วอย่างสิ้นเชิง
แต่กระนั้นเราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า เมื่อไหร่กงล้อประวัติศาสตร์นี้ถึงจะย้อนกลับมาอีก