ศาลารำลึกวีรกรรม ดอยยาว- ดอยผาหม่น
ในพื้นที่ชายแดนไทย – ลาว ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และ อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ในอดีตเคยมีการสู้รบอย่างรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองจาก ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์
สถานการณ์การต่อสู้ได้ยุติลงเมื่อ ปี ๒๕๒๕ นับว่าไม่นานเลย บุคคลที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ยังคงอยู่ทั้ง สองฝ่าย ดังนั้นบุคคลทั่วไปจึงควรที่จะได้รับรู้เหตุการณ์ในอดีตเพื่อจะได้เป็นข้อเตือนใจ ของคนไทยต่อไป
หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานจู่โจมและกองพันทหารราบที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๑๗ จึงได้ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๑ เส้นทางสายบ้านปี้- บ้านลุง บ.รักแผ่นดิน ต.ตับเต่า อ.เทิง จว.เชียงราย สร้างศาลารำลึกวีรกรรมดอยยาว – ดอยผาหม่นขึ้น โดยนำเอาประวัติการสู้รบในพื้นที่ เหตุการณ์การเสียสละของเจ้าหน้าที่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ขององค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาประดิษฐานไว้ ณ ศาลาแห่งนี้
เพื่อรำลึกถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่ และเชิดชูเกียรติให้กับผู้เสียสละทั้งหลาย คนรุ่นหลังจะได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เป็นข้อเตือนใจให้รู้รักสามัคคี
โดยได้ทำ พิธีเปิดศาลารำลึกวีรกรรมดอยยาว – ดอยผาหม่น เมื่อ วันศุกร์ที่ ๑๗ มี.ค.๔๙ เวลา ๑๐๐๐ น.
และได้มอบสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลตับเต่า อ.เทิง จังหวัดเชียงรายต่อไป
ศาลาแห่งนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความปรารถนาดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีต่อราษฎรในพื้นที่
โดยเฉพาะเส้นทางสาย บ้านปี้ - บ้านลุง แห่งนี้ ในห้วงของการก่อสร้างได้รับการขัดขวางจากกลุ่มผุ้ก่อการร้ายอย่างรุนแรง ทำให้ฝ่ายเราได้รับความเสียหายอย่างหนัก กำลังพลบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยประมาณ ๑ ศพ ต่อ ๑ กิโลเมตร
แต่ผลที่ได้รับในปัจจุบัน เส้นทางสายนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงให้ราษฎร ในพื้นที่ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขเป็นสิ่งยืนยันในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติดีต่อราษฎรในพื้นที่
นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ของของความร่วมมือร่วมใจกันทุกหมู่เหล่า ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนในการช่วยกันแก้ไขวิกฤตของชาติ ให้ผ่านพ้นไป ภายใต้พระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชนิพนธ์ กลอน พระราชทานเป็นที่ระลึกใน วันพระราชทานเพลิงศพ สองนักรบผู้กล้าหาญ เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ ดังนี้