โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม พี่นี่รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม โอ้เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย
เนื้อหอม ทรามเชย เอ๋ยเราละหนอ....
นี่คือเนื้อร้องของเพลง ลาวดวงเดือน ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ เนื้อเพลงสั้นๆเพียงไม่กี่ประโยคนี้ แสดงออกถึงชาย ที่รักและอาวรณ์ถึงสาวคนรักแบบสุดหัวใจ จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าเพลงนี้ แต่งขึ้นจากโศกนาฏกรรมความรักของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม
พระ เจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม เป็นพระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ เจ้าจอมมารดามรกฎ พระองค์เพ็ญ ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จกลับมาแล้วทรงเข้ารับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม
ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยที่ดนตรีไทย โดยเฉพาะปี่พาทย์ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตามบ้านท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ และวัดวาอารามต่างก็มีวงปี่พาทย์เป็นประจำกันมากมาย เจ้านายหลายพระองค์ก็มีวงปี่พาท์ประจำวัง มีครูบาอาจารย์ไว้ฝึกสอนปรับปรุงคิดประกวดประขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็มีวงวังบูรพา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็มีวง วังบางขุนพรหม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร) ก็มีวงปี่พาทย์ชื่อว่า วงสมเด็จพระบรม
พระ เจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมก็มีวงปี่พาทย์วงหนึ่งของพระองค์เรียก ว่า วงพระองค์เพ็ญ ซึ่งแต่ละวงล้วนแต่มีนักดนตรีที่มีฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมทัดเทียมกัน
ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษมาใหม่ ได้ทรงเสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่ อันเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาสมัยนั้น สมัยนั้นพระยานริศราชกิจเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมลฑลพายัพ ได้จัดการรับเสด็จต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ได้จัดการรับเส ด้จอย่างประเพณีชาวเหนือโดยแท้ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย ในงานต้อนรับเสด็จครั้งนี้ เจ้าอินทวโรรสและเจ้าแม่ทิพยเนตรได้ชวนเชิญพระญาติวงศ์มาร่วมรับเสด็จโดย พร้อมเพียงกัน ในบรรดาพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ปรากฎว่ามีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น พร้อมด้วยธิดาองค์โต นามว่า เจ้า หญิงชมชื่น อายุเพิ่งย่างเข้า ๑๖ ปี มาร่วมในงานนี้ด้วย เล่ากันว่าเจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว อีกทั้งเจ้าหญิงชมชื่นเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวงประกอบกับความน่ารักนุ่มนวลละมุนละไมจึงเป็นที่ เลื่องลือไปทั่ว
แล้วพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี ก็บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อย อายุ ๑๖ ปีนี้มาก กล่าวกันว่า เมื่อ พระองค์ได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึง ในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัย เหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก!!
เจ้า หญิงชมชื่น
ในวันต่อมา พระยานิรศราชกิจ ข้าหลวงมลฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง หลังจากนั้นเจ้าหญิงชมชื่นจึงได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้ สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่น เป็ยนิ่งนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์
แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัด ทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน และตามขนบธรรมเนีมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อจะได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ (หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนั้นเจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือ นางบำเรอเท่านั้น) สาเหตูที่เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ปฏิเสธในครั้งนี้ เนื่องเพราะเคยเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มาแล้ว คือ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พระน้องยาเธอใน พระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ ) ได้เสด็จมาปราบปรามพวกยางแดงแถวแม่น้ำสาละวิน จนได้พบรักกับเจ้าหญิงข่ายแก้ว และทรงสู่ขอจากเจ้าทักษิณนิเกตน์(มหายศ)บิดาของเจ้าหญิง แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตในการเสกสมรส ครั้นพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเสด็จกลับกรุงเทพ ก็ไม่ได้พาเจ้าหญิง (ในฐานะภรรยาคนนึง) ลงมาด้วยเพราะมีหม่อมเอมอยู่แล้ว ทำให้เจ้าหญิงข่ายแก้ว กลายเป็น “แม่ร้าง” ที่จะไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้ เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์จึงไม่ปรารถนาให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงได้ทัดทานไว้
เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ ฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯเองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วโดยผู้ใหญ่จัดหาให้ การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน ไม่ มีการติดต่อใดๆกันอีกเลย เพราะเหตุนั้น พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน
จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ด้วยความร้าวรานพระทัย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์
ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แน่นอนว่าสาเหตุที่ผู้ใหญ่ทางพระองค์ชายนั้นไม่ยอมให้มีการเสกสมรสกับ เจ้าหญิงเมืองเหนือเป็นเพราะเรื่องทางการเมือง ในสมัยนั้นหัวเมืองทางเหนือมีสัมพันธ์กับทั้งสยามและพม่า เป็นความสัมพันธ์ ที่สยามมองว่ามีเหตุผลเคลือบแคลงและไม่วางใจ ดังนั้นจึงเกิดโศกนาฎกรรมความ รักลักษณะอีกหลายครั้งในสมัยนั้น เหตุก็เป็นเพราะการเมืองนั่นเอง จึงเป็นอันว่าความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ จากนั้นพระองค์จึงทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย(กฤดากร) พระธิดาในกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ มีพระธิดา ๑ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ ส่วนทางด้านเจ้าหญิง ชมชื่นเองก็สมรสกับเจ้าน้อยสิงห์คำ มีทายาทคือ เจ้าวุฒิ ณ ลำพูน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ของทั้งสอง หากแต่ในใจลึกๆแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังคงระลึกถึงกันไม่คลาย
พระองค์จึงทรงระบายความรักความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจของพระองค์ เพื่อใช้เป็นเครื่อง ผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ และเป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึง รำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง เมื่อใดที่พระองค์ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย และลาวดวงเดือนก็เป็นเพลงที่จะขาดไม่ได้ จนตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน
กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานเพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของ พระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกาน พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยพระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น
และเมื่อข่าวการสิ้นชีพของท่านชายไปถึงภาคเหนือ เจ้าหญิงชมชื่นก็เกิดอาการซึมเศร้าและตรอมใจ นั่นเป็นเพราะความรักของเจ้าหญิงที่มีต่อพระองค์ชายเอง ก็ไม่เคยจางไปจากหัวใจดวงน้อยๆของเจ้าหญิงเช่นกัน หนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพลงเช่นกัน ด้วยชันษา 23 ปีเท่านั้น
เพลงลาวดวงเดือนนี้ เป็นหลักฐานปรากฏผลงานการแต่งเพลงของพระองค์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น ลาวดวงเดือน จึงเป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ วิญญาณ ความรัก และความหลังของพระองค์ เพลงลาวดวงเดือน จึงเปรียบประดุจอนุสรณ์ ให้เราได้ระลึกถึงความรักที่บริสุทธิ์และเป็นอมตะ ระหว่างพระองค์เจ้าชาย เพ็ญพัฒนพงศ์ หนุ่มสูงศักดิ์จากสยาม กับเจ้าหญิงชมชื่น หณิงสาวผู้เลอโฉมจากเมืองเหนือ แม้ความรักของทั้งสองพระองค์จะไม่สมหวัง แต่เพลงนี้ จะเป็นเพลงรักหวานซาบซึ้งตรึงใจ อยู่ในห้วงหัวใจคนไทยต่อไปอีกนานเท่านาน...
ที่มา: www.lannaworld.com