เผยเรื่องราวชีวิตของ “จันดาลี” ผู้อพยพชาวซีเรีย พ่อแท้ๆ ของ “สตีฟ จอบส์”

http://www.meekhao.com/news/steve-jobs-father

หลายคนมักกล่าวกันว่ามีแอปเปิ้ล 3 ผลที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ แอปเปิ้ลของอดัม แอปเปิ้ลของเซอร์ไอแซค นิวตัน และแอปเปิ้ลของ “สตีฟ จอบส์” สตีฟ จอบส์ คือผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตประธานบริหารของบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเขานั้นทรงอิทธิพลระดับโลกมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2011 แล้วก็ตาม

เชื่อว่าคงมีไม่กี่คนที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วจะไม่รู้จักสตีฟ จอบส์ แต่ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะรู้จักใบหน้าของเขา ครอบครัวของเขา และประวัติการก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลของเขา กลับไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ “บิดา” ของสตีฟ จอบส์เท่าไหร่นัก

พ่อแท้ๆ ของสตีฟ จอบส์

คุณพ่อของสตีฟ จอบส์ มีชื่อว่า “อับดุล ฟัตตะห์ “จอห์น” จันดาลี” เป็นผู้อพยพชาวซีเรียวัย 80 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และทำงานเป็นรองประธานกิจการคาสิโนและโรงแรม Boomtown รัฐเนวาดา

จากเบรุตสู่อเมริกา

จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Fortune คุณพ่อจันดาลีเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองว่า เขาเกิดปี 1931 ที่เมืองฮอมส์ ประเทศซีเรีย ในครอบครัวเจ้าของที่ดินที่ค่อนข้างร่ำรวย ต่อมาก็ย้ายออกจากซีเรียตอนอายุ 18 ปี ไปยังเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน และเข้าศึกษาที่ American University of Beirut โดยกล่าวถึงเบรุตว่า “เป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต”

ปัจจุบันเมืองฮอมส์ บ้านเกิดของจันดาลี ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างรุนแรง

จนกระทั่งต่อมาก็เกิดปัญหาด้านการเมืองในเบรุต มีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี Bechara El Khoury. Khoury ซึ่งจันดาลีเองก็เข้าไปมีส่วนพัวพันในฐานะชาวอาหรับ จนทำให้ต้องอพยพลี้ภัยออกจากเบรุตไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1954 และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตามด้วยมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน จันดาลีคบหาดูใจกับ โจแอน แคโรลด์ ชีเบิล หญิงสาวเชื้อสายเยอรมนี-สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาโจแอนตั้งครรภ์แต่บิดาของเธอไม่อนุญาตให้แต่งงานกับจันดาลี เขาและเธอจึงแยกจากกันในปี 1956 โดยที่จันดาลีไม่มีโอกาสได้พบหน้าลูกชายเลยแม้แต่ครั้งเดียว

สตีฟ จอบส์

โจแอนพาลูกชายไปฝากไว้ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งต่อมาพอลและคลาร่า จอบส์ ก็รับไปเลี้ยงดู หลังจากนั้นโจแอนก็ไม่สามารถติดต่อกับลูกชายได้อีก เพราะครอบครัวใหม่ของเขานั้นย้ายบ้านหลายครั้งหลายครา ไม่กี่ปีต่อมาจันดาลีและโจแอนก็กลับมาคบหากันอีกครั้ง ทั้งคู่แต่งงานกันและมีลูกสาว 1 คนชื่อโมนา

จากอาจารย์มหาวิทยาลัยสู่เจ้าของร้านอาหาร

จันดาลีประสบปัญหาทางธุรกิจจึงตัดสินใจเดินทางกลับซีเรียและทำงานเป็นผู้จัดการโรงกลั่นน้ำมันอยู่หลายปี เขาเดินทางกลับมายังสหรัฐฯในปี 1962 แต่ก็ไม่ได้ติดต่อกับอดีตภรรยาอีก ส่วนโจแอนก็แต่งงานกับสามีใหม่ชาวอเมริกัน จันดาลีสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมิชิแกนและต่อมาก็ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยเนวาดา หลังจากนั้นก็เปลี่ยนอาชีพมาเรื่อยๆ เขาเคยเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และสุดท้ายก็มาทำงานให้กับคาสิโน Boomtown จนไต่เต้าขึ้นเป็นรองประธานในวัย 80 ปี

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ British Observer จันดาลีเผยว่าเขาไม่ได้เดินทางกลับซีเรียและเลบานอนเลยตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดถึงขนาดต้องเดินทางไปแสวงบุญที่มักกะฮ์ แต่ก็ยึดมั่นในพระเจ้าและเชื่อในคำสอนของศาสนาอิสลาม

จันดาลีเคยกล่าวถึงลูกชายของเขาครั้งหนึ่งในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร “The Las Vegas Sun” เดือนมีนาคมปี 2010 และเขายังเล่าว่าตนไม่ได้พบกับลูกสาวเลยตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 5 ขวบ เพราะแม่ของโมนาขอหย่าตอนที่เขาเดินทางไปยังซีเรีย

“ผมพยายามหาทางติดต่อเธอ(ลูกสาว)ในอีก 10 ปีต่อมา แต่เธอเปลี่ยนที่อยู่ไปแล้ว ในที่สุดผมก็สามารถติดต่อเธอได้และตอนนี้เราพบกันอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง”

โมนาแต่งงานกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ Richard Bill ตอนปี 1993 เธอมีลูก 2 คนและเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ เธอยังได้เขียนหนังสือเรื่อง  “The Lost Father” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการตามหาคุณพ่อจันดาลีอีกด้วย

ส่วนสตีฟ จอบส์แต่งงานกับลอเรนซ์ โพเวลล์ ในปี 1991 และมีลูกด้วยกัน 3 คน แต่จอบส์เองยังมีลูกสาวคนโตอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของเขากับแฟนเก่าตั้งแต่สมัยเรียนตอนปี 1978

ตอนแรกเขาเองไม่ได้พบเจอกับลูกสาวเลยและไม่คิดว่าเธอเป็นลูกของเขา กระทั่งต่อมาก็ยอมรับลิซา เบรนแนน-จอบส์ เป็นทายาท และเธอเองก็จะได้รับมรดกจากคุณพ่อเช่นเดียวกับพี่น้องคนอื่นๆ

ครั้งหนึ่งพ่อลูกเคยได้พบกัน

สตีฟ จอบส์ เล่าให้ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ผู้เขียนอัตชีวประวัติของเขาฟังว่า เขาเคยพบกับพ่อแท้ๆ ของเขาโดยบังเอิญที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองแซคราเมนโต แต่ในเวลานั้นทั้งคู่ไม่มีใครรู้ตัวว่าแท้จริงแล้วเป็นพ่อลูกกัน “ผมเข้าไปที่ร้านอาหารแค่ครั้งสองครั้ง และจำได้ว่าเคยได้พบกับเจ้าของร้านอาหารที่มาจากประเทศซีเรีย และเราก็ได้จับมือทักทายกัน …แค่นั้นเอง”

จนกระทั่งภายหลังสตีฟ จอบส์ ได้รู้ความจริงจาก โมนา ซิมป์สัน น้องสาวของเขาว่า เจ้าของร้านอาหารชาวซีเรียคนนั้น คือพ่อแท้ๆ ของเขานั่นเอง

“ผมได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับพ่อ และผมไม่ชอบใจสิ่งที่ผมได้รับรู้”

สตีฟ จอบส์ ตัดสินใจไม่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพ่อของเขา และเมื่อทราบข่าวถึงการป่วยของสตีฟ จอบส์ แต่จันดาลีก็ไม่ได้โทรหาลูกชายแต่อย่างใด

“ถ้ามีโอกาสได้คุยกัน ผมไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับเขา”

“สตีฟ จอบส์ ต้องเป็นคนโทรหาผม ด้วยเกียรติของชาวซีเรีย ผมไม่อยากให้เขาคิดว่าที่ผมติดต่อไปเพราะต้องการสมบัติของเขา” จันดาลีเผย

จันดาลีเคยส่งอีเมลหาสตีฟ จอบส์ เพียงแค่สั้นๆ หลังจากได้ยินข่าวเรื่องสุขภาพที่ย่ำแย่ของสตีฟ จอบส์ เพื่ออวยพรวันเกิด และอวยพรขอให้สุขภาพแข็งแรง และสตีฟ จอบส์ ตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ขอบคุณ”

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน มีคนโทรหาจันดาลีเพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปของสตีฟ จอบส์ จันดาลีเผยว่า เขาไม่ได้รู้สึกตกใจแต่อย่างใด แต่มีความรู้สึกเศร้าหมองในใจเท่านั้น

หากหนุ่มซีเรียไม่ได้ลี้ภัยในวันนั้น คงไม่มีแอปเปิ้ลในวันนี้

ศิลปินกราฟิตี้ชื่อดัง Banksy ได้วาดภาพของสตีฟ จอบส์ ไว้ที่ค่ายลี้ภัยผู้อพยพในเมืองกาแล ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ลี้ภัยจากสงครามกว่า 6,000 คนอพยพมาจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และเอริเทรีย

เรามักคิดไปว่าผู้อพยพเหล่านี้มีแต่จะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ แต่สตีฟ จอบส์ ผู้สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นอย่างทุกวันนี้ เกิดจากชายหนุ่มผู้อพยพชาวซีเรียที่สหรัฐอเมริกาอนุญาติให้เข้าประเทศได้

ที่มา https://english.alarabiya.net/articles/2011/10/09/170940.html

Credit: https://english.alarabiya.net/articles/2011/10/09/170940.html
1 ธ.ค. 59 เวลา 04:42 1,683
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...