เหตุที่ ร. 5ทรงเลี่ยงไม่เสด็จฯ ร่วมพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาของ ม.เคมบริดจ์

read:http://variety.teenee.com/world/76452.html

"...เมื่อถึงวันที่ ๑๒ มิถุนายน มีการจัดพิธีมอบปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตามกำหนด แต่รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เสด็จฯ ไปในพิธี รัชกาลที่ ๕ ทรงระบุถึงสาเหตุไว้ ๒ ประการ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขามีไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก่อนจะถึงวันพิธีว่า

‘วันที่ ๒๕ เปนวันจะได้รับดีกรีเคมบริช เรื่องรับดีกรีนี้ประดักประเดิดมาก เหตุด้วยเวลาไม่เหมาะตามโปรแกรม ทั้งรพีแลจรูญตักเตือนว่าการที่จะไปรับนั้นบางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก ไม่ไปเหนจะดีกว่า ฉันจึ่งได้กะเวลาคลาศเสีย'

‘รพี' คือ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม) เสด็จยุโรปล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับเสด็จ ส่วน ‘จรูญ' คือหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตประจำฝรั่งเศส (และประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี) กล่าวสั้นๆ สาเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ ๕ ไม่เสด็จฯ ไปในพิธี ได้แก่ ประการแรก วันจัดพิธีของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่สอดคล้องกับหมายกำหนดการเสด็จฯ และประการที่ ๒ มีพระราชประสงค์ที่จะเลี่ยงเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สาเหตุประการที่ ๒ คือที่มาของสาเหตุประการแรก นั่นคือคำคัดค้านของกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรที่ทรงเห็นคล้ายกันว่า ‘บางทีสตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมากไป ไม่ไปเหนจะดีกว่า'

‘สตูเดนต์อยู่ข้างจะคะนองมาก' ซึ่งทรงยกขึ้นมาเป็นเหตุผลนั้น น่าจะหมายถึง การมีนักศึกษาโห่ร้องหรือหยอกล้อผู้ได้รับปริญญาหลังเสร็จพิธี ซึ่งมีขึ้นเป็นประเพณีของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว

สาเหตุที่รัชกาลที่ ๕ ทรงรับฟังและทรงเลี่ยงที่จะเสด็จอาจเป็นเพราะผู้ภราบบังคมทูลทัดทานทั้ง ๒ พระองค์เป็นผู้ใกล้ชิดและเคยศึกษาในมหาวิทยาลัยในอังกฤษมาก่อน กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงสำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน พ.ศ. ๒๔๓๗ และหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใน พ.ศ. ๒๔๓๙

จากคำคัดค้านด้วยเกรงว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะแสดงกิริยาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงต้อง ‘กะเวลาคลาศเสีย' หรือวางหมายกำหนดการใหม่ ให้ตรงกับพิธีมอบปริญญาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อที่พระองค์จะได้ไม่ต้องเสด็จฯ ไปในพิธีดังกล่าว..."

     ****คัดจากบทความ: "ที่มาของปริญญา ‘หมอกฎหมาย' และพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์ครุย ของรัชกาลที่ ๕" โดย พ.อ.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2553 (จัดย่อหน้าใหม่)****

ทั้งนี้ จากข้อมูลของบทความเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (27 มีนาคม พ.ศ. 2449 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) โดยทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ก่อนการเสด็จฯ ไม่นาน

ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งแรกก่อนหน้านั้น 10 ปี มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายแพ่งแด่พระองค์มาก่อน แต่พระองค์ก็มิได้ทรงร่วมพิธีเช่นเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยจึงส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ส่วนเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ ไปในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในครั้งเสด็จฯ เยือนยุโรปครั้งที่ 2 นี้ เบื้องแรกพระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้ทางมหาวิทยาลัยส่งปริญญาไปยังสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

แต่ทางเคมบริดจ์ยังไม่ละความพยายาม ขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเป็นการพิเศษที่คฤหาสถ์ของดุ๊คแห่งเดวอนเชียร์ (Duke of Devonshire) นายกสภามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาต

ที่มา siipa-mag . com

Credit: siipa-mag.com
#ร. #5
THEPOco
Production Manager
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
22 พ.ย. 59 เวลา 03:29 2,154
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...