ตำนานการสร้าง "หอคอยบาเบล" ต้นเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องพูดกันคนละภาษา!!

http://www.meekhao.com/history/babel-world-languages

 

ต้นกำเนิดของ ‘ภาษา’ เป็นสิ่งที่ซับซ้อนและยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ในปัจจุบัน หรือเรื่องราวเกี่ยวกับ “หอคอยบาเบล” ในพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นจะเป็นเรื่องจริง?

ในหนังสือปฐมกาล (Genesis) หลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ในสมัยของโนอาห์ มนุษย์ยังคงพูดภาษาเดียวกันทั้งโลก และมีสำเนียงเดียวกัน ทำให้พวกเขาคิดการใหญ่ด้วยการสร้างหอคอยให้สูงเทียมฟ้าเพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ แต่พระเจ้าไม่ต้องการให้พวกเขาคิดทำแผนการใหญ่เพื่อตนเอง มนุษย์สร้างหอคอยนี้เพราะคิดยกตัวขึ้นเท่าเทียมพระเจ้า นั่นคือความหยิ่งผยองของมนุษย์ พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้เกิดภาษาที่แตกต่างกัน จนเกิดความขัดแย้งเพราะพูดคุยไม่เข้าใจและมีระบบความคิดแตกต่างกัน จนล้มเลิกการสร้างไปในที่สุด

“ครั้งนั้นทั้งโลกใช้ภาษาเดียวกัน ใช้ถ้อยคำเหมือนกัน เมื่อมนุษย์ย้ายถิ่นฐานไปทางทิศตะวันออก พวกเขาพบที่ราบในดินแดนชินาร์จึงตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น พวกเขาพูดกันว่า “มาเถิด ให้เราทำอิฐและเผาจนสุก” พวกเขาใช้อิฐแทนหินและใช้ยางมะตอยแทนปูน แล้วพวกเขาพูดว่า “มาเถิด ให้เราสร้างเมืองที่มีหอสูงขึ้นถึงฟ้าสำหรับพวกเรา เพื่อเราจะได้สร้างชื่อให้กับตนเองและไม่ต้องกระจายไปทั่วทั้งโลก”

แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาเพื่อทอดพระเนตรเมืองและหอคอยซึ่งพวกเขากำลังสร้าง องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “คนเหล่านี้เป็นชนชาติเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ยังริเริ่มทำงานได้ถึงเพียงนี้ ต่อไปถ้าเขาวางแผนจะทำอะไรก็จะทำได้ทุกอย่าง มาเถิดให้เราลงไปทำให้เขามีภาษาสับสนแตกต่างกันออกไป เพื่อเขาจะได้ไม่เข้าใจกัน”

ดังนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงทำให้พวกเขากระจัดกระจายจากที่นั่นออกไปทั่วทั้งโลก และพวกเขาก็หยุดสร้างเมืองนั้น

ด้วยเหตุนี้เมืองนั้นจึงได้ชื่อว่าบาเบล เพราะที่นั่นเป็นที่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำให้ภาษาของโลกสับสนแตกต่างกันออกไป องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขากระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ทั่วทั้งโลก”

คำอธิบายในพระคัมภีร์นั้นไม่ละเอียดจนหลายคนมองว่านี่เป็นเพียงความพยายามในการอธิบายความหลากหลายทางภาษาแบบไม่ลึกซึ้ง เพราะนักวิจัยบางคนเชื่อว่าภาษาของมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาทันที แต่พัฒนามาจาก “ภาษาแม่” ที่มีเพียงหนึ่งเดียว จากนั้นภูมิประเทศและการอพยพถิ่นฐานจึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานใดที่จะสามารถสรุปได้ว่าภาษานั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไรกันแน่

เกิดอะไรขึ้นในพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่าความสับสนอลหม่านและความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้นที่เมืองชินาร์ หรือต่อมาเรียกว่า บาบิโลเนีย ประชากรโลกถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ในสมัยของเพเลกบุตรของเอเบอร์และโหลนของเชมบุตรโนอาห์ ผู้ถือกำเนิดก่อนอับราฮัม 250 ปี ส่วนการสร้างหอคอยบาเบลเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,200 ปีก่อน

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าภาษาแม่ของมนุษย์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของภาษาที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นนานกว่า 100,000 ปี นักวิชาการบางคนก็เชื่อว่าภาษาพูดของเราเกิดขึ้นมาอย่างน้อย 6,000 ปีแล้ว แต่นักวิชาการหลายคนก็แย้งว่าไม่มีผู้ใดสามารถพิสูจน์ได้เพราะภาษาพูดนั้นไม่มีซากฟอสซิลให้เรานำมาศึกษาเหมือนกับหลักฐานทางชีววิทยา

อย่างไรก็ตามหลักฐานทางภาษาศาสตร์นั้นมีอยู่จริง แต่เป็นซากฟอสซิลของภาษาเขียน จากหลักฐานพบว่าภาษาเขียนของมนุษย์เรามีต้นกำเนิดที่เก่าแก่อย่างน้อย 4,000 ถึง 5,000 ปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาในการจารึกอักษรลงบนหอคอยบาเบล

นักโบราณคดีบางส่วนเชื่อกันว่า “ซิกกูรัตแห่งเมืองเออร์” ประเทศอิรักคือหอบาเบลที่ถูกพูดถึงในพระคัมภีร์ไบเบิล

ภาษาต่าง ความคิดต่าง

ในพระคัมภีร์ไบเบิล มนุษย์เกิดความขัดแย้งกันเพราะระบบความคิดที่แตกต่างกัน คนต่างภาษาไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนที่พูดภาษาอื่น พวกเขาจึงเลิกล้มการก่อสร้างหอคอยบาเบล และแยกย้ายกันไปอยู่กับคนที่พูดภาษาเดียวกัน จนทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ระบุว่าภาษาของมนุษย์เกิดจากภาษาแม่ภาษาเดียว เพียงแต่ระบุว่ามนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์พัฒนาภาษาของแต่ละวัฒนธรรมขึ้นมา

แล้วภาษาที่ใช้ในปัจจุบันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? แม้ว่าบนโลกนี้จะมีภาษามากกว่า 5,000 ภาษา แต่ก็มีบางภาษาที่คล้ายคลึงกัน พัฒนามาจากภาษาเดียวกัน หรือบางภาษาก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรวมไปถึงระบบความคิดที่สะท้อนให้เห็นผ่านทางวิธีการเลือกใช้ภาษา ยกตัวอย่างเช่นบางวัฒนธรรมพูดว่ามีอะไรอยู่ที่ด้าน “ขวามือ” แต่บางวัฒนธรรมเลือกอธิบายว่ามีอะไรอยู่ที่ “ทางตะวันตกเฉียงใต้”

ความซับซ้อนของภาษา

ถ้าพิจารณาจากพระคัมภีร์ไบเบิล อดัม มนุษย์คนแรกที่ถือกำเนิดขึ้นสามารถตั้งชื่อให้สรรพสัตว์ต่างๆ บนโลกและสื่อสารกับภรรยาเพื่อแสดงความรู้สึกได้อย่างสร้างสรรค์และชัดเจนแต่แรก

นอกจากนี้หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการรบและการติดต่อระหว่างชาติพันธุ์ล้วนบ่งบอกถึงการมีภาษาที่ซับซ้อนมาตั้งแต่ยุคโบราณ Cambridge Encyclopedia of Language ได้กล่าวอ้างอิงว่า “ทุกวัฒนธรรมที่เคยถูกสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานดั้งเดิมหรือไม่ ล้วนแต่ใช้ภาษาที่พัฒนาอย่างเต็มที่ ยิ่งวัฒนธรรมนั้นมีความเจริญมานานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีภาษาที่ซับซ้อนขึ้นเท่านั้น”

จากหลักฐานและการวิเคราะห์ข้อมูลหลายแหล่ง การอธิบายที่พบในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับความจริง มนุษย์เราใช้ภาษาที่แตกต่างหลากหลายมาเป็นเวลานานหลายพันปี

และไม่ว่ามนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมาในสถานที่เดียวกันแล้วอพยพถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่น หรือค่อยๆ พัฒนาขึ้นเองในแต่ละภูมิภาค หรือเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระเจ้า อำนาจลึกลับ หรือสิ่งใดก็ตามแต่ สังคมมนุษย์แต่ละแห่งในอดีตล้วนอยู่ห่างไกลกันจนไม่อาจจะมีภาษาแม่ภาษาเดียวกันได้

และไม่ว่ามนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมาในสถานที่เดียวกันแล้วอพยพถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่น หรือค่อยๆ พัฒนาขึ้นเองในแต่ละภูมิภาค หรือเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระเจ้า อำนาจลึกลับ หรือสิ่งใดก็ตามแต่ สังคมมนุษย์แต่ละแห่งในอดีตล้วนอยู่ห่างไกลกันจนไม่อาจจะมีภาษาแม่ภาษาเดียวกันได้

แต่ถ้าหากมนุษย์มีภาษาที่ใช้สื่อสารก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐาน ก็เป็นไปได้ว่ามนุษย์เราอาจเคยพูดภาษาเดียวกัน อย่างเช่นในตำราโบราณของประเทศเมียนมาร์ที่บันทึกไว้ว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มนุษย์ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันและพูดภาษาเดียวกัน จากนั้นจึงถูกแบ่งแยกออกไปจนมีวัฒนธรรม ความคิด และภาษาที่แตกต่างกัน”

อนาคตของภาษา

ปัจจุบันมนุษย์พยายามทำลายกำแพงของภาษาและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยหวังให้คนทั้งโลกหันกลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง มีความพยายามมากมายที่จะให้มนุษย์พูดภาษาเดียวกันอีกครั้ง เช่น การพัฒนาภาษาเอสเปรันโต ภาษาประดิษฐ์ที่คิดค้นเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ใช้กันมากที่สุดในโลก

มนุษย์ในยุคนี้มีความพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง เช่นการรวมตัวของสหภาพยุโรป

ภาพของรัฐสภายุโรป เมืองสทราซบูร์ ประเทศฝรั่งเศส ที่ดูเหมือนจงใจสร้างให้คล้ายกับหอบาเบล

ในทุกวันนี้เรามีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของโลก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจภาษาอังกฤษได้ และการใช้ภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวก็ใช่ว่าจะเป็นผลดี เช่นความลับทางการทหารที่ไม่มีใครอยากให้ฝ่ายอื่นเข้าใจ บริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ภาษาอังกฤษใช้ I และ you เป็นสรรพนามแทนผู้พูดและผู้ฟังทุกระดับ แต่ภาษาไทยใช้สรรพนามหลากหลาย บ่งบอกถึงสถานะความสัมพันธ์ลำดับชั้นของบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย

ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีภาษาใดในโลกที่เก็บความหมายของคำศัพท์เฉพาะในภาษาอื่นได้อย่างครบถ้วน ซึ่งนั่นทำให้ความงดงามของภาษาหายไป เช่น บทกลอน บทกวีต่างๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะแตกต่างกัน เมื่อแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งแล้วทำให้ความลึกซึ้งหายไป เป็นเหมือนกำแพงที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์ได้พูดภาษาเดียวกันอีกครั้ง

เรียบเรียงโดยทีมงานหมีขาว มีข่าว

Credit: http://www.meekhao.com/history/babel-world-languages
19 พ.ย. 59 เวลา 02:27 6,836
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...