คอนเสิร์ตครั้งแรกของไทยมีใน สมัย ร.5 ...

คอนเสิร์ตครั้งแรกของไทยมีในสมัย ร.5
 

 

 

เมื่อ แรก เริ่มมีคอนเสิร์ตไทยสมัยรัชกาลที่ 5 และการอัดเสียงที่วังบ้านหม้อ



คำว่า คอนเสิร์ต หรือที่ภาษาอังกฤษเขียนว่า Concert นั้น แปลว่าการเข้ามารวมกัน หรือทางภาษา ดนตรี แปลว่าการรวมกลุ่มร้องเพลงหรือบรรเลงขับร้องร่วมกัน โดยที่ คำว่า "คอนเสิร์ต" นี้ มาจากรากศัพท์ภาษาละติน ที่ว่า Concentus



ฝรั่ง เล่นคอนเสิร์ตกันมานานเท่าใดไม่ทราบแต่รู้กันอยู่ว่าเป็นของที่นิยมเล่นกัน ทั่วไปนับตั้งแต่สามัญชนไปจนถึงพระราชาใครมีทุนทรัพย์มาก มีบารมีมาก มีคนเคารพนับถือมากถ้ามีโอกาสได้ชม ได้ฟัง รวมทั้งอาจจะมีวงคอนเสิร์ตของตนเองได้ ต่อมารัฐก็ได้เห็นคุณค่าของดนตรี จึงได้จัดให้มีคอนเสิร์ตแสดงฟรีสำหรับประชาชนขึ้น โดยบรรเลงตามที่สาธารณะ เช่นในสวนที่พักผ่อนหย่อนใจ ครั้นเมื่อเศรษฐกิจรัดตัวมากขึ้น การแสดงก็ลดลงหรือไม่ก็ต้องมีผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย ทุกวันนี้คอนเสิร์ตที่ชมฟรีๆ สำหรับประชาชนก็ประสบปัญหากันไปทั่ว แม้แต่ประเทศที่รวยแล้วอย่างเช่น อเมริกา ก็มิได้มีให้คนได้ดูกันบ่อยๆ ถ้าท่านผู้อ่านไปเที่ยวต่างประเทศ จะได้เห็นคอนเสิร์ตอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่า "คอนเสิร์ตวณิพก" กลุ่มนักดนตรีที่ว่านี้ มักจะบรรเลงอยุ่ตามข้างถนน ที่เบื้องล่างบนพื้นดินเขาจะปูผ้า วางหมวกหงายขึ้นไว้หรือวางภาชนะไว้ ใครเดินผ่านไปมายืนฟังถ้าถูกใจ ก็หยอดเหรียญให้เป็นทาน บางครั้งเล่นกันหรูหราชนิดเป็นวงสามคน สี่คน ห้าคนก็มี แถมเล่นเพลงคลาสสิคด้วย

ถ้า จะนับว่า วงดนตรีไทยเช่นวงดนตรีเครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่วงเครื่องสาย หรือวงมโหรี เป็นการรวมกลุ่มเล่นดนตรี และขับร้องแล้ว วงดนตรีไทยข้างต้นก็เป็นวงคอนเสิรต์ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่คนไทยเราไม่ใช้ภาษาฝรั่งเรียกกันเท่านั้น ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มตื่นตัวเรียนหนังสือฝรั่งกันมาก ใครพูดคำฝรั่งก็เห็นเป็นโก้เก๋ การไปฟังดนตรีไทย ก็เลยมีผู้เรียกเป็นฝรั่งจ๋าว่า "ไปฟังคอนเสิร์ต" จึงดูเหมือนกับว่าคนไทยเพิ่งมีการบรรเลงคอนเสิร์ตกันในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง



ใน วงการดนตรีไทย เมื่อพูดกันถึงคอนเสิร์ตไทย ก็จะต้องนึกไปถึงงานของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เพราะสมเด็จฯ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงนิพนธ์บทคอนเสิร์ตไว้สำหรับการแสดงในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้เป็นจำนวนไม่น้อย และการแสดงสมัยนั้นก็เรียกกันอย่างโก้หรูเป็นฝรั่งว่า "คอนเสิร์ต" เพราะเป็นการแสดงอวดแขกเมืองเสียส่วนใหญ่


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์

จากหนังสือประวัติการ ดนตรีเก่าๆ คิดว่า การแสดงสำหรับประชาชน ที่เรียกว่าคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกของไทยนั้น เป็นการร่วมบรรเลงดนตรีของเหล่าทหารสังกัดกรมยุทธนาธิการ (ทหารบกกับทหารเรือรวมกัน)กรมยุทธนาธิการนั้นก็คือกระทรวงกลาโหมนั่นเอง ซึ่งการแสดงครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นแม่กองจัดขึ้น เท่าที่ทราบมานั้นเป็นการแสดงกลางแจ้ง ที่หน้ากระทรวงกลาโหม ตรงที่เป็นสนามวางปืนใหญ่ ตรงข้ามประตูวัดพระแก้วทุกวันนี้ เพลงเอกที่บรรเลงและขับร้องหมู่ในครั้งนั้น คือเพลงเขมรไทรโยค เพลงสรรเสริญพระบารมี (ทั้งสองเพลงบรรเลงครั้งแรกในวันเดียวกัน) จะตรงกับเฉลิมพระชนม์พรรษารัชกาลที่ 5 ทางจันทรคติ จะเป็นวันใดทางสุริยคติไม่ทราบสมัยนั้นยังไม่มีการแต่งไฟในวันเฉลิมฯอย่าง ทุกวันนี้ ทราบแต่ว่าเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2431 คือเกินหนึ่งร้อยปีมาแล้ว
เพลง สรรเสริญพระบารมีไทยเดิม

หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ในหนังสือชุมนุมบทละคอนและบทขับร้อง พระนิพนธ์ของสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2514 ว่า ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวต่างประเทศเป็นพระราชวงศ์ผู้สูงศักดิ์ เข้ามาเฝ้าเยี่ยมพระนครอยู่เรื่อยๆ พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้มีการบรรเลงดนตรีไทยอย่างไพเราะ รับแขกเมือง จึงมีพระราชดำรัสสั่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ อธิบดีกรมมหรสพคิดจัดการเล่นดนตรีไทยเป็นแบบอย่างคอนเสริต์ขึ้นเจ้าพระยา เทเวศร์ฯ ร่วมกับข้าราชการของกรมมหรสพขึ้น มีการเขียนฉาก มีการแต่งหน้าเป็นครั้งแรก งดงามจนสำเร็จตามพระราชประสงค์




คอนเสิร์ตที่เล่นกันใน ครั้งแรกนั้น เป็นแต่จัดนักร้องหญิงชายและนักดนตรีมาร้องบรรเลงเพลงที่ไพเราะด้วยบทร้อง เรื่องต่างๆ ต่อมาได้ทรงดำริแก้ไขปรับปรุงใหม่โดยใช้เรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์มาปรุง แต่งตัดเติม มีร้องลำนำประกอบเพลงหน้าพาทย์ ให้ฟังเป็นเรื่องราวติดต่อกันตลอด และใช้เล่นเป็นตับมโหรีปี่พาทย์ ได้ในเวลาประมาณชั่วโมงเศษ
เท่าที่มีการบันทึกไว้ปรากฎการบรรเลงคอนเสิร์ตดังนี้
เรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอยหรือตอนนางเบญกายแปลงตัวเป็นนางสีดาลอยตายมาตามน้ำ จนหนุมานจับร่างแปลงขึ้นเผาไฟ นางแปลงก็เหาะลอยขึ้นท้องฟ้าไป แล้วหนุมานก็เหาะลอยตามขึ้นไปจับตัวมาได้ ตอนนี้เราเรียกกันว่า นางลอยบั้นปลาย แสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2441 ต้อนรับท่านเคานท์แห่งเมืองตุริน จากประเทศอิตาลี ทอดพระเนตรที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ครั้งที่สอง เรื่องรามเกียรติ์ ตอนอินทรชิตแผลงศร หรือตับพรหมาสตร์ แสดงที่พระที่นั่งจักรีเช่นเดียวกัน แต่เป็นการต้อนรับมิสเตอร์ดูแมร์ผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศส จากอินโดจีน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2442

ครั้งที่สาม เรื่องรามเกียรติ์ ตอนอินทรชิตแผลงศรนาคบาศ หรือตับนาคบาศ เตรียมไว้รับ เจ้าเฮนรีแห่งปรัสเซีย (เยอรมัน) ในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2442 แต่ไม่ได้เล่นเรื่องเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอิเหนา ตอนบวงสรวงแทน แล้วต่อจากนั้นก็มีผู้นำไปเล่นตามจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย




ผู้เขียนไป ค้น แผ่นเสียงเก่าๆมาดูเล่นวันหนึ่ง พบแผ่นเสียงโบราณที่บันทึกเสียงคอนเสิร์ตสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้หลายแผ่นด้วยกัน จึงขอนำมาเล่าเป็นบันทึกประวัติการดนตรีของไทยดังนี้


วังบ้านหม้อ

แผ่น เสียงบันทึกคอนเสิร์ตสมัยรัชกาลที่ 5 เก่าที่สุดเป็นแผ่นเสียงแบบร่องกลับทางแบบเบอร์-ไลเนอร์ ซึ่งอีมิล เบอร์-ไลเนอร์ (E.Berliner) ผู้เป็นบิดาของแผ่นเสียงชนิดแผ่นแบน ได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2437 แล้วเริ่มทำออกจำหน่าย คาดว่าคงมาถึงเมืองไทยในราว พ.ศ. 2442 ถึง 2444 การบันทึกเสียงแน่ใจว่าบันทึกเสียงที่วังบ้านหม้อ ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว.หลาน กุญชร )ในระหว่างปี พ.ศ.2442 หรือหลังจากนั้นก็ไม่กี่ปี ที่พบเป็นคอนเสิร์ตเรื่องรามเกียรติ์ตับพรหมาสตร์ ตอนอินทรชิตแผลงศรถูกพระลักษมณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบตอนมีด้วยกัน 10 แผ่น รวม 20 หน้า หมายเลขแผ่น 47054-20 แผ่นสุดท้ายได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานแล้วคือจบด้วยเพลงพม่ากราวรำ แล้วออกเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้ขับร้องคือ หม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา และคุณหญิงเทศ ณัฐกานุรักษ์ บรรเลงด้วยวงพิณพาทย์ดึกดำบรรพ์วังบ้านหม้อ เป็นแผ่นที่อัดในเมืองไทยแล้วไปทำเป็นแผ่นจริงที่เมืองบรัซเซล ประเทศเบลเยี่ยม ผู้เขียนได้นำรูปทั้งสองท่านมาลงไว้ด้วยแล้ว

 


Emile Berliner

ชุดต่อมา เป็นแผ่นของบริษัทแกรมโมโฟน คอนเสิร์ต เรคอร์ดหรือบริษัท โอเดียน หน้าสีแดง มีทั้งชุดรวมแปดแผ่น หมายเลข 150000 ถึง 150015 รวม 16 หน้า ผู้ร้องคือ หม่อมส้มจีน ภรรยาพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) พิณพาทย์ไม้แข็ง นายแปลก นายสอน เป็นแผ่นรุ่นใหม่กว่า ร่องไม่กลับทาง มีลายเซ็นชื่อของหม่อมส้มจีนปรากฎอยู่ในเนื้อแผ่นเสียงทุกหน้า กันปลอม (นับว่าโก้มาก) นายแปลกนั้น คือนายแปลก ประสานศัพท์ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงส่วนนายสอนนั้นต่อมาคือหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ชุดนี้อัดตับนางลอย


ภาพนำ มาจาก; http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/grandopening.html

ชุดต่อมาเป็นชุดที่อัดในสมัยรัชกาลที่ 7 ใช้ไฟฟ้าอัดที่ห้างสุธาดิลก (คือตึกกรมโยธาธิการ ที่ผ่านฟ้าปัจจุบัน) คราวนี้อัดทั้งตับนางลอย ตับพรหมาสตร์และตับนาคบาศ ผู้ขับร้องและนักดนตรีทั้งหมดเป็นคณะพาทยโกศล หรือคณะวังบางขุนพรหม มีหม่อมเจริญซึ่งเคยอัดไว้ในครั้งแรกดังที่กล่าวมาแล้วเป็นหัวหน้า ร่วมด้วยนางสาวทูน พาทยโกศล (ปัจจุบันคือ คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ) มีนายอาจสุนทร และจ่าอินทร์ อ๊อกกังวาล ร้องตับนาคบาศ วงดนตรีควบคุมโดยท่านครูจางวางทั่วพาทยโกศล บริษัทที่อัดคือพาร์โลโฟน แห่งประเทศเยอรมนี นักร้องอื่นในชุดนี้ ยังมีนางสาวเฉิด อักษรทับ นางสาวเทียม กรานเลิศ เป็นต้น หมายเลขระหว่าง 18550 เรื่อยไปจนถึง 27508


ภาพนำมาจาก; http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/talkingmachine/grandopening.html

นอกเหนือจากที่เล่ามานี้แล้ว ยังไม่พบแผ่นเสียงโบราณอัดคอนเสิร์ตเรื่องรามเกียรติ์เลย อาจจะมีบ้างแต่ยังค้นไม่พบก็ได้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือคำว่าคอนเสิร์ตนั้น แผ่นเสียงรุ่นแรกสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนว่า " คอนเสริฐ "

การที่มีแผ่นเสียงโบราณเหลือให้เราได้เห็นนั้น เป็นของดีเพราะเป็นหลักฐานเด่นชัดมาก ทำให้ช่วยการตรวจสอบประวัติเรื่องของเพลงไทยเก่าๆได้เป็นอย่างดีเราจึงไม่ ควรทิ้งแผ่นเสียงเก่า ด้วยเห็นว่าเป็นของล้าสมัยใช้ประโยชน์อันใดมิได้ อย่างน้อยที่สุด นำไปมอบให้ห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมบริพัตร ที่หอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขาก็จะเก็บไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่อไป





นาย แพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

ข้อมูลอ้างอิง ;

นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

http://board.bodinzone.com/view.php?id=7673

Credit: http://atcloud.com/stories/84988
27 มิ.ย. 53 เวลา 00:57 5,024 3 66
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...